ขยับดีขึ้น! สนง.สถิติแห่งชาติเผยคนไทยใช้เวลาอ่านหนังสือ 37 นาที/วัน
สำนักงานสถิติแห่งชาติเผยตัวเลขปี 56 คนไทยอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นเป็น 81.8% เฉลี่ย 37 นาที/วัน นิยมหนังสือพิมพ์มากสุด แนะนโยบายส่งเสริมรักการอ่านต้องลดราคาหนังสือ ปลูกฝังผ่านครอบครัว-สถานศึกษา
วันที่ 22 เมษายน 2557 สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ จัดแถลงข่าว ‘ผลสำรวจการอ่านหนังสือของประชากร พ.ศ.2556’ พร้อมเวทีเสวนา ‘ก้าวต่อไป รณรงค์ส่งเสริมคนไทยรักการอ่าน’ ณ ห้องมินิเธียเตอร์ 1-2 อุทยานการเรียนรู้ต้นแบบและบริการ ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
นายวิบูลย์ทัต สุทันธนกิตติ์ ผอ.สำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวถึงการจัดทำโครงการสำรวจการอ่านหนังสือของคนไทยมีมาแล้ว 4 ครั้ง คือ ปี 2546, 2548, 2551, 2554 และในปี 2556 นับเป็นครั้งที่ 5 เพื่อต้องการสำรวจพฤติกรรมการอ่านหนังสือทุกประเภท นอกเวลาเรียน นอกเวลาทำงาน รวมถึงการอ่านหนังสือในช่วงเวลาพัก ซึ่งรวมการอ่านในสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ด้วย เช่น อินเทอร์เน็ต ซีดี อีบุ๊ค
สำหรับผลการสำรวจปีนี้ปรากฏว่า เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 6 ปี จำนวน 2.7 ล้านคน อ่านหนังสือเองหรือผู้ใหญ่อ่านให้ฟังสูงถึงร้อยละ 58.9 จากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 53.5 โดยเด็กผู้หญิงจะมีอัตราการอ่านเฉลี่ยร้อยละ 60.5 ซึ่งสูงกว่าเด็กผู้ชายเล็กน้อย ร้อยละ 57.3 ในขณะที่เด็กเล็กในกรุงเทพฯ ถือเป็นพื้นที่มีอัตราการอ่านสูงสุด ร้อยละ 70.1
“เด็กเล็กมีการใช้เวลาอ่านบ่อยขึ้น เฉลี่ย 27 นาที/วัน เพิ่มขึ้นจากเดิม 1 นาที ซึ่งเหตุผลส่วนใหญ่ที่ทำให้เด็กเล็กไม่อ่านหนังสือเกิดจากอายุที่น้อยเกินไป”
สำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปนั้น ผอ.สำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่ามีอัตราการอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 81.8 จากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 68.6 เฉลี่ยมีอัตราการอ่านเพิ่มขึ้นทุกกลุ่มวัย โดยกลุ่มเด็กอายุ 6-14 ปี มีอัตราการอ่านสูงสุด ร้อยละ 95.1 ส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีอัตราการอ่านต่ำสุด ร้อยละ 57.8
ซึ่งประเภทของหนังสือที่มีผู้อ่านมากที่สุด คือ หนังสือพิมพ์ ร้อยละ 73.7 รองลงมา คือ วารสาร/เอกสารที่ออกประจำ (ร้อยละ 55.1) ตำรา (ร้อยละ 49.2) นิตยสาร (ร้อยละ 45.6) หนังสือทางศาสนา (ร้อยละ 41.2) นิยาย การ์ตูน หนังสืออ่านเล่น (ร้อยละ 38.5) และแบบเรียนตามหลักสูตร (ร้อยละ 29.5)
“รูปแบบหนังสือที่อ่านของคนไทย ร้อยละ 99.3 นิยมอ่านจากรูปเล่มหนังสือ/เอกสาร อย่างไรก็ตาม การอ่านจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น แท็บเล็ต อีบุ๊ค ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน” นายวิบูลย์ทัต กล่าว และพบว่าผู้อ่านมักใช้เวลาอ่านหนังสือนอกเวลาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 37 นาที/วัน จากเดิม 35 นาที/วัน ซึ่งสถานที่นิยมใช้อ่านหนังสือมากที่สุด คือ บ้าน รองลงมาเป็นสถานที่เอกชน ที่ทำงาน และสถานศึกษา
ผอ.สำนักงานสถิติแห่งชาติ ยังกล่าวถึงข้อเสนอแนะวิธีการรณรงค์ให้คนรักการอ่านจะต้องลดราคาหนังสือให้ถูกลง มีรูปเล่มหรือเนื้อหาที่น่าสนใจ พ่อแม่และสถานศึกษาควรร่วมกันปลูกฝังให้รักการอ่าน ตลอดจนการจัดทำห้องสมุดเคลื่อนที่ มุมอ่านหนังสือชุมชน หรือในพื้นที่สาธารณะอื่น ๆ
ขณะที่ดร.สิริกร มณีรินทร์ ประธานอนุกรรมการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ กล่าวว่า จากข้อมูลเด็กเล็กใช้เวลาอ่านหนังสือ 27 นาที/วัน คนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไป ใช้เวลาอ่านหนังสือ 37 นาที/วัน ได้สะท้อนพ่อแม่ไม่ค่อยมีเวลาอ่านหนังสือกับลูกมากนัก โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ส่วนวัยรุ่นไม่สามารถคิดวิเคราะห์ได้
“เด็กสมัยนี้เขียนไม่เป็น อ่านไม่เป็น คิดวิเคราะห์ไม่เป็น ยิ่งฟังเด็กสมัยนี้พูดด้วยแล้ว จะเห็นว่าทักษะการใช้ภาษาไทยลดน้อยลงมาก”ดร.สิริกร กล่าว และว่า ฉะนั้นจำเป็นต้องผลักดันให้เกิดองค์กรที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการอ่านอย่างจริงจัง เพราะถือเป็นเรื่องที่ต้องทำเพื่อประคับประคองประเทศให้เจริญก้าวหน้ารุ่งเรือง จนสามารถฝ่าวิกฤตได้ ดังเช่น สิงคโปร์และเกาหลี และต้องจัดทำแผนแม่บทระดับชาติที่มียุทธศาสตร์เหมาะสมกับเป้าหมายแต่ละกลุ่ม เพื่อตอบโจทย์อย่างเป็นรูปธรรมด้วย
ด้านนางศกุนตลา สุขสมัย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า เด็กในต่างจังหวัดภายใต้การดูแลของสพฐ. ส่วนใหญ่อยู่ในระดับปานกลางและที่บ้านมักมีหนังสือค่อนข้างน้อย ฉะนั้น อนาคตจะพยายามส่งเสริมให้ห้องสมุดโรงเรียนเป็นที่พึ่งของนักเรียน รวมถึงประชาชนในท้องถิ่นด้วย เช่น ชาวสวน ลูกจ้าง แรงงาน .