งบฯวิจัยไทยต่ำติดดิน ไม่ถึง 1 % ของ GDP เปิดแนวคิดปัดฝุ่นเก็บค่าพรีเมี่ยมข้าว
ผู้ส่งออกข้าวค้าน ชี้ในอดีตเคยเก็บค่าธรรมเนียมส่งออกข้าวมาแล้ว ทะเลาะกันแทบแย่กว่าจะยกเลิก ชี้การเก็บภาษีส่งออกสินค้าเกษตร ไม่ดีทั้งนั้น ท้ายสุดเกษตรกรเป็นผู้รับบาป
ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวกับสำนักข่าวอิศราถึงทุนวิจัยของภาครัฐและเอกชน ซึ่งจากการศึกษาของ สมาคมวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งประเทศไทย หรือ สวทน. พบว่า เดิมภาพรวมงบวิจัยของประเทศอยู่ที่ 0.21% ของ GDP หรือประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ล่าสุดทุนวิจัยของประเทศเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 0.37% ของ GDP แล้ว แม้จะเป็นข่าวดีงบฯ วิจัยของประเทศเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่น่าพึงพอใจ เพราะค่าเฉลี่ยทุนวิจัยของประเทศต่างๆ อยู่ที่ 1% ของ GDP
สำหรับการปฏิรูประบบวิจัยที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2550 นั้น ผอ.สกว. กล่าวว่า ได้มีการสรุปเป็นเอกสารชัดเจนแล้วว่า เราควรปฏิรูปไปในทางทิศไหนบ้าง โดยเฉพาะเรื่องแหล่งที่มาของทุนวิจัยภาพรวมของประเทศ ทำอย่างไรให้มีทุนวิจัยเพิ่มขึ้น ซึ่งก็มีแนวคิดอาจเก็บจาก “ค่าธรรมเนียมการส่งออกข้าว” เช่น 0.5% ของการส่งออกข้าว เพื่อนำมาใช้เรื่องการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการจัดตั้งทุนวิจัยในสาขาต่างๆ เพิ่มเติม
“ปัจจุบันไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมการส่งออกข้าว ซึ่งจะเป็นการดีมากหากมีการเก็บค่าธรรมเนียมทุกพืชเศรษฐกิจที่มีการส่งออก เช่น ภาษีส่งออก 5 % แบ่งมาเป็นทุนวิจัยและพัฒนาประมาณ 0.5% เพื่อตั้งเป็นกองทุนสนับสนุนการวิจัยให้กับภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรม”
เมื่อถามถึงการขับเคลื่อนแนวคิดแหล่งที่มาของทุนวิจัยให้เป็นรูปธรรม ศ.นพ.สุทธิพันธ์ กล่าวว่า ต้องมีการหารือในที่ประชุมเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) ซึ่งมีสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นผู้ขับเคลื่อน โดยแหล่งที่มาของทุนวิจัย จะคล้ายๆ กับของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่นำเงินมาจากภาษีเหล้า บุหรี่
“งบวิจัยของประเทศปัจจุบันน้อยมาก ซึ่งรัฐบาลไม่ว่าชุดไหนก็ให้งบฯ วิจัยแค่นี้ อย่างเช่น สกว.ได้งบฯ ปีละ 800 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ศักยภาพสามารถบริหารงบฯ ได้เป็นหมื่นล้านบาท”
ขณะที่นายวิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ถึงแนวคิดเก็บค่าธรรมเนียมส่งออกข้าว (ค่าพรีเมี่ยมข้าว) ซึ่งเป็นภาษีขาออกชนิดหนึ่งนั้น เพื่อนำเงินตรงนี้มาใช้เป็นทุนวิจัยของประเทศว่า การเก็บค่าธรรมเนียมก็ถือว่าเป็นการเก็บภาษี ไม่ดีทั้งนั้น เพราะท้ายสุดเกษตรกรจะเป็นผู้รับบาป
“ปัจจุบันไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมการส่งออกพืชเกษตร เกษตรกรก็แย่อยู่แล้วจะไปเก็บภาษีได้อย่างไร อะไรๆ ก็เป็นภาษีซึ่งกลายเป็นภาษีที่ทุกคนจะผลักภาระให้เกษตรกรรับไป” นายวิชัย กล่าว และว่า ในอดีตเคยทำมาแล้วอย่างการเก็บค่าพรีเมี่ยมข้าว ซึ่งก็ทะเลาะกันเป็นเวลานานกว่าจะยกเลิกได้
นายวิชัย กล่าวด้วยว่า ข้าวในประเทศไทย ครึ่งหนึ่งกินในประเทศ ครึ่งหนึ่งส่งออก การเก็บค่าธรรมเนียมส่งออกข้าว ก็คือภาษีทางอ้อม ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเกษตรกร ทางที่ดีควรไปช่วยพัฒนาเรื่องเทคโนโลยี ช่วยเกษตรกรไทย เช่น มีภาษีกองกลางที่เก็บมาจากทุกคนในประเทศ ก็เอาส่วนนั้นมาช่วยจึงจะถูกต้อง