‘ส.ศิวรักษ์’ ยกยุคทักษิณใช้ประชาธิปไตยปลอมอุปถัมภ์มอมเมาพลเมือง
"ทักษิณเอาอย่างประชาธิปไตยปลอม ๆ ของฝรั่ง มาใช้ในระบบอุปถัมภ์ให้เกิดรัฐสภาจอมปลอมและรัฐบาลจอมปลอม ตลอดจนมวลชนจอมปลอม ก็เป็นสิ่งซึ่งพึงสำเหนียกอย่างยิ่ง"
วันที่ 22 เมษายน 2557 กองทุนภาคประชาสังคม:เพิ่มพลังพลเมือง สู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ จัดเสวนา “ระบบอุปถัมภ์ กับการสร้างความเข้มแข็งภาคพลเมือง” ณ ห้องปทุมวัน ชั้น 2 โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ โดยมีนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม ปาฐกถาพิเศษ “ระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย-อุปสรรคการสร้างความเข้มแข็งภาคพลเมือง”
ส.ศิวรักษ์ กล่าวว่า ตราบใดที่มีระบบชนชั้นในสังคม ไม่เฉพาะสังคมไทยเท่านั้น ย่อมมีระบบอุปถัมภ์ที่ให้ทั้งคุณและโทษ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการอุปถัมภ์นั้น ๆ ได้แก่ อุบายโกศลหรือหาไม่ ผู้อุปถัมภ์มีความสามารถและเห็นประโยชน์สุขของส่วนรวมมากแค่ไหน โดยแลเห็นศักยภาพของผู้ที่ได้รับการอุปถัมภ์เป็นราย ๆไป และผู้ได้รับการอุปถัมภ์ก็ต้องรู้จักสมรรถภาพของตน โดยรู้จักใช้เพื่อการสร้างเสริมสถานะของตน อย่างซื่อตรงเพียงใดหรือไม่
"ผมขอยกตัวอย่างบางรายในสมัยราชาธิปไตยที่เป็นตัวอย่างแห่งความสำเร็จของระบบอุปถัมภ์ กรณีของ ‘นายปั้น เปรียญ’ ได้ขอรับความอุปถัมภ์จากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จนได้ยศถาบรรดาศักดิ์สูงส่งกว่าองค์อุปถัมภกเสียอีก โดยเป็นถึงมหาอำมาตย์นายก เจ้าพระยายมราช (ในรัชการที่ 6) อีกทั้งยังได้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รัชการที่ 8 ด้วย
“เจ้าพระยายมราชจะไม่ใช่คนที่สะอาดบริสุทธิ์เสียเลยทีเดียว แต่ชีวประวัติของท่านก็เป็นตัวอย่างแห่งความสำเร็จของระบบอุปถัมภ์ คือ ผู้ที่ได้รับการอุปถัมภ์ต้องเข้าระบบกันได้ และรู้จักปรับตัวให้เข้ากับผู้อุปถัมภ์เป็นราย ๆ ไป โดยรู้จักใช้ศักยภาพของตนให้เหมาะสมที่สุดกับกาลสมัย ซึ่งในกรณีนี้ท่านได้รับการอุปถัมภ์จนไต่เต้าได้สูงที่สุดในระบบราชการ”
ปัญญาชนสยาม ยังยกตัวอย่างเพิ่มเติมกรณี ‘นายจิตร เปรียญ’ ได้รับความอุปถัมภ์จากกรมพระยาดำรงราชนุภาพเช่นกัน โดยแต่งตั้งให้เป็นพระยาอุดรธานี แต่ไม่สามารถเลื่อนตำแหน่งให้สูงกว่านั้นได้ ดังที่เคยได้รับคำสั่งว่า...
“มหาจิตร แกเป็นคนดีมีความสามารถ ต่อไปคงได้เป็นเจ้าเมือง แต่คงขึ้นไม่ถึงเป็นเทศา เพราะแกไม่รู้ภาษาอังกฤษ” นั่นแสดงให้เห็นว่า กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีสายพระเนตรที่ยาวไกล
ซึ่งทั้งสองกรณีนี้ แสดงให้เห็นว่า ผู้อุปถัมภ์ได้แสวงหาคนที่มีแววรับการรับงานเมือง แล้วเปิดโอกาสให้เขาได้ไต่เต้าไปในระบบราชการ เพื่อประโยชน์ของเขาและส่วนรวม แต่ละคนใช้ศักยภาพได้เท่าที่จะมีความสามารถในระบบการปกครองของยุคสมัย จะถือว่าสิ่งนี้เป็นความสำเร็จก็ว่าได้ แม้พลเมืองก็ได้รับผลประโยชน์จากชนชั้นปกครองทั้งสองคนนั้นตามสมควร แม้ประชาธิปไตยจะไม่ได้มาสู่ญาณของบุคคลทั้งคู่นี้หรือผู้อุปถัมภ์ท่าน
สำหรับตัวอย่างแห่งความล้มเหลวของระบบอุปถัมภ์ ส.ศิวรักษ์ กล่าวว่า ในสมัยรัชกาลที่ 6 ‘เจ้าพระยารามราฆพ’ มีคุณวิเศษเป็นอย่างยิ่งในทางที่ทำให้องค์บรมราชูปถัมภกโปรดปรานเขามีความต้องการอะไรก็ได้รับพระราชทานสิ้น ไม่ว่าจะเป็นยศศักดิ์อัครฐานหรือทรัพย์ศฤงคาร ทั้งที่ศักยภาพของเขาด้อยกว่าคนร่วมสมัยเป็นอันมาก และไม่มีแนวคิดที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์แก่พลเมืองเอาเลย
ชี้ระบบอุปถัมภ์สร้างเข้มเเข็งพลเมืองต้องมีประชาธิปไตย
ส.ศิวรักษ์ กล่าวต่อว่า ในวงการพ่อค้าวานิช ระบบอุปถัมภ์ก็ให้คุณได้มิใช่น้อย เช่นในกรณีของ ‘นายอากรเต็ง’ (หลวงอุดรพานิช) กับ ‘นายบุญรอด’ (พระยาภิรมย์ภักดี)
นายบุญรอดเป็นลูกจ้างฝรั่ง มีหน้าที่ซื้อไม้ให้นายจ้างนำส่งออกไปขายที่เมืองนอก ต่อมานายอากรเต็งบอกว่า “นายบุญรอด เป็นลูกจ้างเขา เมื่อไหร่จะรวย” ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่า “ผมไม่มีทุน” นายอากรจึงบอกว่า “นายบุญรอดซื้อไม้ฉันสิ แล้วเชื่อเอาไว้ ขายได้กำไรแล้วค่อยเอามาใช้”
ด้วยความอุปถัมภ์กันเช่นนี้ นายบุญรอดจึงเริ่มตั้งตัวได้ และขยายธุรกิจอย่างกว้างขว้างออกไปในหลาย ๆ ทาง อย่างควรแก่การก้มหัวให้ทั้งผู้อุปถัมภ์และผู้ได้รับการอุปถัมภ์
ปัญญาชนสยาม ยกตัวอย่างอีกว่า สภากาชาดสยาม ก็ใช้ระบบอุปถัมภ์มาตลอด เลขาธิการคนก่อนได้รับตำแหน่งดังกล่าว ก็เพราะได้รับความอุปถัมภ์จาก ‘นายนายิกา’ แต่เมื่อ ‘ศ.นพ.ม.ล.เกษตร สนิทวงศ์’ เห็นว่าเขาไม่คู่ควรกับตำแหน่งก็สามารถทำให้พ้นหน้าที่ไปได้
ส่วนกรณีของ ‘ม.จ.มารยาตรกัญญา ดิศกุล’ ซึ่งได้มาเป็นเลขานุการสภากาชาดสยามนั้น ก็เพราะท่านผู้หญิงอยู่ในสำนักวังบางขุนพรม ซึ่งองค์อุปนายกเป็นใหญ่อยู่ที่วังนั้น และโปรดให้ท่านหญิงรับในตำแหน่งดังกล่าว ส่วน ‘ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล’ ก็ได้รับความอุปถัมภ์จากนายปรีดี พนมยงค์ สมัยท่านผู้นั้นเรืองอำนาจ จนสามารถสร้างหอสมุดดำรงราชานุภาพขึ้นได้
“การที่จะใช้ระบบอุปถัมภ์เพื่อสร้างความเข้มแข็งภาคพลเมืองนั้น ต้องเป็นไปในระบอบประชาธิปไตยที่มีเนื้อหาสาระ และพลเมืองเข้าซึ้งถึงระบบดังกล่าว" เขากล่าว เเละว่าราษฎรนั้น ๆ ต้องได้รับการศึกษา จนเห็นว่าคนมีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งขัดกับระบอบศักดินาขัตติยาธิปไตย
ยก 'ปรีดี พนมยงค์' นักอุปถัมภ์ผู้ปิดทองหลังพระ
ส.ศิวรักษ์ กล่าวถึงสมัย ‘นายปรีดี พนมยงค์’ ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้น เพื่อใช้การศึกษาเป็นพาหะให้คนเข้าถึง ‘ธรรม’ คือ ความถูกต้องดีงาม ซึ่งตรงกันข้ามกับ ‘อธรรม’ คือความชั่วร้ายลามกอนาจาร รวมถึงความทุจริตต่าง ๆ โดยเอาธรรมมะมาเป็นศาตราที่แหลมคม เพื่อทิ่มตำความอยุติธรรมและความทุจริต ตลอดจนการเอารัดเอาเปรียบต่าง ๆ
ซึ่งการก่อตั้งมหาวิทยาลัยนั้นถือว่ามาจากการอุปถัมภ์บำรุงของนายปรีดี พนมยงค์ เช่น โอนสำนักพิมพ์ นิติศาสตร์ พร้อมโรงพิมพ์ส่วนตัวให้เป็นของมหาวิทยาลัย ธนาคารเอเชียซึ่งตั้งขึ้นก็ยกให้เป็นทุนไว้ใช้อุดหนุนสถาบันการศึกษาแห่งใหม่นี้ อีกทั้งเงินเดือนที่ได้รับจากการบริหารมหาวิทยาลัยและการสอนได้โอนให้เป็นทุนสำหรับนักศึกษาที่ยากจน
แล้วจะว่านี่ไม่ใช่การอุปถัมภ์ดอกหรือ เป็นแต่ผู้อุปถัมภ์ไม่ต้องการชื่อเสียงหรือบุญคุณใด ๆ ผู้ที่ได้รับการอุปถัมภ์ก็ไม่รู้ว่า การอุปถัมภ์ดังกล่าวมีต้นตอมาอย่างไร
“หัวใจแห่งการศึกษาที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองนั้น เพื่อปลุกจิตสำนึกของนักศึกษาให้มีความรู้และมีคุณธรรม โดยพร้อมที่จะไปมีบทบาททางการเมือง ตามแนวทางของประชาธิปไตย คือพร้อมที่จะลงไปสมัครรับเลือกตั้งให้ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยวิธีนี้หามีการอุปถัมภ์ใด ๆ ไม่ เพราะถ้าการเลือกตั้งพัวพันกับการอุปถัมภ์ นั่นคือ ก้าวแรกแห่งความหายนะทางระบอบประชาธิปไตย”
ปัญญาชนสยาม กล่าวอีกว่า เมื่อได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. แล้ว นายปรีดีมีบทบาทอย่างสำคัญในการอุปถัมภ์ให้นักการเมืองที่มีแวว ได้ก้าวหน้าในรัฐสภา จนได้เป็นถึงรัฐมนตรี ได้ร่วมในขบวนการเสรีไทย เพื่ออุทิศตนในการกู้บ้านกู้เมือง แม้เมื่อเลิกสงครามแล้ว เกิดสันนิบาตเอเชียอาคเนย์ขึ้น นายเตียง ศิริขันธ์ ถึงกับได้รับเลือกให้เป็นประธานของหน่วยงานนานาชาติแห่งใหม่นี้ด้วย ซึ่งมีอายุก่อนอาเซียนกว่า 4 ทศวรรษ
พลเมืองถูกทักษิณมอมเมา อีกไม่ช้าดวงตาเห็นธรรม
กระทั่งยุค ‘พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร’ ส.ศิวรักษ์ ระบุว่า ทักษิณเอาอย่างประชาธิปไตยปลอม ๆ ของฝรั่ง มาใช้ในระบบอุปถัมภ์ให้เกิดรัฐสภาจอมปลอมและรัฐบาลจอมปลอม ตลอดจนมวลชนจอมปลอม ก็เป็นสิ่งซึ่งพึงสำเหนียกอย่างยิ่ง
“ถ้าเราเชื่อในพระพุทธพจน์ ว่าทุกคนอาจตรัสรู้ได้ พลเมืองที่ถูกระบอบอุปถัมภ์ของทักษิณมอมเมานั้น อีกไม่ช้าพวกเขาก็จะได้ดวงตาเห็นธรรม ดังเช่นพวกเสื้อแดงจำนวนไม่น้อยที่ไม่ต้องการทักษิณแล้ว” ปัญญาชนสยาม กล่าว และว่า ถ้าเกิดความเข้มแข็งทางจริยธรรม หันเข้าหาศาสตร์แห่งชีวิตที่มีสัจจะ อหิงสา และสันติ ประชาธิปไตยในเมืองไทยก็จะงดงามขึ้นได้จากวิกฤตการณ์ที่เป็นอยู่ในบัดนี้
ส.ศิวรักษ์ ยังกล่าวถึงความเข้มแข็งภาคพลเมืองขณะนี้ว่า คนระดับรากหญ้าได้แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งให้ปรากฏแทบทุกหนทุกแห่ง อาทิ ยายไฮ ขันจันทา กับสมัชชาคนจน จ.อุบลราชธานี หรือนางกรณ์อุมา พงษ์น้อย ภรรยานายเจริญ วัดอักษร กลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ และนางภินันท์ โชติรสเศรณี ประธานกลุ่มอนุรักษ์ จ.กาญจนบุรี ตลอดจนกลุ่มต่อต้านเหมืองแร่โปแตซ จ.อุดรธานี ฯ
“นี่คือความเข้มแข็งภาคพลเมือง ซึ่งแทบไม่ได้รับความอุปถัมภ์ใด ๆ ทั้งสิ้น พร้อมกันนั้นเราต้องกล่าวว่าหน่วยงานเอกชนเป็นจำนวนไม่น้อยที่เข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชนรากหญ้าเหล่านี้ พวกเอ็นจีโอที่เอาจริงเอาจังก็มี หรือที่ทำเล่น ๆ เพื่อหวังพึ่งการอุปถัมภ์บำรุงจากแหล่งทุนต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศก็มี”
ปัญญาชนสยาม ยังวิพากษ์การรับความอุปถัมภ์ทางการเงินของเอ็นจีโอไทยนั้นให้ทั้งคุณและโทษ ดุจดังการรับอุปถัมภ์ในระบบราชการไทยในสมัยราชาธิปไตย ถ้าใช้อุบายโกศลเป็นตัวชี้วัด รู้จักตัวเราเอง และศักยภาพที่แท้จริงของเรา โดยมีเวลาสำรวจตรวจตราจุดเด่นและจุดด้อยของเรา แล้วรู้จักรับความอุปถัมภ์อย่างอิสระเสรี โดยไม่ยอมให้มีการชักใยอยู่เบื้องหลัง งานของเอ็นจีโอก็น่าจะเดินไปได้ด้วยดี
ยิ่งมีการประสานงานกันอย่างทันท่วงที อย่างมีสามัคคีธรรมเป็นแกนกลาง อย่างปราศจากการเอารัดเอาเปรียบกันและกัน โดนหันไปหาภาคพลเมืองอย่างเท่าเทียม พร้อมที่จะเรียนรู้และเป็นกัลยาณมิตร ดังที่ 'วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์' เป็นตัวอย่างให้เห็นมาก่อนแล้ว
“เอ็นจีโอย่อมวางท่าทีที่ถูกต้องกับการรับความอุปถัมภ์ แต่เอ็นจีโอต้องไม่ตั้งตัวเป็นผู้อุปถัมภ์กับชุมชนรากหญ้าต่าง ๆ ด้วยประการทั้งปวง” .