เอ็นจีโอไม่เชื่อเอกชนยอมให้รัฐปรับอัตราเก็บค่าภาคหลวงแร่ทองคำ 60%
เอ็นจีโอชี้รัฐหวังเเก้กม. กระจายอาชญาบัตรฯ เเร่ทองคำเป็นจริงยาก เหตุมีบริษัทนอมินี ย้ำไทยไม่มีเเหล่งสัมปทานเเล้ว 'รสนา' ระบุสำนักงบฯ ไม่เคยคิดความเสียหายเทียบค่าภาคหลวงที่ได้รับคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ
สืบเนื่องจากกรณีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เตรียมปรับปรุงแก้ไขกฎหมายการเรียกเก็บสิทธิประโยชน์เหมืองทองคำ เพื่อให้รัฐได้รับผลประโยชน์มากขึ้น จากเดิมเก็บรายได้ไม่เกิน 30% ของมูลค่าแร่ ให้เพิ่มสัดส่วนผลประโยชน์ภาครัฐ 40-60% พร้อมเตรียมกระจายอาชญาบัตรสำรวจแร่ ผูกขาดสำรวจแร่ และอาชญาบัตรพิเศษ ให้กระจายสู่บริษัทสัมปทานรายใหม่มากขึ้น เพื่อป้องกันการกระจุกตัวนั้น
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สัมภาษณ์นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ ถึงกรณีดังกล่าวว่า เบื้องต้นอยากให้แจกแจงรายละเอียดการเก็บค่าภาคหลวงเหมืองแร่ทองคำไม่เกิน 30% ของมูลค่าแร่ เสียก่อน เพราะเท่าที่ทราบมามีการเก็บค่าภาคหลวงฯ ตามอัตราขั้นบันไดสูงสุดเพียง 11% ของมูลค่าแร่ เท่านั้น ฉะนั้นการจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 40-60% จึงยากจะเก็บได้ถึงเป้าที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ ไม่เชื่อว่าภาคเอกชนจะรับได้กับอัตราใหม่
สำหรับการกระจายอาชญาบัตรฯ ส่วนใหญ่มักเป็นบริษัทนอมินี ยกตัวอย่างกรณี พื้นที่สัมปทานเหมืองแร่ทองคำรอยต่อ 3 จังหวัด คือ พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ปัจจุบันได้มีบริษัทต่าง ๆ ขอรับอาชญาบัตรพิเศษแล้วประมาณ 1 ล้านไร่ ซึ่งเมื่อสืบค้นกลับอยู่ในเครือของ ‘บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด’ เจ้าของพื้นที่เดิม จึงถือว่าไม่เป็นการกระจายตัวตามต้องการ อย่างไรก็ตาม หากทำไม่ให้เกิดการกระจุกตัวไว้กับเอกชนเพียงรายเดียวได้จะเป็นเรื่องที่ดี
นายเลิศศักดิ์ กล่าวถึงความพยายามแก้ไขกฎหมายคงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เท่ากับปัญหาในขณะนี้ที่ไม่มีแหล่งแร่ทองคำในประเทศให้เปิดสัมปทานอีกแล้ว ยกเว้นในเขตป่าอนุรักษ์ ซึ่งหากนำพื้นที่ดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่อีก จะส่งผลให้เกิดการทำลายป่าชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ทั้งที่ความจริงควรจะสงวนรักษาไว้ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง
ด้านน.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรุงเทพฯ กล่าวว่า การจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่ของไทยอาจไม่คุ้มค่าต่อความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม ดังกรณีอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำหลายแห่งที่ขาดการควบคุมมาตรฐาน ส่งผลให้เกิดการตกค้างของสารไซยาไนด์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความเสียหายที่ได้รับผลกระทบจากการให้สัมปทานของรัฐ
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสำนักงบประมาณไม่เคยคำนวณตัวเลขความเสียหายที่เกิดขึ้นเปรียบเทียบกับผลตอบแทนค่าภาคหลวงที่ได้รับ เพื่อสำรวจความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจเลย แตกต่างจากบริษัทเอกชนจะต้องประเมินผลดีผลเสียก่อน เพื่อชั่งตวงว่าโครงการที่จะทำคุ้มค่าหรือไม่ ซึ่งถึงแม้เปรียบเทียบไทยเป็นบริษัทอาจจะเป็นองค์กรไม่หวังกำไรสูงสุด แต่จะต้องมุ่งหวังความอยู่ดีกินดีและความปลอดภัยของชีวิตประชาชน
“อุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำในบราซิล ภายหลังจากเลิกสัมปทานแล้วจะมีการพัฒนาเหมืองให้เป็นพิพิธภัณฑ์ แต่ของไทยกลับไม่เป็นเช่นนั้น มิหนำซ้ำรัฐบาลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ยังปล่อยให้มีการตัดต้นไม้ เปิดหน้าดิน และทิ้งสารพิษตกค้างอีก ฉะนั้นจำเป็นต้องลงพื้นที่ไปตรวจสอบ”
สำหรับความเป็นไปได้ต่อการจัดเก็บผลประโยชน์แบบขั้นบันได น.ส.รสนา ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ค่าภาคหลวงจากทรัพยากรทั้งหมดของไทยมีมูลค่าต่ำอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อดูเฉพาะค่าภาคหลวงเหมืองแร่ชนิดต่าง ๆ ในแต่ละปีที่จัดเก็บได้ราว 1,200 ล้านบาท ถือเป็นตัวเลขที่ต่ำมาก แตกต่างจากค่าภาคหลวงปิโตเลียมชนิดไม่เห็นฝุ่น ฉะนั้นแนวคิดจัดให้มีระบบจัดเก็บผลประโยชน์แบบขั้นบันได จะทำให้รัฐยิ่งมีรายได้น้อย .