ความเห็น"ป.ป.ช. – ศาลรธน."ฉบับเต็ม!โต้ ศอ.รส.ปมตัดสินคดี"ยิ่งลักษณ์"
เปิดเอกสารฉบับเต็ม “คณะกรรมการ ป.ป.ช. – ศาลรัฐธรรมนูญ” โต้แถลงการณ์ “ศอ.รส.” ปมตัดสินคดี"ยิ่งลักษณ์"
กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันเกรียวกราว
พลันที่ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา โดยมีความตอนหนึ่งพาดพิงถึง “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)” กรณีพิจารณาโครงการรับจำนำข้าว โดยระบุใจความสำคัญก็คือ ต้องการให้ทำหน้าที่อย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ อย่าสองมาตรฐาน
และ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ที่เตรียมพิจารณากรณีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่ระบุว่า ต้องวินิจฉัยห้ามเกินเลยไปจากรัฐธรรมนูญ รวมถึงห้ามวินิจฉัยให้คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งนั้น
(อ่านประกอบ : ศอ.รส."ลั่น"ทูลเกล้าฯ หากศาลรธน.วินิจฉัยคดี "ยิ่งลักษณ์" เกินอำนาจกม. )
ต่อมาเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2557 ทั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ทำหนังสือโต้แย้ง “ศอ.รส.” กรณีถูกพาดพิงอย่างเร่งด่วน
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ขอนำรายละเอียดจากหนังสือ “ฉบับเต็ม” ของทั้ง 2 หน่วยงานมานำเสนอ “แบบชัด ๆ” ดังนี้
คณะกรรมการ ป.ป.ช.
นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ออกหนังสือชี้แจงความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 เรื่องข้อเรียกร้องต่อฝ่ายต่าง ๆ เพื่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยของบ้านเมืองในขณะนี้ และมีข้อเรียกร้องถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการพิจารณาดำเนินคดีและมีคำวินิจฉัยต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในกรณีโครงการรับจำนำข้าวอย่างตรงไปตรงมาตามข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายโดยไม่เลือกปฏิบัติเป็น 2 มาตรฐาน ที่แตกต่างกันระหว่างของพรรคฝ่ายค้านกับพรรคฝ่ายรัฐบาล โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องปฏิบัติตามจริยธรรมอันเป็นมาตรฐานสำคัญของการปฏิบัติหน้าที่ด้วยนั้น
สำนักงาน ป.ป.ช. ขอเรียนชี้แจงข้อมูลในกรณีดังกล่าว ดังนี้
1.การดําเนินการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ย่อมอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 3 วรรค 2 ที่ว่า “การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม” ซึ่งหมายถึงการไม่กระทําตามอําเภอใจ การใช้หลักเหตุผล หลักกฎหมายและหลักความ เท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายเดียวกัน โดยเคร่งครัดปราศจากอคติ แม้จะถูกข่มขู่ คุกคาม ก้าวร้าวและมีการกระทํารุนแรงจากบุคคลบางกลุ่ม คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ไม่เคยท้อถอยและละทิ้งต่อการทําหน้าที่ตามหลักนิติธรรม
2.การที่ ศอ.รส. ได้ออกแถลงการณ์ดังกล่าว นับว่าเป็นการหมิ่นเหม่ต่อการที่อาจทําให้สาธารณชนเห็นได้ว่า มีการแทรกแซงการทํางานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จากฝ่ายบริหาร อันไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม และกดดันให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. วินิจฉัย หรือใช้ดุลพินิจไปในทางที่ฝ่ายบริหารต้องการ ซึ่งย่อมไม่เป็นผลดีต่อการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ
ศาลรัฐธรรมนูญ
สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มีหนังสือชี้แจงกรณีศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 โดยนายชัยเกษม นิติสิริ รักษาการรมว.ยุติธรรม ในฐานะรองผู้อำนวยการ ศอ.รส. และนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะเลขาธิการ ศอ.รส. ร่วมกันแถลงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาและมีคำวินิจฉัยในกรณีที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ถูกกล่าวหาว่าก้าวก่ายโดยแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) อย่างตรงไปตรงมา และจะต้องไม่วินิจฉัยเกินเลยไปถึงขนาดว่าหากความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดแล้ว คณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 โดยจะอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ตามรัฐธรรรมนูญ มาตรา 181 อีกไม่ได้นั้น
การออกแถลงการณ์หรือการให้ข้อมูลข่าวสารของ ศอ.รส. ซึ่งเป็นศูนย์อำนวยการหรือหน่วยงานของฝ่ายบริหาร มีลักษณะเป็นการก้าวก่ายและแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นองค์กรตุลาการหนึ่งในอำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ โดย ศอ.รส. มีอำน่าจหน้าที่หลักรับผิดชอบในการป้องกัน ปราบปราม ระงับยับยั้ง และแก้ไข หรือบรรเทาเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551
“การแถลงการณ์ของ ศอ.รส. ข้างต้น เป็นการคาดการณ์ว่า เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มีลักษณะคุกคาม ก้าวล่วงการใช้ดุลยพินิจของตุลาการและศาล ซึ่งมีผลเป็นการทำลายชื่อเสียง ความเชื่อถือศรัทธาของรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการกระทำที่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวที่กำหนดให้ ศอ.รส. เป็นหน่วยงานที่ปฏิบัติงานเพื่อป้องกันภยันตรายอันเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศเท่านั้น”
การพิจารณาวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ดังที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 197 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติไว้ และต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ก่อนเข้ารับหน้าที่ การปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย หากการดำเนินงานของ ศอ.รส. กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ จะพิจาณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป