คดีอัลรูไวลี่ยังไม่จบ....สมาพันธ์คณะกรรมการอิสลามใต้แถลงจี้อัยการยื่นอุทธรณ์
สมาพันธ์คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 15 จังหวัดภาคใต้ ร่วมประชุมและออกแถลงการณ์เรียกร้องให้อัยการยื่นอุทธรณ์คดีอุ้มฆ่า นายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี่ นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย ที่ศาลอาญาพิพากษายกฟ้องกลุ่มจำเลยซึ่งเป็นอดีตตำรวจ 5 นาย
ทั้งนี้ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 15 จังหวัดภาคใต้ นำโดย นายกริยา กิจจารักษ์ ประธานสมาพันธ์กรรมการอิสลามประจำจังหวัด 15 จังหวัดภาคใต้ พร้อมด้วยประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและผู้แทนของ จ.ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล สงขลา พัทลุง ตรัง นครศรีธรรมราช กระบี่ ภูเก็ต พังงา ประจวบคีรีขันธ์ และสุราษฎร์ธานี ประชุมกันที่โรงแรมปาร์ควิว รีสอร์ท ปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี เมื่อวันพุธที่ 16 เม.ย.2557 และได้มีมติเป็นเอกฉันท์ในนามสมาพันธ์คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 15 จังหวัดภาคใต้ เกี่ยวกับคดีอุ้มฆ่า นายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี่ ซึ่งศาลอาญามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 31 มี.ค.2557 ให้ยกฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 พร้อมพวกรวม 5 คน ดังนี้
1.สมาพันธ์ฯมีความกังวลและเป็นห่วงต่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างองค์กรศาสนา องค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อันจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมสำคัญทางศาสนา ภาครัฐ สังคม ตลอดจนความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับประชาคมโลกมุสลิม และอาจส่งผลกระทบต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
2.สมาพันธ์ฯ มีข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้
2.1 ให้นำผลพิจารณาคดีทั้งหมดที่ผ่านกระบวนการยุติธรรม ทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมกระบวนการพิจารณาคดีอย่างยุติธรรม
2.2 องค์กรสูงสุดของศาสนาอิสลามพร้อมและเต็มใจให้คำแนะนำตลอดจนข้อเสนอแนะต่อองค์คณะผู้พิจารณาคดี
2.3 เรียกร้ององค์กรศาสนาอิสลามทั้งในและต่างประเทศร่วมขอดุอาต่ออัลลอฮ (ซบ.) เพื่อให้บังเกิดความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย โดยหลักการแห่งอิสลาม การดำเนินการใดๆ ก็ตามที่ขาดซึ่ง "ความยุติธรรม" กิจการนั้นๆ จะนำไปสู่ "ความวิบัติ" ทั้งส่วนตัวและสังคมโดยรวม
พร้อมกันนี้ สมาพันธ์ฯจะนำแถลงการณ์ดังกล่าวส่งต่อให้ สถานทูตซาอุดิอาระเบียประจำประเทศไทย สำนักจุฬาราชมนตรี สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ และสถานการศึกษาทุกแห่งต่อไป
เส้นทางคดีอัลรูไวลี่
อนึ่ง คดีการหายตัวไปของ นายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี เป็นหนึ่งในหลายๆ คดีที่เกี่ยวกับซาอุดิอาระเบียเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว ที่ทำให้ประเทศไทยจำต้องถูกรัฐบาลซาอุฯลดระดับความสัมพันธ์ จนส่งผลถึงตลาดแรงงานมูลค่ามหาศาล ซึ่งทุกๆ รัฐบาลที่ผ่านมาก็พยายามแก้ไข แต่แทบไม่มีอะไรดีขึ้น
โดยคดีที่คาใจรัฐบาลซาอุฯ เกี่ยวกับการดำเนินการในกระบวนการยุติธรรมของไทย มีอยู่ 4 คดีหลักๆ คือ
4 ม.ค.2532 คดีฆาตกรรม นายซอและห์ อัลมาลิกิ เจ้าหน้าที่สถานทูตซาอุฯประจำประเทศไทย
6 ส.ค.2532 นายเกรียงไกร เตชะโม่ง คนงานไทยชาว จ.ลำปาง ซึ่งทำงานอยู่ในพระราชวังของกษัตริย์ไฟซาลแห่งซาอุดีอาระเบียก่อคดีขโมยเครื่องเพชรจำนวนนับร้อยรายการ มูลค่ามหาศาลของเจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด
1 ก.พ.2533 คนร้ายใช้อาวุธปืนยิง นายอับดุลเลาะห์ เอ อัลเบซาร์รีห์ เลขานุการโท นายฟาฮัด เอ แซด อัลปาฮลี เลขานุการโท และนายอาหะหมัด เอ อัล ซาอีพ ผู้ช่วยเลขานุการ สถานทูตซาอุฯ เสียชีวิตต่างสถานที่กัน
12 ก.พ.2533 นายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี่ นักธุรกิจชาวซาอุฯ เจ้าของบริษัทจัดหาแรงงาน หายตัวไปอย่างลึกลับ
แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น คดีที่ทางการซาอุฯติดใจมากที่สุด คือ คดีอุ้มหาย นายอัลรูไวลี่ เพราะเขาเป็นพระญาติของกษัตริย์ไฟซาล และเป็นคดีที่ชัดเจนที่สุดว่ามีเจ้าหน้าที่ไทยเกี่ยวข้องโดยตรง ขณะที่คดีฆ่านักการทูตหลายคนของซาอุฯในห้วงเวลานั้น ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่ามีปมเงื่อนจากความขัดแย้งทางนิกายของศาสนาอิสลามนอกประเทศไทย แต่มีการส่งทีมไปตามฆ่าการทูตซาอุฯในประเทศต่างๆ
คดีนี้หลังเกิดเหตุไม่นาน ได้มีการสืบสวนสอบสวนทำสำนวน กระทั่งพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องไปครั้งหนึ่งแล้วเมื่อปี 2536 ทว่าได้ถูกพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่ในราวปี 2551 และอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 12 ม.ค.2553 ก่อนคดีจะขาดอายุความเพียง 1 เดือน
ผู้ต้องหาคนสำคัญคือ พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ซึ่งขณะถูกฟ้องดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5
คดีนี้ถือเป็นคดีแปลกประหลาดและสร้างความพิศวงงงงวยในหลายๆ เรื่อง เริ่มตั้งแต่การตั้งประเด็นกล่าวหาและพิสูจน์ข้อกล่าวหาโดยใช้พยานแวดล้อมทั้งหมด เนื่องจากไม่มีประจักษ์พยานใดๆ เลย สาเหตุหนึ่งมาจากคดีเกิดขึ้นมานานกว่า 20 ปีแล้ว
นอกจากนั้น ยังมีการปรากฏของ "แหวน" ที่อ้างว่าเป็นของ นายอัลรูไวลี่ และสวมใส่อยู่ขณะเกิดเหตุจำนวน 1 วง โดยพนักงานสอบสวนอ้างเป็นวัตถุพยานชิ้นสำคัญของคดี ทั้งยังมีการสืบพยานที่เชื่อกันว่าเป็นพยานปากเอกอย่าง พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก อดีตตำรวจที่ถูกออกหมายจับในข้อหาฉกรรจ์ คือ ร่วมกันฆ่าแกนนำขบวนการต่อต้านลาว จนต้องไปสืบพยานกันนอกราชอาณาจักร แต่ก็ถูกคัดค้านอย่างเต็มที่จากกลุ่มจำเลย รวมทั้งเงื่อนปมเกี่ยวกับ "แหวนของกลาง" ที่ไม่เคยปรากฏในสำนวนมาก่อนเลย และยังมีข้อวิจารณ์เกี่ยวกับการเปลี่ยนตัวองค์คณะผู้พิพากษาช่วงก่อนการตัดสินไม่นาน
กระทั่งวันที่ 31 มี.ค.2557 ศาลอาญาได้พิพากษายกฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด และพวก โดยศาลพิเคราะห์ว่าพยานหลักฐานไม่มีความมั่นคงหนักแน่นเพียงพอ โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับ "แหวนของกลาง" ที่ศาลสงสัยว่าเป็นการสร้างพยานหลักฐานขึ้นใหม่หรือไม่ เพราะไม่มีความชัดเจนเรื่องที่มา เนื่องจากครอบครัวของนายอัลรูไวลี่เองก็ไม่ได้ให้การยืนยัน
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : การแถลงข่าวของสมาพันธ์กรรมการอิสลามประจำจังหวัด 15 จังหวัดภาคใต้
ขอบคุณ : ทีมประชาสัมพันธ์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เอื้อเฟื้อภาพ