นักวิชาการชี้พัฒนาคุณภาพผู้สูงอายุอาจเป็นแค่ฝัน หากไม่ดึงรัฐ เอกชน สังคมร่วม
คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ชูปฏิรูปสวัสดิการผู้สูงอายุ เล็งออกกม.ขยายสิทธิ-ตั้งกองทุนฯ จูงใจด้วยมาตรการลดหย่อนภาษีเปิดโอกาสให้นายจ้างรับผู้เกษียณอายุเข้าทำงาน
วันที่ 24 เมษายน 2557 คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคมจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ พ.ศ ... ณ ห้องประชุม ชั้น 16 สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย อาคารซอฟแวร์ปาร์ค ถนนแจ้งวัฒนะ
นางสุนี ไชยรส ประธานกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคม กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ พ.ศ. .... เป็นร่างกฎหมายที่ร่างขึ้นใหม่เพื่อ ปรับปรุง แก้ไข พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 ที่เป็นกฎหมายที่รับรองและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ รวมทั้งการจัดสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้อายุ ซึ่งในปี 2556 มีจำนวนผู้สูงอายุ 14.73% และในปี 2563 จะเพิ่มขึ้น 19.13% ที่ผ่านมาจากการรับฟังความคิดเห็นของผู้สูงอายุพบว่าส่วนใหญ่ไม่ต้องได้รับการสงเคราะห์แต่ต้องการการมีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถพึ่งพาตนเองได้
สำหรับร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ พ.ศ. ... นางสุณี กล่าวเพิ่มเติมว่า จะมีการขยายสิทธิผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพอนามัย ได้กำหนดให้มีการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาและฟื้นฟูสมรรถนภาพอย่างครบวงจรทั้งในสถานพยาบาลและที่พักอาศัย อีกทั้งในด้านที่อยู่อาศัยในมาตรา 30 ได้ระบุให้หน่วยงานของรัฐส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้สูงอายุซึ่งมีที่พักอาศัยสามารถดำรงชีวิตอยู่กับครอบครัว กรณีที่ดำรงชีวิตตามลำพัง ให้หน่วยงานของรัฐสนับสนุนช่วยเหลือให้ผู้สูงอายุสามารถดำรงชีวิตามปกติ กรณีที่พักอาศัยไม่เหมาะสมสำหรับการดำรงชีวิตตามปกติให้หน่วยงานรัฐสนับสนุนให้มีการปรับปรุงแก้ไขหรือซ่อมแซม
“ประเด็นสำคัญอีกเรื่องที่ถือเป็นเรื่องใหม่คือการทำงานและการมีรายได้ โดยให้นายจ้างรับผู้เกษียณอายุเข้าทำงาน โดยที่นายจ้างมีสิทธิได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษี แต่หากนายจ้างที่ไม่รับผู้สูงอายุเข้าทำงานให้จ่ายเงินเข้ากองทุนเป็นรายปี 50% ของค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน”
ด้านนางปราณีต ถาวร รองเลขาธิการสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้วรู้สึกชอบมากกฎหมายฉบับนี้มาก แต่หากมองด้วยความเป็นจริงกฎหมายฉบับนี้เปรียบเสมือนกฎหมายในฝันที่ปฏิบัติไม่ได้และเดินไม่ทะลุ ในอดีตที่เคยเป็นปลัดองค์การบริหารปกครองส่วนท้องถิ่นพบว่าหากไม่กำหนดสัญชาติจะเกิดปัญหาในอนาคต และหากต้องการให้กฎหมายฉบับนี้มีการทำงานที่เป็นระบบจะต้องให้สมาคมองค์การส่วนบริหารส่วนจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาคมสันนิตบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย เข้ามาจัดการร่วมกันโดยใช้ระบบเป็นนายกสมาคมที่มาจากการเลือกตั้งของแต่ละองค์กรเพราะเขาจะมีวาระในการดำรงตำแหน่งชัดเจนอยู่แล้วจะได้ไม่ต้องเสียเวลาในการสรรหา
รองเลขาธิการสมาคมสันนิบาตฯ กล่าวถึงรายได้ของผู้สูงอายุว่า ขณะนี้ที่จ่ายกันอยู่เดือนละ 500 หรือ 600 บาท ไม่ใช่เงินของรัฐบาล หากแต่เป็นเงินหาเสียง เป็นเงินประชานิยม เพราะแท้จริงแล้วเม็ดเงินที่นำมาใช้นั้นเป็นเงินของท้องถิ่น เป็นการฉ้อฉลของรัฐบาล จึงอยากเสนอให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเชิญผู้แทนปกครองส่วนท้องถิ่นมาคุยกฎหมายนี้กับผู้ร่างกฎหมายโดยตรง เนื่องจากเขาเป็นผู้ปฏิบัติ ถ้าไม่เรียกเข้ามาพูดคุยการดำเนินงานอาจจะไม่ราบรื่น เพราะการเสนอกฎหมายแต่ละฉบับยาวนาน
"แค่แก้กฎหมายองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเพียงมาตราเดียวยังใช้เวลาถึง 19 เดือน ทั้งวิ่งสภาวิ่งแล้ววิ่งอีก ดังนั้นเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้สูงอายุ หากไม่เชิญผู้ปฏิบัติมาร่วมพูดคุยเกรงว่ากฎหมายฉบับนี้จะไม่ไปในทิศทางเดียวกัน และอาจจะใช้เวลานาน"
ขณะที่นางสาวพรรณประภา อินทรวิทยนันท์ นักวิชาการอิสระ กล่าวถึงงานวิจัยเรื่องการจัดบริการผู้สูงอายุเดี่ยว ว่า จากข้อสรุปของการวิจัยจากพื้นฐานในการเก็บข้อมูลก็คือได้รีวิวนโยบายรัฐบาลและกฎหมาย พบว่าตัวกฎหมายของไทยในเรื่องผู้สูงอายุมีความก้าวหน้ามาเรื่อยๆ แต่ประเด็นปัญหาที่พบมากสุดคือเรื่องของการจัดการบริหาร และองค์กรที่จะดูแลซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญ หากมองตัวกฎหมายฉบับนี้เห็นแล้วว่า มีความรักและอยากให้ผู้สูงอายุได้รับประโยชน์ แต่ประเด็นคำถามคืองานของผู้สูงอายุให้รัฐบาลทำเพียงหน่วยงานเดียวจะทำไหวหรือไม่ ซึ่งคำตอบเราตอบได้เลยว่า รัฐบาลทำเพียงคนเดียวไม่ได้
“นโยบายหาเสียงเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธิ์ จุลานนท์ สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ออกเป็นเบี้ยถ้วนหน้า ซึ่งตามตัวหลักสถิติหรือโมเดลตัวอย่างจากสหรัฐอเมริกาพบว่า กองทุนแบบนี้ต้องเกิดการล้มละลายด้วยเงินก้อนนี้ เนื่องจากผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และไม่มีวันลดลง ถึงแม้จะมีกฎหมายด้านกองทุนก็ล้มละลายอยู่ดี”
นักวิชาการอิสระ กล่าวด้วยว่า ดังนั้นรัฐบาลจะต้องหาแนวทางอื่นเพิ่มเติมนอกเหนือจากการจัดตั้งกองทุนซึ่งขณะนี้ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วได้ใช้เครื่องมือเทคโนโลยี การร่วมมือจากภาคเอกชนเข้ามาช่วยจัดการ ในขณะที่บ้านเราไม่ได้ให้ความสนใจเรื่องนี้เท่าไรนัก จะเน้นแต่สนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการเพียงอย่างเดียว ซึ่งปัจจุบันปัญหาของท้องถิ่นก็มีมากพอสมควรแล้ว ที่ผ่านมาอาจจะใช้เพียงโมเดล PPP คือ Public-Private Partnership แต่จากการศึกษางานวิจัยสรุปแล้วว่า วันนี้โมเดลนี้ไม่เพียงพอ เราจะต้องใช้โมเดล PSPP คือ Public-social-private partnership ด้วยการดึงทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคสังคมเข้ามาทำงานร่วมกัน
“ที่สำคัญคือการสร้างสังคมให้มีความสำนึกถึงผู้สูงอายุ ภาครัฐ เอกชน และภาคสังคมจะต้องไปเทียบทาบทามถนนเดียวกันตรงไหนอย่างไร เราควรจจะมีนโยบายส่งเสริมภาครัฐและเอกชนภาคสังคมในลักษณะหุ้นส่วน โดยใช้กฎหมายฉบับนี้เป็นตัวช่วยสร้างโมเดลนี้ให้เกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตามความหวังทั้งหมดที่เราฝันจะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าเครือข่ายสารสนเทศเพื่อผู้สูงอายุไม่เกิดขึ้น”