รัฐให้ข้อมูลสุดสับสนปมรวบ "ฮิซบุลลอฮ์" กอ.รมน.รับมีโอกาสก่อเหตุในไทย
ฝ่ายความมั่นคงไทยตั้งแต่ระดับรัฐมนตรีถึงโฆษกหน่วยงาน ยอมรับว่ามีการจับกุมบุคคลต้องสงสัยเป็นสมาชิกกลุ่ม "ฮิซบุลลอฮ์" กลางกรุงเทพฯจริง แต่กลับให้ข้อมูลสับสนเรื่องจำนวนบุคคลที่ถูกควบคุมตัว สถานที่จับกุม และความเป็นไปได้ในการปฏิบัติการความรุนแรงในประเทศไทย
"เฉลิม"แอ่นอกสั่งจับเองคาสนามบิน
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) กล่าวถึงข่าวการปรากฏตัวในประเทศไทยของ นายยูเซฟ อายัด, นายดาอุด ฟาร์ฮัท และ นายไบลัล บาห์ซุน ผู้ต้องสงสัยเป็นสมาชิกกลุ่มฮิซบุลลอฮ์ และสองคนแรกถูกทางการไทยรวบตัวแล้ว ว่า เป็นคนสั่งจับเอง โดยจับกุมได้ที่กรุงเทพฯขณะลงเครื่องบิน ส่วนเรื่องราวเป็นมาอย่างไรไม่ขอบอก แต่พวกฮิซบุลลอฮ์กับอิสราเอลขัดแย้งกันมานาน และอเมริกาก็กลัว เพราะครั้งหนึ่งเคยระเบิดนาวิกโยธินเสียชีวิต
"ผมเคยสั่งจับครั้งแรกสมัยเป็นรองนายกฯ (จับ นายอาทริส ฮุสเซน ชาวเลบานอน เมื่อปี 2555) คราวนี้สั่งจับในฐานะ ผอ.ศอ.รส. แม้ไม่ได้คุมตำรวจ แต่ได้บอกสันติบาล สมช. (สภาความมั่นคงแห่งชาติ) และ พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รองผบ.ตร. (รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ) ให้หิ้ว ส่วนจะเข้ามากี่คนขอไม่บอก ตอนนี้คนที่ถูกจับได้เก็บไว้ที่เซฟเฮาส์ การดำเนินการต่อไปก็เป็นไปตามระบบราชการและวิธีทางการทูต และการเมือง" ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว
"วรพงษ์"บอกจับได้ 3 คนที่สุวรรณภูมิ
ด้าน พล.ต.อ วรพงษ์ ชิวปรีชา รอง ผบ.ตร. กล่าวว่า การจับกุมผู้ต้องสงสัยเป็นเครือข่ายฮิซบุลลอฮ์ทั้ง 3 คนเป็นการประสานงานระหว่างหน่วยงานความมั่นคงซึ่งได้ติดความเคลื่อนไหวของเครือข่ายก่อการร้ายสากลมาระยะหนึ่งแล้ว โดยในทางการข่าวทราบว่าทั้ง 3 คน จะเดินทางเข้าไทย จึงได้เข้าควบคุมตัวได้ขณะเดินทางโดยเครื่องบินมาลงที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
ทั้งนี้ ข้อมูลด้านการข่าวมีความเป็นไปได้ว่าเป้าหมายของกลุ่มฮิซบุลลอฮ์ อาจเป็นชาวอิสราเอลที่พักในประเทศไทย แต่ยังไม่พบข้อมูลว่ากลุ่มเหล่านี้จะก่อเหตุในไทย ยังอยู่ระหว่างการขยายผลเพื่อยืนยันจำนวนตัวบุคคลที่ร่วมขบวนการว่ามีจำนวนเท่าไหร่ หลังจากนั้นจะมีการผลักดันออกนอกประเทศไปยังประเทศต้นทาง
ผบ.ตร.แย้มจับพร้อมวัตถุอันตราย
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวว่า ผู้ต้องสงสัยทั้ง 3 คนยังอยู่ในความควบคุมของตำรวจเพื่อสอบสวนขยายผล ซึ่งจากคำให้การของผู้ต้องสงสัยทำให้สามารถตรวพบวัตถุอันตราย แต่ยังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ว่าเป็นวัตถุชนิดใด และยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นการนำเข้ามาก่อเหตุร้ายในประเทศไทยหรือไม่ ต้องสืบสวนขยายผลอย่างละเอียดต่อไป
แหล่งข่าวจากชุดสืบสวน เผยว่า จากการสอบปากคำผู้ต้องสงสัยทั้ง 3 คนยังคงให้การวกวน ทำให้เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถหาพยานหลักฐานที่บ่งชี้ได้ว่ามีเตรียมการก่อเหตุในประเทศไทยจริงหรือไม่ ส่วนขั้นตอนทางการทูตนั้น อยู่ระหว่างการตรวจสอบหนังสือเดินทาง เพื่อให้ชัดเจนว่าผู้ต้องสงสัยทั้งหมดมาจากประเทศใด ก่อนที่จะส่งเรื่องไปยังสถานทูตเพื่อผลักดันออกนอกประเทศต่อไป โดยภายในสัปดาห์หน้าจะสามารถแจ้งไปยังสถานทูตได้ ขณะที่การขยายผลติดตามเครือข่ายของผู้ต้องสงสัยกลุ่มนี้ ยังไม่สามารถยืนยันจำนวนได้ว่ามีอยู่เท่าใด
อย่างไรก็ดี จากการสอบสวนเบื้องต้นยังไม่พบความเชื่อมโยงของผู้ต้องสงสัย 3 รายนี้กับกรณีการจับกุม นายอาทริส ฮุสเซน อายุ 49 ปี ชาวเลบานอน ที่เชื่อว่าอาจเป็นเครือข่ายฮิซบุลลอฮ์ และขยายผลไปตรวจค้นโกดังเก็บสารประกอบระเบิดจำนวนมากที่ จ.สมุทรสาคร เมื่อต้นปี 2555 และเพิ่งถูกศาลสั่งจำคุก 2 ปี 8 เดือนไปเมื่อปลายปีที่แล้ว
แจงจับแค่ 2 คาห้องพัก-ยึดสารระเบิด
มีรายงานจากแหล่งข่าวหน่วยงานด้านความมั่นคงซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการจับกุมผู้ต้องสงสัยเครือข่ายฮิซบุลลอฮ์ว่า บุคคลที่ถูกจับกุมมีเพียง 2 คน และจับกุมได้ในห้องเช่าย่านนานา กับโรงแรมแห่งหนึ่งในเขตกรุงเทพฯชั้นใน
นอกจากนั้น ในห้องพักของผู้ต้องสงสัย 1 ใน 2 ราย ยังพบวัตถุหรือสารที่อาจนำไปใช้ประกอบระเบิดได้ ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการตรวจพิสูจน์ โดยการจับกุมเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งตรงกับเทศกาลเฉลิมฉลองพาสโอเวอร์ของชาวยิว
กอ.รมน.เปิดกฎหมายเตรียมผลักดันออก
พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวว่า ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ว่าสามารถจับกุมชายต่างชาติได้ 2 คนในโรงแรมแห่งหนึ่งย่านซอยนานาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ซึ่งไม่ใช่สนามบินสุวรรณภูมิตามที่เป็นข่าว ผู้ต้องสงสัยทั้ง 2 คนถือพาสปอร์ตประเทศฝรั่งเศสและฟิลิปปินส์ โดยระบุประเทศเกิดคือเลบานอน
อย่างไรก็ตาม จากการรายงานข่าวของสื่อต่างประเทศที่ระบุว่าทั้งสองคนเป็นสมาชิกกลุ่มฮิซบุลลอฮ์นั้น ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการตรวจสอบ แต่ยังไม่พบข้อมูลชัดเจนว่าเป็นสมาชิกกลุ่มฮิซบุลลอฮ์จริงหรือไม่ และหากเกี่ยวข้องจริงก็น่าจะคนเดียวเท่านั้น
"ขณะนี้สถานะของทั้ง 2 คนยังเป็นผู้ต้องสงสัย ซึ่งตาม พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 12 (7) และ (11) ระบุว่าหากคนต่างด้าวราวใดมีพฤติการณ์น่าเชื่อได้ว่าเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคม หรือจะก่อเหตุร้ายให้เกิดอันตรายต่อความสงบสุขหรือความปลอดภัยของประชาชนหรือความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือบุคคลที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างประเทศได้ออกหมายจับ จะต้องเพิกถอนสิทธิการอยู่อาศัยในราชอาณาจักร และผลักดันบุคคลดังกล่าวออกนอกประเทศตามช่องทางที่เหมาะสม" โฆษก กอ.รมน.กล่าว
รับอาจก่อเหตุในไทย-ปัดเอี่ยวชายแดนใต้
ต่อข้อถามถึงการเฝ้าระวังกลุ่มก่อการร้ายต่างๆ ที่มักหลบหนีหรือเข้ามากบดานในประเทศไทยนั้น พ.อ.บรรพต กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเปิด เป็นประเทศเสรี ไม่มีข้อขัดแย้งทางอุดมการณ์กับประเทศใด จึงไม่ใช่เป้าหมายของกลุ่มก่อการร้ายโดยตรง แต่การเปิดเสรีก็อาจทำให้เป็นแหล่งพักพิง หลบซ่อน หรือจัดหาสิ่งสนับสนุนให้ขบวนการได้ ยอมรับว่าโอกาสที่จะมีการก่อเหตุในประเทศไทยก็มีความเป็นไปได้ เพราะไทยมีความสัมพันธ์อันดีกับนานาชาติ จึงเป็นที่ตั้งของสถานกงสุลและสถานทูตประเทศต่างๆ จำนวนมาก และหลายประเทศก็เป็นคู่ขัดแย้งกันอยู่
ส่วนมาตรการรักษาความปลอดภัยสถานกงสุลหรือสถานทูตต่างๆ นั้น ขณะนี้ยังเป็นไปตามปกติ ไม่มีการยกระดับเป็นพิเศษ เพราะแต่ละสถานทูต หรือสถานกงสุล ก็มีมาตรการรักษาความปลอดภัยของตัวเองดีอยู่แล้ว
"หากบุคคลที่ถูกจับกุมได้เป็นกลุ่มฮิซบุลลอฮ์จริง ก็ต้องเข้าใจว่ากลุ่มนี้ไม่มีเป้าหมายโจมตีสถานบันเทิง แหล่งท่องเที่ยว หรือย่านเศรษฐกิจ และมีเพียง 2 ประเทศที่ขึ้นบัญชีเป็นกลุ่มก่อการร้าย คือ ประเทศอิสราเอล กับสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ในขณะที่ประเทศเลบานอนยกระดับกลุ่มนี้เป็นพรรคการเมืองแล้ว ทั้งนี้ขอให้ประชาชนสบายใจและอย่าตื่นตระหนกกับข่าวที่เกิดขึ้น เพราะกลุ่มฮิซบุลลอฮ์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับขบวนการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือขบวนการเจไอ (เจมาห์ อิสลามิยาห์) หรืออัลกออิดะห์ แต่ยอมรับว่าการที่สื่อต่างชาติเร่งประโคมข่าวกับการจับกุมผู้ต้องสงสัย 2 คน ทำให้กระบวนการสอบสวนขยายผลมีข้อจำกัดเพิ่มขึ้น" โฆษก กอ.รมน.ระบุ
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : เนื้อหาข่าวบางส่วนจากสำนักข่าวเนชั่น