เด็กไทยสมาธิสั้น ทนเรียนหนังสือได้ไม่เกิน 20 นาที
ถึงกาลอวสานกับการสอนแบบบรรยาย-บอกจด นักวิชาการ สสค.แนะครูใช้เทคโนโลยีช่วยสอน ไม่ให้เด็กเบื่อ ขณะที่เอแบคโพลล์เผยสำรวจพบเด็กไทยเรียนหนักมากสุดในโลก แต่ไม่สามารถนำเอาความรู้ไปใช้ในชีวิตได้
วันที่ 23 เมษายน สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และมูลนิธิพัฒนาไท แถลงข่าว “เด็กและเยาวชนอยากเปลี่ยนแปลงอะไรจากระบบการศึกษาไทย" ที่อาคารไอบีเอ็ม กรุงเทพฯ
ดร.ปรีชา เมธาวัสภาคย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ สถาบันวิจัยมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจเด็กและเยาวชนที่มีอายุ 14-18 ปี ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 17 จังหวัด จำนวน 4,255 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1-15 เมษายน 2557 จากมุมมองและทัศนคติของเด็กและเยาวชนที่มีต่อระบบการเรียนการสอนของประเทศไทยในปัจจุบัน โดยผลสำรวจ พบว่า ร้อยละ 58.9 เห็นว่า โอกาสและมาตรฐานทางการศึกษาไม่เท่าเทียมกัน เช่นเดียวกับที่เห็นด้วยว่า เด็กไทยเรียนหนักมากที่สุดในโลกแต่ไม่สามารถนำเอาความรู้ในห้องเรียนไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ ร้อยละ 58.7
ขณะที่ ร้อยละ 56 เห็นว่า การแนะแนวการศึกษาไทยยังไม่ทั่วถึง และร้อยละ 54.8 ระบุว่า เด็กไม่ได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียน ส่วนร้อยละ 53.1 การเรียนการสอนเป็นแบบที่เริ่มต้นจากการรู้ในหนังสือ และจบลงด้วยข้อสอบ
“นอกจากนี้ ยังพบว่า คำถามลำดับแรก ที่เด็กอยากถามครูมากที่สุด คือ ทำไมไม่หาวิธีการสอนที่ไม่น่าเบื่อ ทำไมต้องสอนตามหนังสือ และทำไมเรียนในห้องเรียนไม่รู้เรื่อง แต่เรียนพิเศษกลับรู้เรื่อง”
ทั้งนี้ข้อมูลของเอแบคโพลล์ยังระบุอีกว่า เด็กและเยาวชนมากกว่า 2 ใน 3 อยากให้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอนของระบบการศึกษาในปัจจุบัน เพราะหลักสูตรการเรียนการสอนเน้นเนื้อหาทฤษฎีมากกว่าการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งพบว่า เด็กต้องเรียนหนักวันละ 7-8 คาบ ในขณะที่ความรู้ที่ใช้สอบกลับได้มาจากการเรียนพิเศษ โดยร้อยละ 65.1 ให้ความเห็นว่า การเรียนพิเศษเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตการเรียนทุกวันนี้ เนื่องจากทำให้เข้าใจเนื้อหามากยิ่งขึ้น ได้ความรู้เพิ่มเติมจากเนื้อหาที่โรงเรียนไม่ได้สอน
ด้าน ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รองประธานคณะกรรมการ สสค. คนที่ 2 กล่าวว่า ผลสำรวจดังกล่าว ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากระบบการศึกษาไทยต่อเด็กและเยาวชน จากเสียงสะท้อนของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมพบว่า ในปัจจุบันเด็กและเยาวชนทั้งในระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาขาดทักษะการทำงาน โดยเฉพาะทักษะการคิดคำนวณ การใช้ไอที ภาษาอังกฤษ การทำงานเป็นทีม การปรับตัวและแก้ไขปัญหา ส่งผลให้เกิดภาวะ “ตำแหน่งว่างงาน” ทั้งที่คนตกงานล้นประเทศ
ดร.กฤษณพงศ์ กล่าวต่อไปว่า ผลสำรวจยังสะท้อนให้เห็นว่า เด็กและเยาวชนต้องการเห็นการปฏิรูปการศึกษาไทย ซึ่งจะต้องทำทั้งโครงสร้าง เน้นในเรื่องการเรียนรู้เพิ่มเติมจากนอกห้องเรียน ผนวกกับการเรียนการสอนในห้องเรียนที่มีความหลากหลาย ซึ่งอาจจะมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอนให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการดึงดูดนักเรียนไม่ให้รู้สึกเบื่อ
“สิ่งที่พบก็คือขณะนี้เด็กเปลี่ยนไป สมาธิเด็กสั้น ไม่สามารถจะเรียนหนังสือได้นานเกิน 20 นาที เพราะฉะนั้นถ้าใช้วิธีสอนยาวไป 1 คาบ 50 นาที ไม่มีทางที่เขาจะเรียนหนังสืออยู่นิ่งๆ เทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการเรียนการสอน”ดร.กฤษณพงศ์ กล่าว และว่า ถึงกาลอวสานแล้วกับการสอนแบบบรรยายและบอกจด ครูต้องเรียนรู้ว่าลูกศิษย์เปลี่ยนไปโดยเอาความน่าเบื่อหน่ายออกไป เช่น การนำเทคโนโลยีในการสื่อสาร อย่าง ไลน์ เฟสบุ๊คเป็นเครื่องมือช่วยสอน
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 6-8 พฤษภาคม 2557 สสค.-สสส.-มูลนิธิพัฒนาไท จะจัดเวทีวิชาการอภิวัฒน์การเรียนรู้...สู่จุดเปลี่ยนประเทศ ภายในงานจะมีการพูดคุยถึงเรื่อง สิ่งสำคัญของการปฏิรูการศึกษาไทย ภายใน 6-10 ปีและปรับให้เข้ากับบริบทสังคมไทย ณ อิมแพคเมืองทองธานี