สมัชชาเครือข่ายปฏิรูปฯ ออก 7 ข้อเสนอปลดล็อคปัญหาการศึกษาไทย
ผจก. สสส.ย้ำไทยทุ่มงบฯ ด้านการศึกษามหาศาล แต่ 20 ปีที่ผ่านมาก็ยังย่ำอยู่กับที่ไม่ไปไหน เลขาฯ สกล. เสนอกระจายอำนาจ พร้อมแถลง 7 ข้อเสนอขับเคลื่อนปฏิรูปทันที
วันที่ 24 เมษายน เวลา 9.30 น. ณ โรงแรมเอบิน่าเฮ้าส์ กรุงเทพฯ มีการจัดเวทีสมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษา โดยมีสมาคมสภาการศึกษาทางเลือก (สกล.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติ (สสส.) และภาคีเครือข่าย นำเสนอแนวทางการปฏิรูปการศึกษาจากการระดมความเห็นจากเวทีเครือข่ายต่างๆ เช่น เครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็กในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กลุ่มธุรกิจเอกชน กลุ่มเด็กและเยาวชน เครือข่ายผู้ปกครอง เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเวทีมีการเปิดวีดิทัศน์แสดงถึงปัญหาการศึกษาของไทยว่า มีการล้มหายของโรงเรียนขนาดเล็ก ขณะที่โรงเรียนขนาดใหญ่ก็มีสภาพเป็น “โรงเรียนผิดรูปปลากระป๋อง” รับนักเรียนจำนวนมากเนื่องจากเป็นที่นิยมของผู้ปกครองจนไม่สามารถดูแลนักเรียนได้ครอบคลุมและไม่สามารถดูแลคุณภาพการสอนได้ จนผลสุดท้ายคือนักเรียนที่จบมาไม่มีคุณภาพ
ทั้งนี้ยังพบว่า 90% ของนักเรียนที่เรียนจบถึงระดับมหาวิทยาลัยแล้วไม่มีงานทำ เนื่องจากไม่มีคุณภาพและไม่มีทักษะชีวิตมากพอ อีกทั้งการศึกษาปัจจุบันไม่ส่งเสริมให้นักเรียนรู้ว่า อยากเป็นอะไรในอนาคต
ขณะเดียวกันยังพบเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีมากถึง 60% ที่หันหลังให้การศึกษาแล้วเข้าสู่ตลาดแรงงาน อีกทั้งการศึกษาไทยยังทุ่มงบไปกับการบริหารจัดการถึง 75% และเจียดงบฯ ให้เด็กด้อยโอกาสและการพัฒนาเด็กเพียง 25% เท่านั้น
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ รองประธานกรรมการบริหารแผลสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวถึงความสำคัญในการปฏิรูปการศึกษาไทยว่า ปัจจุบันประเทศไทยไม่ประสบความสำเร็จในการศึกษา อีกทั้งยังมีการแข่งขันสูงท่ามกลางการพัฒนาด้านนวัตกรรมมากมาย จึงมีความเห็นว่า ควรทำให้ประชาชนมีความเป็นพลเมืองมากขึ้น การปฏิรูประบบราชการเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ จะต้องขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายด้วย
ด้านทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. ได้เปรียบเทียบการพัฒนาด้านสุขภาพของไทยกับการพัฒนาด้านการศึกษาว่า มีความเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างกันมาตลอด 20 ปี โดยการปฏิรูปทางสาธารณสุขนั้นมีการกระจายอำนาจเป็นหน่วยงานต่างๆแยกเป็นอิสระจากกระทรวงสาธารณสุขชัดเจนสู่หน่วยงานอื่นๆ และทำให้เรื่องสุขภาพกลายเป็นเรื่องของทุกคนไม่ใช่เรื่องเฉพาะแพทย์หรือพยาบาล
“ระบบการศึกษาทำอีกแบบหนึ่ง มีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างแต่ไม่มีการปฏิรูปเชิงการดำเนินการ ประเทศไทยใช้เงินเยอะมากไปกับการบริหารจัดการ แต่การศึกษาของไทยก็ยังเหมือนเดิมอยู่ เห็นได้ชัดจากการวัดผลจากแหล่งต่างๆ” ผู้จัดการ สสส.กล่าว
ทั้งนี้ ทพ.กฤษดา กล่าวถึงความเกี่ยวข้องในการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษาของ สสส. ว่า องค์การอนามัยโลกได้มีผลสำรวจด้านสุขภาพ ซึ่งมักจะมาจากปัจจัยนอกเหนือจากระบบสุขภาพเองเยอะมาก หนึ่งในนั้นคือการศึกษา การศึกษาไทยมีการสอนในห้องเรียนถึงภัยของสุรา บุหรี่ อาหารขยะ แต่เด็กไทยก็ยังดื่มสุรา สูบบุหรี่อยู่ ในขณะที่ต่างประเทศอย่าง ญี่ปุ่น เกาหลี สร้างเด็กที่มีวินัยมาก การศึกษาเดิมนั้นไม่ตอบโจทย์แน่ๆ เจ้าหน้าที่ระบบในกระทรวงศึกษา ผู้ปกครอง ครูผู้สอนเองก็รู้ปัญหา แต่ก็ไม่รู้ว่าจะแก้อย่างไร
จากนั้น นายชัชวาล ทองดีเลิศ เลขาธิการ สกล. ได้ย้ำถึงแนวคิดในการขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษา 7 ข้อดังนี้
1. ปฏิรูปเป้าหมายทางการศึกษา เพื่อสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพและสังคมเข้มแข็ง มีทักษะชีวิตที่สามารถพึ่งตนเองได้ วิเคราะห์เป็น มีคุณธรรมจริยธรรม มีความเป็นพลเมือง ไม่ใช่แค่จำเพื่อไปสอบ
2. ปฏิรูปการกระจายอำนาจ เปลี่ยนบทบาทจากส่วนกลางที่ครอบงำและผูกขาดการจัดการเรียนรู้ โดยองค์กรต่างๆ เช่น ชุมชนท้องถิ่น สถานศึกษาในสังกัด อปท. องค์กรวิชาชีพ เป็นต้น สามารถมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาได้ โดยภาครัฐมีบทบาทในด้านนโยบาย สนับสนุนและติดตามผล
3. ปฏิรูปนโยบาย โดยผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ ให้ทุกภาคส่วนและพรรคการเมืองลงสัตยาบันร่วมกันเพื่อแก้ปัญหานโยบายการศึกษาที่ไม่ต่อเนื่อง ไม่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยของรัฐบาล
4. ปฏิรูปกลไกการจัดการศึกษา จัดตั้งองค์กรอิสระด้านการศึกษาระดับชาติเพื่อขับเคลื่อนแผนการศึกษาของชาติแบบองค์รวม สนับสนุนให้เกิดความเข้มแข็งแก่องค์กร กลุ่ม หรือชุมชนที่จัดการศึกษา
5. ปฏิรูปการบริหารจัดการ โดยคืนหลักสูตรให้ชุมชนมีส่วนร่วม สอดคล้องกับท้องถิ่น ปรับเปลี่ยนการประเมินผลให้หลากหลายไม่ใช่แค่เน้นด้านวิชาการเท่านั้น แต่ต้องเน้นทักษะชีวิตและคุณธรรมด้วย วัดผลด้วยศักยภาพโดยไม่เน้นคะแนนเป็นตัวชี้วัด ปรับการจัดสรรงบประมาณให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการงบประมาณการศึกษา สนับสนุนงบประมาณในพื้นที่ห่างไกลและขาดโอกาสให้มากขึ้น
6. ปฏิรูปการผลิตและบุคลากร ให้ครูเป็นผู้เอื้ออำนวยในการจัดการเรียนรู้และจุดประกายเพื่อดึงศักยภาพของผู้เรียน จัดตั้งมหาวิทยาลัยครูแห่งชาติเพื่อเน้นบุคลากรที่มีคุณภาพมากกว่าปริมาณและมีจิตวิญญาณ ให้ผู้บริการ กรรมการสถานศึกษานั้นๆเป็นผู้มีสิทธิคัดเลือกครูเข้ามาสอนเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีความรู้ในชุมชนมีส่วนร่วมในการสอนได้แม้ไม่มีใบประกอบวิชาชีพ
7. ปฏิรูปการสื่อสารเพื่อการศึกษา ให้สื่อมีความรับผิดชอบสังคมด้วยการให้ข้อมูลที่มองเห็นถึงปัญหาการศึกษา จุดประกายให้มีการขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาได้
ทั้งนี้ยังมีข้อเสนอแนะจากหลายภาคีในเวทีนี้เพื่อให้สมัชชาปฏิรูปพิจารณา เช่น ข้อเสนอในการสร้างศูนย์ฝึกทักษะหรือเทรนนิ่งเซ็นเตอร์ของครู ข้อเสนอในการร่วมมือกับคณะครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์เพื่อส่งนักศึกษาครูฝึกหัดมาสอนยังโรงเรียนขนาดเล็กโดยไม่ติดกฎเกณฑ์ของคุรุสภา เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ข้อเสนอทั้ง 7 ข้อ ทางเครือข่ายฯ จะมีการนำเสนอต่อพรรคการเมืองและรัฐบาลชุดใหม่เพื่อผลักดันการปฏิรูปให้เป็นจริงต่อไป