แคมเปญสร้างบุญด้วยเงิน ‘พิสุทธิ์ เกรียงบูรพา’ ชี้วัดมักง่ายทำคนหลงเมาบุญ
เร็ว ๆ นี้ สำนักพิมพ์สุขภาพใจ ร่วมกับสวนโมกข์กรุงเทพฯ จัดเวทีเสวนา “ครั้งหนึ่งของลูกผู้ชาย ‘บวชเรียน’ ครอบครัวได้อะไร” ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ โดยมี‘พิสุทธิ์ เกรียงบูรพา’ เจ้าของผลงาน ‘ธรรมะชิว ๆ’ เล่ม 1-4 ให้เกียรติร่วมพูดคุย
พิสุทธิ์ เริ่มต้นอธิบายว่า การบวชคือการละเว้นจากปัญหาทางโลก การออกจากอุปสรรคทางวิญญาณ เป็นการทำนิพพานให้แจ้ง โดยที่ไม่ต้องไปอยู่กับความวุ่นวายแบบอุบาสกอุบาสิกา ซึ่งจากประสบการณ์การบวชในวัดป่าตอนอายุ 40 ปีของผมและการบวชเณรของลูกชายในวัดเดียวกัน(แต่ต่างวาระ)นั้น ทำให้ได้อยู่กับตัวเองจริงจัง หลีกหนีจากสิ่งรุมเร้าภายนอก มีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ไม่นอกลู่นอกทาง อาจจะมีบ้าง แต่เมื่อมีสติก็สามารถกลับมาทางเดิมได้ รวมถึงยังทำกิจวัตรและเข้าถึงหลักธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากขึ้น
เมื่อถามว่าคฤหัสถ์จะสามารถรู้แจ้งในทางธรรมได้โดยไม่ต้องบวชหรือไม่ เขาตอบทันทีว่าได้ โดยการ ‘บวชใจ’ ดับตัณหา อุปาทานให้สิ้นหรือบรรเทาลง แม้จะอยู่ท่ามกลางสังคมวัตถุอย่างไรก็ต้องป้องกันไม่ให้เข้ามาทำร้ายเราได้ เป็นสิ่งที่ชาวพุทธควรทำ
“การบวชใจของคฤหัสถ์กับการบวชของบรรพชิต แม้มีจุดมุ่งหมายเหมือนกัน คือ ‘รู้นิพพานให้แจ้ง’ แต่การบวชของผู้นุ่งห่มผ้าเหลืองนั้นเป็นการอยู่ในระบบระเบียบที่ป้องกันผู้ที่อยากรู้แจ้งจากสิ่งมอมเมา และการทำวัตรเช้าเย็นนั้นเป็นระบบที่สร้างให้เกิดสมาธิและเข้าถึงพระธรรมคำสอนด้วยบทสวดมนต์” พิสุทธิ์กล่าว และว่าต่างจากการบวชใจของผู้ครองเรือนที่ยังอยู่ในโลกที่สับสนวุ่นวาย ไม่มีระบบป้องกันการเข้ามาของกิเลสตัณหาและอวิชชา ซึ่งสามารถหลุดพ้นได้เหมือนกัน แต่อาจลำบากหน่อย
ทั้งนี้เขาได้เน้นย้ำว่า สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่าลงมือทำ หากได้บวชแล้วจะได้รู้ว่าพระธรรมคำสอนและจิตใจที่เบิกบานเป็นอย่างไร
เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อพระพุทธศาสนาในปัจจุบัน พิสุทธิ์ตอบว่า คนไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธเพียงแค่เปลือกและให้มีศาสนาปรากฏในบัตรประชาชน เน้นพิธีกรรมและการติดบุญเมาบุญเสียเป็นส่วนใหญ่ ทำเพื่อหวังเกิดสบายจนลืมหลักสำคัญของศาสนาพุทธไปว่าทำเพื่อละทิ้ง
ส่วนการอุปสมบทหมู่เชื่อว่าจะได้ประโยชน์ไม่มาก เพราะส่วนใหญ่มักมีเป้าประสงค์บางอย่าง เว้นแต่พระบางรูปที่บวช เพื่อความอยากรู้แจ้งจริง ๆ และศึกษาพระธรรมต่อก็จะได้ประโยชน์ มิฉะนั้นแล้วอาจจะพาให้หลงทางได้
ศิลปินธรรมะผู้นี้ ยังกล่าวไม่เห็นด้วยกับการทำบุญด้วยเงินจำนวนมาก อันเกิดจากความมักง่ายของวัด สร้างแคมเปญทางการตลาด เพื่อหวังนำเงินไปก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ ซึ่งกุศโลบายที่สร้างขึ้นมานั้น ทำให้คน ‘เมาบุญหลงบุญ’ ทั้งที่ความจริงแล้วควรกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนก่อนว่านิพพานคืออะไร นับถือศาสนาพุทธเพื่ออะไร แล้วจะทำให้การทำบุญเพื่อเสริมศรัทธานั้นถูกต้อง
“บุญใครจะมากหรือน้อยไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณเหมือนการใช้สูตรคณิตศาสตร์ หากแต่ขึ้นอยู่กับจิตใจของผู้ทำบุญว่ามีความบริสุทธิ์ของเนื้อนาบุญมากน้อยเท่าไหร่ จึงจะได้ปริมาณบุญตามเนื้อนาบุญนั้น” พิสุทธิ์เน้นย้ำ
สำหรับปัญหาการกระทำผิดของพระสงฆ์ที่มีมากขึ้นนั้น เขามองว่าพระสงฆ์ได้ยึดติดในสมณศักดิ์มานานแล้ว อาจจะมาแล้วก็ไป จึงอยากให้มองเป็นเรื่องของปัจเจกชน พระพุทธศาสนาก็จะไม่มีเสื่อม เพราะธรรมะของพระพุทธองค์ไม่ขึ้นอยู่กับกาล อย่างไรก็ตาม อยากให้พระสงฆ์ตั้งมั่นในการนำแก่นธรรมเผยแผ่ให้ชาวพุทธเข้าใจจริง ๆ เพราะเมื่อฆราวาสแข็งแรงมากขึ้นจะสามารถประกบพระสงฆ์ที่มีพฤติกรรมออกนอกลู่นอกทางเอง
“พระศาสนาจะอยู่ต่อได้ก็ด้วยความเข้มแข็งของคฤหัสถ์และบรรพชิต หากทั้งสองส่วนนี้เข้มแข็ง ศาสนาจะอยู่รอดได้ โดยประชาชนเข้าถึงธรรมะอันเหนือกาล (อกาลิโก) ของพระพุทธองค์ และคอยสอดส่องดูแลพระสงฆ์ให้อยู่ในครรลอง ส่วนพระสงฆ์เองก็ต้องสอนพุทธวจนะ ธรรมะที่แท้จริงแก่ฆราวาสเพื่อให้รู้สัจธรรม ศาสนาจะไม่มีเสื่อมแน่นอน ด้วยหากเราบวชด้วยความใฝ่รู้ในธรรม และถึงแม้เราไม่ได้บวชก็ยังทำนุบำรุงศาสนาได้ด้วยประการฉะนี้” พิสุทธิ์ทิ้งท้าย .
ภาพประกอบ:เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์