มีเดียมอนิเตอร์ ชี้ชัด “ทันสถานการณ์ฯ ” ช่อง 11 เอียงข้างรัฐบาล
มีเดียมอนิเตอร์ วิเคราะห์การทำหน้าที่สื่อเพื่อสาธารณะของช่อง 11 ผ่านรายการ “ทันสถานการณ์บ้านเมือง” พบขาดความหลากหลาย เอนเอียงข้างรัฐบาล แนะปรับโครงสร้างอำนาจบริหารองค์กรให้ไม่ขึ้นตรงต่อรัฐบาล
วันที่ 22 เมษายน โครงการเสริมสร้างสื่อมวลชนศึกษาเพื่อสุขภาวะ ออกผลสำรวจรายการโทรทัศน์ประเภทฟรีทีวี ในช่วงวันที่ 1-7 กุมภาพันธ์ 2557 สำหรับโทรทัศน์ประเภทบริการสาธารณะ อันได้แก่ ททบ.5 ช่อง สทท.11 และช่องไทยพีบีเอส นั้น กล่าวได้ว่า ช่อง สทท.11 มีการปรับผังรายการเป็นรายการพิเศษในจำนวนมากที่สุด คือ 4 รายการ ได้แก่ รายการทันสถานการณ์บ้านเมือง รายการช่วยคิดร่วมทำปฏิรูปประเทศ รายการเลือกตั้งคือทางออกปลดล็อกประเทศไทย และ รายการเกาะติดสถานการณ์เลือกตั้ง
โดยรายการ ทันสถานการณ์บ้านเมือง มีการออกอากาศมากที่สุด รวม 17 รายการ และในจำนวนนี้ 11 รายการ เป็นประเด็นเกี่ยวกับการเลือกตั้ง
ดังนั้น มีเดียมอนิเตอร์จึงเห็นควรศึกษาว่า ช่องสทท.11 ในฐานะผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการบริการสาธารณะประเภทที่มีวัตถุประสงค์หลัก คือ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลกับประชาชน และเพื่อส่งเสริมสนับสนุนในการเผยแพร่และให้การศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จะมีการดำเนินการในรายการพิเศษ ประเด็นการเลือกตั้ง อย่างไร
ผลการศึกษา
ด้านเนื้อหา ใน 11 รายการที่นำเสนอประเด็นการเลือกตั้ง ซึ่งแต่ละรายการอาจนำเสนอเนื้อหามากกว่า 1 ประเด็นนั้น เมื่อพิจารณาในประเด็นเกี่ยวกับการเลือกตั้ง พบว่า เนื้อหาที่ถูกนำเสนอมากที่สุด คือ บทบาทที่ไม่เหมาะสมของกลุ่มคัดค้านการเลือกตั้ง (11รายการ) รองลงมา คือ บทบาทที่ไม่เหมาะสมขององค์กรอิสระ (10 รายการ) สนับสนุนและเห็นด้วยกับการเลือกตั้ง ( 9 รายการ) การเลือกตั้งไม่เป็นโมฆะ พบ 8 รายการ
เมื่อวิเคราะห์บทบาทผู้ดำเนินรายการและผู้ร่วมรายการ พบว่า
ดร. วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ ดำเนินรายการมากที่สุด ( 3 รายการ) และยังดำเนินรายการร่วมกับนายจตุพร สุวรรณรัตน์ (4 รายการ) กรณีดำเนินรายการคนเดียว พบว่า ดร. วุฒิพงศ์ มักใช้คำถามเชิงชี้นำ ทั้งร่วมแสดงความคิดเห็น แม้จะเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมรายการได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ แต่ในภาพรวมแล้ว เนื้อหาจะไปในทิศทางว่าการเลือกตั้งมีความชอบธรรม วิพากษ์การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. การทำหน้าที่ของ กกต. และศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นกลาง
สำหรับรายการที่ ดร.วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ ดำเนินรายการร่วมกับ นายจตุพร สุวรรณรัตน์ (4รายการ) พบว่า มีการวางบทบาทไว้ค่อนข้างชัดเจน คือ นายจตุพร สุวรรณรัตน์ ทำหน้าที่คุมการสนทนา ส่วน ดร.วุฒิพงศ์ ทำหน้าที่ถามเสริมเพื่อแตกประเด็นให้น่าสนใจยิ่งขึ้น แต่คำถามส่วนใหญ่มีลักษณะชี้นำ และแทรกความคิดเห็น ที่ในภาพรวมแล้ว สอดคล้องไปในทางเดียวกัน
ผู้ดำเนินรายการอีกคน คือ นายจตุพร สุวรรณรัตน์ (2 รายการ) โดดเด่นในการคุมประเด็นการสนทนา เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมรายการแสดงความคิดเห็นเต็มที่โดยไม่ตัดบท แม้จะพบการถามชี้นำ และแทรกความคิดเห็นบ้าง แต่ในภาพรวมแล้ว เป็นความคิดเห็นที่สอดคล้องไปในทางเดียวกัน
สำหรับ นายศศิพงศ์ ชาติพจน์ ( 2 รายการ) นั้น พบการใช้คำถามชี้นำค่อนข้างมาก ทั้งเปิดให้ผู้ร่วมรายการได้วิพากษ์ฝ่ายที่เห็นต่าง ในขณะที่ผู้ดำเนินรายการแทรกความคิดเห็นที่สอดคล้องไปกับผู้ร่วมรายการ และ พบการตั้งคำถามเพื่อหาทางออกบ้าง
เมื่อพิจารณา ตำแหน่งและบทบาทหน้าที่ของผู้ร่วมราายการในช่วงที่ทำการศึกษา พบว่า จาก 11 รายการที่ศึกษา มีผู้ร่วมรายการรวม 14 คน ส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการ (5 คน)ได้แก่ นายเอกชัย ไชยนุวัติ รองคณบดี คณะนิติศาสตร์ ม.สยาม (3 รายการ) นอกนั้น ร่วมรายการ 1 ครั้ง ได้แก่ ดร.เกษม เพ็ญภินันท์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายเอกรินทร์ ต่วนศิริ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.ภาณุมาศ ขัดเงางาม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
รองลงมา คือ ตัวแทนภาครัฐฝ่ายความมั่นคง ได้แก่ พลโทภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และคณะกรรมการศูนย์รักษาความสงบ(ศรส.) นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และประธานที่ปรึกษา ศรส.
องค์กรศาสนา 2 คน ได้แก่ นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พระเทพมหาเจติยาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดนครปฐม
นักการเมือง 1 คน คือ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังพบผู้ร่วมรายการที่อยู่ในตำแหน่งและบทบาทอื่น ได้แก่ นายสมพงษ์ สระกวี อดีตสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดสงขลา นายจรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายซะการีย์ยา อมตยา กวีซีไรต์ ปี 2553 และนางสาลินี วังตาล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย และอาสาสมัครประจำหน่วยเลือกตั้ง
ผู้ร่วมรายการทั้ง 14 คนนี้ แม้จะมาจากหลายภาคส่วน แต่มีความคิดเห็นไปในทางเดียวกันและสอดคล้องกับผู้ดำเนินรายการ คือ เห็นด้วยและสนับสนุนให้มีการเลือกตั้ง เพราะเป็นการแสดงออกตามสิทธิขั้นพื้นฐานระบอบประชาธิปไตย ที่ทุกคนมี 1 สิทธิ 1 เสียงเท่ากัน วิพากษ์บทบาทองค์กรอิสระ ว่าไม่เป็นกลาง ทั้ง กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ไม่สนับสนุนแนวทางของกลุ่ม กปปส. ที่ขัดขวางการเลือกตั้ง โดยมองว่าละเมิดกฎหมายและสิทธิขั้นพื้นฐาน การเลือกตั้งไม่เป็นโมฆะ โดยอ้างความสำคัญของผู้ใช้สิทธิ 20 ล้านเสียง ซึ่งมีสัดส่วนเกินครึ่งเมื่อเทียบกับการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งผ่านมา รวมถึงกรณีที่พรรค ปชป.อ้างมาตรา 68 เพื่อทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะที่ผู้ร่วมรายการเห็นว่าขัดกับมาตรา 72 ที่ระบุให้คนไทยมีหน้าที่ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
นอกจากนี้ ยังพบการวิพากษ์บทบาทของพระสงฆ์ต่อการเมือง (กรณีพระพุทธอิสระที่เป็นแกนนำกลุ่มขัดขวางการเลือกตั้ง) ทั้งพบว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของกลุ่มรัฐบุคคล (Man of the State) ที่เรียกร้องให้มีนายกรัฐมนตรีคนกลาง และให้ทหารออกมาปฏิรูปประเทศ
จากการสืบค้นข้อมูลบนเว็บไซต์ พบว่า ผู้ดำเนินรายการและผู้ร่วมรายการ ส่วนใหญ่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มแนวคิดทางการเมืองและพรรคการเมือง กล่าวคือ
ดร.วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ เป็นที่ปรึกษานายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และเคยเป็นที่ปรึกษาด้านไอซีทีของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร (พ.ศ.2546)
ส่วนผู้ดำเนินรายการอีก 2 คน ทำงานให้ช่อง Spring News ในฐานะผู้ประกาศข่าว ผู้สื่อข่าวและผู้ดำเนินรายการ
ด้านผู้ร่วมรายการ พบว่า จำนวน 11 คน จาก 14 คน มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มแนวคิดทางการเมือง และพรรคการเมือง คือ เป็นสมาชิกกลุ่มสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) จำนวน 5 คน ได้แก่ ดร.เกษม เพ็ญภินันท์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ นายเอกรินทร์ ต่วนศิริ คณะรัฐศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นายเอกชัย ไชยนุวัติ รองคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายซะการีย์ยา อมตยา กวีซีไรต์ ปี 2553 นางสาลินี วังตาล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศ ซึ่งร่วมกิจกรรม กลุ่มพอกันที หยุดการชุมนุมที่สร้างเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรง (Respect My Vote)
นอกจากนั้น พบความเกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง ดังนี้
พรรคเพื่อไทย พบ 4 คน คือ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ในช่วงเวลาที่ศึกษา ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และคณะกรรมการของศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) และ เป็นหลานนายปรีดา พัฒนถาบุตร อดีตรัฐมนตรี ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณเคยเป็นตำรวจติดตาม
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ในช่วงเวลาที่ศึกษา ดำรงตำแหน่ง รักษาการรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และมีรายชื่อเป็นผู้ลงสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ปี 2557 ลำดับที่ 4
นายจรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในช่วงเวลาที่ศึกษา มีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษา นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และ มีรายชื่อเป็นผู้ลงสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ปี 2557 ลำดับที่ 93
นายสมพงษ์ สระกวี อดีตสมาชิกวุฒิสภา เคยเป็นตัวแทนพรรคเพื่อไทย ร่วมรายการไทยพีบีเอสสัญจร เสียงประชาชน เปลี่ยนประเทศไทย (ภาคใต้) เมื่อ เดือน มิ.ย. 2554 และเคยเป็นที่ปรึกษาหนังสือพิมพ์ไทยเรดนิวส์ที่ถูกระบุว่าเป็นหนังสือพิมพ์ ของกลุ่มคนเสื้อแดง
พรรครักประเทศไทย พบ 1 คน ได้แก่ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย มาร่วมรายการ เนื่องจากถูกทำร้ายขณะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
ขณะที่ผู้ร่วมรายการอีก 3 คน ไม่เกี่ยวข้องกับกับกลุ่มแนวคิดทางการเมืองและพรรคการเมือง ได้แก่ นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พระเทพมหาเจติยาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดนครปฐม และ ดร.ภาณุมาศ ขัดเงางาม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ในฐานะช่อง สสท.11 เป็นสื่อโทรทัศน์เพื่อบริการสาธารณะประเภทที่ 3 ที่มีบทบาทหน้าที่ในการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลกับประชาชน ส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ เป็นพื้นที่สาธารณะในการนำเสนอประเด็นที่อยู่ในความสนใจ/สำคัญ/ส่งผลกระทบต่อส่วนรวม การให้ผู้ชมได้รับความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง แต่มองเห็นทางออกของปัญหา โดยเฉพาะในประเด็นที่เป็นความขัดแย้งของสังคม
การศึกษารายการทันสถานการณ์บ้านเมือง ช่วงวันที่ 1 - 7 กุมภาพันธ์ 2557 ในประเด็นการเลือกตั้ง จำนวน 11 รายการ ผลการศึกษาสะท้อนการทำหน้าที่สื่อโทรทัศน์เพื่อบริการสาธารณะของช่อง สทท. 11 ดังนี้
1. ขาดสมดุล เพราะพบว่าเนื้อหาและการนำเสนอสนับสนุนแนวคิดของรัฐบาลในการจัดการเลือกตั้ง แม้จะพบการนำเสนอเพื่อสร้างความเข้าใจและลดความขัดแย้งของกลุ่มคนที่เห็นต่าง แต่ก็เพียงส่วนน้อย
2. มีแหล่งข้อมูลด้านเดียว แม้ผู้ร่วมรายการจะมาจากหลายภาคส่วน แต่ภาพรวมของข้อมูล ความคิดเห็นเป็นด้านเดียว คือ สนับสนุนการเลือกตั้ง วิพากษ์กลุ่มที่คัดค้านหรือพยายามทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ จากการศึกษา ไม่พบแหล่งข้อมูลฝ่ายที่เห็นต่าง เพื่อให้ได้ความคิดเห็นที่หลากหลายและรอบด้าน
3. สะท้อนการทำหน้าที่สื่อบริการสาธารณะที่ขาดความเป็นอิสระ เพราะทั้งผู้ดำเนินรายการและ ผู้ร่วมรายการส่วนใหญ่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับกลุ่มแนวคิดทางการเมือง พรรคการเมือง และนักการเมืองในกลุ่มรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม จากการสืบค้นข้อมูลทางเว็บไซต์ รวมทั้งข้อมูลที่ปรากฎช่วงเริ่มรายการ (Title) และปิดท้ายรายการ (end title) ไม่พบข้อมูลว่ารายการทันสถานการณ์บ้านเมือง ของช่องสทท.11 ผลิตโดยบริษัทเอกชนรายใด
ข้อเสนอแนะต่อช่อง สทท.11
1. ช่องสทท.11 ควรปรับโครงสร้างอำนาจบริหารองค์กร เพื่อการทำหน้าที่สื่อบริการสาธารณะอย่างมีธรรมาภิบาล ไม่ขึ้นตรงต่อรัฐบาล แต่เป็นสื่อบริการสาธารณะที่มีความเป็นอิสระ และรับผิดชอบต่อประโยชน์สังคม เป็นสำคัญ
2. ช่องสทท.11 ควรกำหนดเกณฑ์จริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพของนักสื่อสารมวลชน อย่างเป็นระบบที่ชัดเจน ทั้งมีการถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด สอดคล้องกับแนวทางของสื่อเพื่อบริการสาธารณะ ประเภทที่ 3 โดยเฉพาะในรายการที่เป็นประเด็นสำคัญ ส่งผลกระทบต่อสังคม และ/หรือเป็นเรื่องที่มีข้อขัดแย้ง ช่องสทท.11 ควรทำหน้าที่เป็นเสมือนพื้นที่สาธารณะในการนำเสนอความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย เพื่อให้เห็นทางออกของปัญหาตามวิถีทางประชาธิปไตย
ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล
รัฐบาลควรส่งเสริมให้สถานีโทรทัศน์บริการสาธารณะ ได้ทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง ให้สื่อโทรทัศน์โดยเฉพาะเพื่อบริการสาธารณะ เป็นสื่อที่สามารถนำเสนอเนื้อหาได้อย่าง เที่ยงตรง ถูกต้อง เป็นธรรม มีความสมดุล และความเป็นธรรม รัฐบาลพึงระมัดระวังการแทรกแซงสื่อเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง
ข้อเสนอต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.)
กสทช.ควรกำหนดหลักเกณฑ์การทำหน้าที่สื่อเพื่อบริการสาธารณะแต่ละประเภทให้ชัดเจน รวมทั้งมีการกำกับดูแลการประกอบการสื่อบริการสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สื่อบริการสาธารณะ ผลิตเนื้อหารายการที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอย่างแท้จริง
ข้อเสนอต่อประชาชนผู้รับสื่อ
ประชาชน/ผู้ชม ต้องใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลจากสื่อมวลชนโดยเฉพาะรายการที่เกี่ยวกับเหตุการณ์และความขัดแย้งทางการเมือง ควรแสวงหาข้อมูลให้รอบด้านจากหลายช่องทาง