สุรินทร์ จี้ปฏิรูปนโยบายตปท. เห็นประโยชน์ชาติมากกว่า พรรคพวก ครอบครัว
อดีตเลขาธิการอาเซียน ถอดประสบการณ์สอนนโยบายการต่างประเทศ ฉะวันนี้ล้มเหลวบนเวทีโลก ไม่สามารถดีเบต ต่อรองผลประโยชน์ใดๆ ได้เลย เชื่อต้นเหตุจากการคัดสรรคนไม่พร้อม ไม่เชี่ยวชาญ เลยทำหน้าที่ได้แค่เฝ้าธง
วันที่ 25 เมษายน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนาทางวิชาการชุด 8 ทศวรรษ อภิวัฒน์สังคมไทย ด้านการระหว่างประเทศ ในโอกาสครบรอบ 80 ปี มธ. และ ครบรอบ 65 ปีคณะรัฐศาสตร์ มธ. ณ หอประชุมศรีบูรพา มธ.ท่าพระจันทร์ โดย ธรรมศาสตราภิชาน ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวถึงการต่างประเทศไทยบนเวทีโลก: ปฏิรูปหรือไม่? อย่างไร? เพื่อใคร? โดยระบุสิ่งที่สำคัญสุดลำดับแรกขณะนี้ คือ ประเทศไทยต้องหาข้อยุติความขัดแย้งภายในให้ได้ก่อน เพราะความขัดแย้งภายในประเทศได้ลดบทบาท ลดสภาวะความเป็นผู้นำของประเทศไทยในทุกเวทีโลก
ดร.สุรินทร์ กล่าวถึงกระบวนการในอาเซียนเวลานี้ประเทศไทยไม่อยู่ในฐานะที่สามารถตัดสินใจอะไรได้เลย เพราะไม่มีรัฐบาลทำหน้าที่ ไม่มีรัฐสภาจะมาทำหน้าที่ให้สัตยาบัน กระบวนการต่างๆ จึงล่าช้าลง ฉะนั้น เราไม่ควรจะยอมอยู่ในสถานะนี้นานเกินไป
สำหรับนโยบายด้านการต่างประเทศ โดยเฉพาะการคัดสรรคนเข้ามาทำงานนั้น อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า ต้องมีการปฏิรูป ต้องมีการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งประเทศไทยจำเป็นต้องคัดสรรคนที่มีความรู้ ความสนใจ เชี่ยวชาญงานด้านนั้นๆ เข้ามาทำงานด้านนี้ด้วย
“ที่ผ่านมาความสนใจของคนทำงานด้านโยบายต่างประเทศของเรายังแคบ ไม่ครอบคลุมพอแสดงให้โลกเห็นว่า คนของเรามีความรู้ มีข้อมูล มีความเข้าใจพอ ฉะนั้นจำเป็นต้องสร้างคนที่สนใจในหลายๆ เรื่อง หลายๆ อย่าง ไม่ใช่ส่งคนไปอยู่เพียงแค่เฝ้าธงเท่านั้น โดยเรื่องอื่นไม่สนใจ”ดร.สุรินทร์ กล่าว และว่า ปัญหาทั้งหมดส่วนหนึ่งเกิดจากการไม่ได้คัดสรรคนด้วยวิธีการที่เหมาะสม ไม่ได้คัดสรรคนที่มีความเป็นเลิศ มีความชำนาญพิเศษ จนทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสในเวทีต่างประเทศ
อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวถึงนโยบายการต่างประเทศ หรือนโยบายทางการทูต ต้องเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประเทศทั้งประเทศ ของคนไทยทุกคน ไม่ใช่เพื่อพรรค เพื่อพวก เพื่อครอบครัว
“เงินล็อบบี้มีเยอะ แต่ล็อบบี้ผิดจุดประสงค์ เป็นการล็อบบี้ให้บางกลุ่ม บางพวก บางครอบครัว ไม่ใช่ล็อบบี้เพื่อผลประโยชน์ของประเทศไทย จึงไม่ต่างกับระบบราชการอื่นๆ ที่ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง ทบวง กรม หรือแม้กระทั่งในรัฐวิสาหกิจ เป็นไปเพราะเยื่อไยทางการเมือง และความเกี่ยวข้องเกี่ยวพันทางครอบครัว นี่คือความจำเป็นที่นโยบายทางการทูตควรเป็นการทูตเพื่อประเทศทั้งมวล”
ขณะที่การจัดทัพจัดคนในกระทรวงต่างประเทศ เพื่อให้ออกไปปฏิบัติหน้าที่ในบริบทต่างประเทศ และต้องไปแข่งขัน ต่อรอง นำเสนอผลประโยชน์ของประเทศไทยนั้น ดร.สุรินทร์ กล่าวว่า ปัจจุบันนี้เรายังทำไม่ได้ เนื่องจากการจัดคนยังไม่ได้วางอยู่บนพื้นฐานของมืออาชีพ ไม่ได้เลือกคนจากความรู้ความสามารถ เมื่อไปขึ้นเวทีกับประเทศอื่นก็ถูกเคี้ยว
“คนของเราตั้งเพราะจดหมายน้อย มีโทรศัพท์มาฝาก ตั้งเพราะไปขอ เราจะไม่เห็นผลกระทบของวิธีคิด วิธีทำ และวัฒนธรรมแบบนี้จากข้างใน แต่เมื่ออยู่ในเวทีต่างประเทศ จะเห็นชัดเจนถึงความไม่พร้อมจะไปต่อรองกับประเทศใดได้เลย” อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าว และว่า คนไทยเจ้าของภาษีเสียประโยชน์จ่ายเงินเดือนให้คนของกระทรวงต่างประเทศไปนั่งในเมืองหลวงของประเทศเหล่านั้น นอกจากความไม่พร้อมสำหรับการทำหน้าที่แล้ว ที่ร้ายกว่านั้น มีการส่งสัญญาณผิดๆ กลับบ้านอีกด้วย