โละทิ้ง! สัมปทานน้ำมัน ‘รสนา’ ชงรัฐใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตเหมือนมาเลย์
เวทีธรรมาภิบาลพลังงาน ภาค 4-5 ‘รสนา’ ชงรัฐใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตแทนสัมปทานน้ำมัน ระบุปี 54 ไทยมีรายได้จากปิโตรเลียมเพียง 9% เทียบไม่ได้กับมาเลย์ ‘อิฐบูรณ์’ ชี้ LPG ขึ้นราคาไม่เป็นธรรม เร่งจัดตั้งบ.น้ำมันแห่งชาติใหม่
วันที่ 25 เมษายน 2557 คณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน ร่วมกับคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา จัดสัมมนา ‘ธรรมาภิบาลปิโตรเลียมไทย:ทำไมต้องยกเลิกสัมปทาน?' ณ อาคารรัฐสภา 2
ทั้งนี้ ในเวทีสัมมนามีการนำเสนอรายงานพิจารณาศึกษา เรื่อง ธรรมาภิบาลในระบบพลังงาน ภาค 4 เรื่อง การศึกษาเปรียบเทียบการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมระหว่างไทยกับมาเลเซีย และภาค 5 เรื่อง การปรับขึ้นราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม (LPG ) ภาคครัวเรือน
น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรุงเทพฯ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน กล่าวถึงระบบสัมปทานเป็นสิ่งล้าสมัยและเป็นผลพวงจากยุคล่าอาณานิคม ซึ่งปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียนได้เปลี่ยนไปใช้ระบบการแบ่งปันผลผลิตกันหมดแล้ว เหลือประเทศไทยเพียงประเทศเดียวที่ยังใช้ระบบสัมปทานอยู่
ซึ่งฝ่ายผู้สนับสนุนระบบสัมปทานมักจะแย้งว่า ไทยไม่เหมาะสมกับระบบการแบ่งปันผลผลิต เพราะหลุมน้ำมันในไทยเป็นกระเปาะเล็กขุดเจาะยากและลงทุนสูง ทั้งนี้ ตั้งคำถามว่าไทยอยู่ในภูมิภาคและมีลักษณะทางธรณีวิทยาเดียวกันกับมาเลเซีย ดังนั้นก็ควรจะเปลี่ยนแปลงระบบได้
ส.ว.กรุงเทพฯ ยังเปรียบเทียบการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมระหว่างไทยกับมาเลเซีย พบที่ผ่านมามีการลงทุนที่ใกล้เคียงกัน แต่ปริมาณการผลิตปิโตรเลียม (คิดเป็นจำนวนบาร์เรลเท่าน้ำมันดิบ) ไทยได้ประมาณร้อยละ 52 ของปริมาณการผลิตในมาเลเซียเท่านั้น
สำหรับรายได้ของรัฐจากการผลิตปิโตรเลียม ปี 2554 รัฐบาลไทยมีรายได้จากส่วนนี้เพียง 153,596 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 9.3 ของรายได้สุทธิของรัฐบาล ทำให้ต้องเก็บภาษีอื่น ๆ จากประชาชนเพิ่มอีกร้อยละ 91 ของรายได้รัฐ ซึ่งแตกต่างจากระบบแบ่งปันผลผลิตของมาเลเซียที่มีรายได้ 657,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของรายได้รัฐบาลมาเลเซีย
น.ส.รสนา กล่าวอีกว่า รัฐบาลมาเลเซียจะนำเงินรายได้จากทรัพยากรปิโตเลียมมาชดเชยค่าน้ำมันให้แก่ประชาชนและสร้างสาธารณูปโภคอื่นได้สบาย เพราะมีการเก็บภาษีประชาชนเพิ่มอีกเพียง 60% ของรายได้รัฐเท่านั้น ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบราคาน้ำมันหน้าปั๊มของมาเลเซียมีราคาถูกกว่าไทยถึง 2 เท่า โดยราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลของมาเลเซียนั้นมีราคาเพียง 21 บาทและ 20 บาท ตามลำดับ
“หลายคนสงสัยเหตุใดคณะกรรมาธิการฯ จึงหันมาทำเรื่องพลังงาน เพราะว่ากิจการพลังงานมีการทุจริตสูงที่สุด ฉ้อราษฎร์บังหลวง โกงประชาชน ขายน้ำมันแพง ซึ่งเกิดขึ้นจากกระบวนการที่ซับซ้อน เพื่อให้สามารถผูกขาดกำไรต่าง ๆ ต่อไป”
ในตอนท้ายนั้น ส.ว.กรุงเทพฯ ได้ระบุถึงข้อเสนอว่าให้ยุติการเปิดสัมปทานรอบ 21 จนกว่าจะมีการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 พร้อมยุติการต่ออายุสัมปทานในแปลงปิโตรเลียมที่ใกล้หมดอายุ และเปลี่ยนจากระบบสัมปทานเป็นระบบการแบ่งปันผลผลิต อีกทั้ง ให้ดำเนินการตรวจสอบเจ้าของแท่นขุดเจาะว่าเป็นเจ้าของแท่นหรือเช่าจากรายอื่น พร้อมให้ภาคประชาชนรวมตัวกันเป็นเครือข่าย เพื่อการจัดการที่รวดเร็ว โปร่งใส และตรวจสอบได้
ด้านนายอิฐบูรณ์ อ้นวงศา เลขานุการคณะอนุกรรมาธิการฯ กล่าวว่า การจัดการก๊าซหุงต้ม (LPG) มาโดยตลอดเคียงคู่กับการจัดการด้านปิโตรเลียมของไทยนั้น ล่าสุด กระทรวงพลังงานได้ผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ระบุการขึ้นราคา LPG จะทำให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ใช้น้ำมัน ลดภาระกองทุนน้ำมัน และป้องกันการลักลอบส่งออก LPG ซึ่งคณะอนุกรรมาธิการฯ ไม่เห็นด้วย
“LPG ที่ผลิตจากโรงแยกก๊าซธรรมชาตินั้นมีปริมาณมากเกินความต้องการ จึงผลักดันให้เกิดการส่งออกและขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมได้ จากนั้นจึงมีการตั้งแผนแม่บทสร้างอุตสาหกรรมปิโตรเคมีหลายแห่งในมาบตาพุด และที่อื่น ๆ ในจ.ระยอง จนทำให้มีการใช้ LPG ในอุตสาหกรรมมากจนต้องนำเข้า เพราะไม่พอใช้และต้องผลักภาระการนำเข้าให้ประชาชนโดยการขึ้นราคานั่นเอง”
สำหรับความไม่เป็นธรรมของนโยบายปรับขึ้นราคา LPG เลขานุการคณะอนุกรรมาธิการฯ ระบุว่าเกิดจากระบบการสัมปทาน ทำให้ประชาชนต้องซื้อในราคาแพง เพราะอิงตามกลไกตลาดโลก แต่ไม่ได้อิงตามปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น โดยนำมากำหนดสูตรคำนวณราคาเองระหว่างรัฐกับเอกชน และการจัดสรรนั้นยังเน้นที่ภาคอุตสาหกรรมมากกว่าครัวเรือน จนต้องนำเข้าเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีการกำหนดราคาและใช้เงินของกองทุนน้ำมัน มีผลประโยชน์ทับซ้อน โดยมีข้าราชการกระทรวงพลังงานหลายคนเข้าเป็นกรรมการของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ พร้อมได้รับค่าตอบแทนจำนวนมาก ที่สำคัญ กระทรวงพลังงานไม่มีข้อมูลที่ประชาชนเข้าใจได้ง่าย เช่น ราคาต้นทุน ค่าผลิตจากต้นน้ำ ผลประกอบการต่าง ๆ เพื่อให้สาธารณชนดำเนินการตรวจสอบได้
นายอิฐบูรณ์ ยังกล่าวถึงข้อเสนอแนะว่า ให้ยกเลิกการขึ้นราคา LPG ภาคครัวเรือน โดยให้จัดสรรให้ภาคครัวเรือนก่อนด้วยราคาต้นทุนและกำไรที่เหมาะสม สร้างโรงแยกก๊าซเพิ่มให้เพียงพอ ยกเลิกกองทุนน้ำมัน ยุติการผูกขาดทางการค้าน้ำมันของ ปตท.
รวมถึงให้จัดตั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาติแห่งใหม่ และให้แก้ไขกฎหมายไม่ให้ข้าราชการกระทรวงพลังงานมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัทด้านพลังงาน พร้อมจัดให้มีการตั้งศูนย์สารสนเทศอิสระด้านพลังงาน เพื่อเผยแพร่ข้อมูลแก่ประชาชนและตรวจสอบการประกอบกิจการพลังงานได้
ขณะที่ดร.สมบัติ พฤติพงศภัค สถาบันวิจัยรพีพัฒนศักดิ์ สำนักงานศาลยุติธรรม ในฐานะนักวิชาการอิสระ กล่าวว่า ระบบสัมปทานไม่เอื้อต่อการตรวจสอบข้อมูล เพราะไม่ใช่ของรัฐ แต่เป็นของเอกชน ทั้งที่ข้อมูลถือเป็นสิ่งมีค่ามากกว่ารายได้และภาษีที่รัฐได้รับ เพราะปัจจุบันเป็นโลกของข้อมูลข่าวสาร ใครมีข้อมูลที่ดีกว่าคนนั้นได้เปรียบ ทั้งนี้ การพัฒนาระบบการให้สิทธิสำรวจปิโตเลียมของไทยขณะนี้ไม่สามารถให้ประโยชน์ในระดับสูงที่สุดแก่ประชาชนและประชาชนโดยส่วนใหญ่ ฉะนั้นระบบดังกล่าวจึงไม่ตอบโจทย์
“ไทยเป็นประเทศเดียวที่ไม่เป็นเมืองขึ้น ในขณะที่หลายประเทศรอบ ๆ ล้วนเป็นอดีตอาณานิคม แต่แปลกประหลาดมาก ถึงขั้นกลับหัวกลับหาง เพราะประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมเหล่านั้น ได้พัฒนาจากระบบการสัมปทานเป็นระบบการแบ่งปันผลผลิตแล้ว” นักวิชาการ กล่าว และว่าสำหรับไทยที่ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใครเลย เริ่มมีการใช้ระบบการสัมปทาน แต่ก็ควรมีการพัฒนาความเป็นเอกราชมากขึ้น มิใช่เดินถอยหลังเข้าคลอง โดยยังให้สิทธิดังประเทศเมืองขึ้นอื่น ๆ ใช้กัน
ท้ายที่สุด ดร.สมบัติ เสนอว่าควรสร้างเครือข่ายภาคประชาชน โดยริเริ่มจากเครือข่ายผู้บริโภคในการผลักดันเรื่องข้อมูลเหล่านี้มากกว่าสินค้าไม่ปลอดภัย เพราะความจริงปิโตรเลียมถือเป็นเรื่องสำคัญมาก แต่หลายคนมักมองไม่เห็น เพราะคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่โตเกินไป ดังนั้นการจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ต้องเริ่มต้นมาจากประชาชน .
ภาพประกอบ:เว็บไซต์สำนักข่าวไทย