จัดการตนเองด้วยสถาบันการเงินชุมชน ที่ต.กำแพงเพชร จ.สงขลา
ตำบลกำแพงเพชร อ.รัตภูมิ จ.สงขลา มี 11 หมู่บ้าน ประชากร 3,336 ครัวเรือน มีทั้งนับถือศาสนาพุทธและอิสลาม ส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนยางพารา ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาปัญหาสาธารณะของชุมชนที่สำคัญ คือเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและที่สาธารณะประโยชน์กว่า 4,528 ไร่ ปัจจุบันมีการแก้ปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยด้วยทุนของชุมชนไปแล้วกว่า 1,000 ครัวเรือน รวมทั้งปัญหาหนี้สิน การลงทุนและประกอบอาชีพ พร้อมวางระบบส่งเสริมการออมและสวัสดิการชุมชนอย่างต่อเนื่อง
กลุ่มองค์กรชุมชนคือรากฐานการพัฒนา
ในตำบลมีกลุ่มองค์กรชุมชนที่หลากหลาย ทั้งกลุ่มออมทรัพย์ กองทุนหมู่บ้าน กลุ่มสตรี กลุ่มอาชีพ กลุ่มอสม.กว่า 80 องค์กร นับเป็นต้นทุนทางสังคมในการพัฒนาและแก้ปัญหาของชุมชนมากว่ากว่าหนึ่งทศวรรษ ปัจจุบันมีกลุ่ม องค์กรที่ร่วมจดแจ้งจัดตั้งเป็นสภาองค์กรชุมชนจำนวน 70 องค์กร
สถาบันการเงินของชุมชนเป็นแกนกลางในการพัฒนา
นับตั้งแต่ปี 2549 ที่มีเวทีประชาคมให้มีการบูรณาการทุนของกลุ่มองค์กรชุมชนในตำบล 24 กลุ่ม ยกระดับเป็นสถาบันการเงินชุมชนตำบลกำแพงเพชร ด้วยเงินหมุนเวียนจำนวน 1,140,000 บาท มีสมาชิกแรกเริ่ม 164 คน ปัจจุบัน ณ เดือนมีนาคม 2557 มีสมาชิก 3,123 คน เงินทุนหมุนเวียนกว่า 30 ล้านบาท
โดยมีคณะกรรมการ 2 ชุด ทำหน้าที่บริหารคือคณะกรรมการดำเนินการฯ ทำหน้าที่เชิงนโยบาย ซึ่งมาจากตัวแทนของ 11 หมู่บ้านๆละ 2 คน รวม 22 คน และคณะกรรมการบริหารอีก 15 คน โดยใช้หลักธรรมทางศาสนาและภูมิปัญญาของชุมชน ในการบริหารและทำธุรกิจ โดยสถาบันการเงิน ได้จัดระบบการฝากกับสถาบันการเงินฯใน 4 ประเภทคือการฝากหุ้น (มูชารอกะฮ์) การฝากออมทรัพย์วาดิอะฮ์ (ฝากรักษาทรัพย์) ฝากประจำมูฎอรอบะฮ์ (ฝากประจำลงทุน) และฝากออมทรัพย์ (สัจจะสะสมทรัพย์)
เป้าหมายของสถาบันการเงินฯคือการพัฒนาและแก้ปัญหาร่วมของชุมชน
การจัดตั้งสถาบันการเงินชุมชนตำบลกำแพงเพชร มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาและแก้ปัญหาร่วมของคนในตำบล ได้แก่การปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย การส่งเสริมการออม การแก้ปัญหาหนี้สิน การส่งเสริมการลงทุนและการประกอบอาชีพ โดยมีภารกิจหลัก 6 ด้านคือ
1.การแก้ปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย
โดยสถาบันการเงินฯ มีข้อบังคับของสถาบันฯ ที่สมาชิกเห็นชอบให้จัดตั้งกองทุนในการก่อสร้างที่อยู่อาศัยให้กับผู้เดือดร้อน การจัดซื้อที่ดินให้กับผู้ที่ไม่มีที่ดินทำกิน การรองรับที่ดินของผู้เดือดร้อน ไม่ให้หลุดมือตกเป็นของนายทุน หลังจากได้เอกสารสิทธิ์
2.การส่งเสริมการออมและจัดสวัสดิการแก่สมาชิก
สถาบันฯทำหน้าที่รับฝาก-ถอนเงิน เปรียบเสมือนธนาคารของชุมชน เปิดบริการสัปดาห์ละ 6 วัน หยุดวันศุกร์ 1 วัน ระหว่างเวลา 14.00 - 17.00 น. โดยมีการส่งเสริมการออมอยู่ 4 ประเภทคือ 1 ฝากเงินหุ้น (มูชารอกะฮ์) ฝากครั้งแรก 500 บาท 2 ฝากออมทรัพย์ วะดิอะฮ์ (ฝากรักษาทรัพย์) โดยเปิดบัญชีครั้งแรก 100 บาท 3 ฝากประจำลงทุน ( มูฏอรอบะฮ์ ) เปิดบัญชีครั้งแรก 1,000 บาท จะถอนได้เมื่อฝากครบ 1 ปี และ 4 ฝากเงินออมทรัพย์ (สัจจะสะสมทรัพย์)
ในด้านการจัดสวัสดิการ สถาบันฯส่งเสริมกองทุนบูราบาฮะฮ์สวัสดิการและกองทุนฌาปนกิจ ปัจจุบันมีสมาชิก 1,017 คน เงินทุนดำเนินการ 400,000 บาท เงินทุนในกองนี้มาจากเงิน ๔๐% ของเงินปันผลจากการดำเนินงานของกลุ่มองค์กรต่างๆในตำบล
3. การขายสินค้า บูรอบาฮ์ (ขายสินค้าบวกกำไรบนต้นทุน)
โดยสมาชิกที่ซื้อสินค้า ต้องเป็นสมาชิกที่มีการฝากเงินลงหุ้น และเปิดบัญชีฝากสัจจะให้ครบ 6 เดือน โดยสมาชิกหนึ่งคนสามารถซื้อสินค้าได้ไม่เกิน 50,000 บาท บวกกำไรร้อยละ 15 ผ่อนชำระไม่เกิน 2 ปี
4.การลงทุนบูฎอรอบะฮ์ (แบ่งผลกำไร)
5.สนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาอาชีพของสมาชิก
6.จัดทำงานบริการ เช่น การทำพ.ร.บ.รถยนต์ รถจักรยานยนต์ งานต่อทะเบียนรถ และบริการเก็บค่าไฟฟ้า
ผลการดำเนินงานพัฒนาที่สถาบันการเงินของชุมชนเป็นแกนกลาง
1.การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย/ที่ดินทำกิน
มีการใช้กองทุนที่ดินที่อยู่อาศัยเป็นเครื่องมือ ปัจจุบันมีสมาชิกกองทุน 863 ราย (มีสมาชิกจากตำบลฉลุงด้วย) เงินกองทุนรวม 11 ล้านบาท โดยเงินทุนมาจากการออมของสมาชิก การรับบริจาคและการสนับสนุนจากหน่วยงาน สมาชิกกองทุนคือผู้ที่เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย/ที่ดินทำกิน โดยสมาชิกต้องเปิดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์สัจจะ และเปิดบัญชีเงินฝากหุ้นกับสถาบันการเงินชุมชนตำบลกำแพงเพชร
ทั้งนี้ในระหว่างปี 2550- 2555 มีการแก้ปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัย โดยคณะทำงานที่ดินชุมชนตำบลกำแพงเพชรและตำบลฉลุง (พื้นที่ใกล้เคียง) ซึ่งใช้เงินของกองทุนของชุมชนเป็นหลักและได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือพอช.อีกจำนวน 2,000,000 บาท เพื่อจัดทำข้อมูล แผนที่ทำมือ แผนที่ GIS และผังชุมชน เพื่อผู้เดือดร้อนในตำบลฉลุง 343 ครัวเรือน จำนวนแปลงที่ดิน 369 แปลง เนื้อที่ 4,132 ไร่และตำบลกำแพงเพชร 588 ครัวเรือนจำนวนแปลงที่ดิน 652 แปลงเนื้อที่ 4,528 ไร่ ซึ่งมีทั้งที่ในเขตป่าสงวน ที่สาธารณประโยชน์ ด้วยการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งที่ดินป่าไม้ อุทยาน ท้องถิ่น อำเภอ จังหวัด ส่งผลให้มีการแก้ปัญหาที่ดินทำกินจำนวน 851 แปลงพื้นที่ 6,011ไร่และที่อยู่อาศัย 32 ราย รวมผู้รับประโยชน์กว่า 1,021 ราย ภายใต้งบประมาณทั้งหมด 12.9 ล้านบาท โดยเป็นทุนของชุมชนจำนวน 10.9 ล้านบาท ตามรายละเอียดดังนี้
1.ออกโฉนดที่ดินจำนวน 80 แปลงเนื้อที่ 326 ไร่ ในพื้นที่หมู่ 3 ตำบลกำแพงเพชร แก้ปัญหาผู้เดือดร้อนได้ 68 ราย
2.แก้ปัญหาที่ดินพื้นที่ป่าควนเขาวัง ตำบลฉลุง ในพื้นที่หมู่ 3 โดยออกสปก.ได้ 105 แปลงจำนวน 1,095 ไร่ ในพื้นที่หมู่ 3 เนื้อที่ 2,245 ไร่ รวมผู้รับประโยชน์ 259 ราย
3.แก้ปัญหาที่ดินป่าเทือกเขาแก้ว ป่าคลองต่อฝั่งซ้าย ในตำบลกำแพงเพชร โดยออกสปก.580 แปลง จำนวน 4,000 ไร่ ผู้ได้รับประโยชน์ 575 ราย
4.แก้ปัญหาที่ดินป่าเกาะแซะ หมู่ 6 ตำบลกำแพงเพชร 72 แปลง จำนวน 528 ไร่ ผู้ได้รับประโยชน์ 68 ราย
5.ซื้อที่ดินคืนจากนายทุน จำนวน 14 แปลง รวมพื้นที่ 57 ไร่ วงเงิน 10,566,750 ล้านบาท ซึ่งเป็นพื้นที่ในตำบลฉลุง 6 แปลง ตำบลกำแพงเพชร 8 แปลง โดยให้ผู้เดือดร้อนที่เสียที่ดินสามารถเข้าทำกินในพื้นที่ดังกล่าวได้ และสามารถซื้อคืนจากกองทุนได้ภายในสามปี
6.ซื้อที่ดินสร้างที่อยู่อาศัยให้สมาชิกกองทุนในตำบลกำแพงเพชรจำนวน 19 ราย พื้นที่ 5 ไร่ เป็นเงิน 950,000 บาท
7.มีการสร้างบ้านให้กับครัวเรือนในพื้นที่ๆมีปัญหา จำนวน 32 ครัวเรือน (ในตำบลฉลุง11
ครัวเรือน ตำบลกำแพงเพชร 21 ครัวเรือน) วงเงิน 1.41 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังได้มีการแก้ปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ที่ได้รับงบประมาณจากโครงการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินโดยชุมชนเป็นแกนหลักในพื้นที่ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นงบจากรัฐบาล (โครงการไทยเข้มแข็ง) ระหว่างปี 2553-2556 วงเงิน 14,500,000 บาท เพื่อการซ่อมสร้างที่อยู่อาศัยคนยากจน 332 ครัวเรือน และการแก้ปัญหาที่ดิน 652 แปลง ผู้เกี่ยวข้อง 591 ครัวเรือน วงเงิน 700,000 บาท ในกรณีดังกล่าว มีการคืนทุนเข้ากองทุนของชุมชน ในหมู่บ้านต่างๆแล้ว 299 ราย เป็นเงินรวม 677,000 บาท
2.การพัฒนาอาชีพและเศรษฐกิจชุมชน
• การทำธุรกิจของชุมชน มีการบริหารธุรกิจที่สำคัญได้แก่ การทำบูรอบาฮะฮ์ (การจำหน่าย
สินค้าบวกกำไรบนต้นทุน) การทำกองทุนรวมมูฎรอบะฮ์จากการแบ่งปันผลกำไร การขายสินค้าผ่อนชำระระยะยาว การทำบริการ พ.ร.บ.รถยนต์ จักรยานยนต์ การต่อทะเบียนรถยนต์ รถจักรยานยนต์ บริการเก็บค่าไฟฟ้า เป็นต้น
• พัฒนากลุ่มอาชีพและเศรษฐกิจพอเพียง มีการสนับสนุนกลุ่มอาชีพในชุมชน เช่นกลุ่มน้ำ
ยางสดเพื่อแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควัน ปัจจุบันมีสมาชิก 254 ราย เงินทุน 1.16 ล้านบาท กลุ่มเลี้ยงแพะสำหรับสมาชิก 35 ราย ซึ่งมีทั้งแพะนมและแพะเนื้อ สนับสนุนศูนย์สาธิตการตลาด สำหรับสมาชิก 876 ราย เงินทุน 440,000 บาท เพื่อรวบรวมสินค้าจำหน่ายแก่สมาชิกและบุคคลทั่วไป
• สนับสนุนการกู้ยืมเพื่อการพัฒนาอาชีพ ที่ผ่านมาได้บริการสมาชิก 12 ราย เป็นเงิน
1,451,570 บาท
3.การส่งเสริมการออมและสวัสดิการชุมชน
ในระดับหมู่บ้านมีกลุ่มออมทรัพย์และกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งมีระบบการออมเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว และที่สถาบันฯ มีบริการรับฝากที่ส่งเสริมการออมอีกชั้นหนึ่ง ในด้านการส่งเสริมสวัสดิการชุมชน มีเงินกองทุนมูรอบาฮะฮ์สวัสดิการและกองทุนฌาปนกิจจาก ๔๐% ของเงินกำไรจากกลุ่มต่างๆที่เป็นสมาชิกสถาบันการเงิน ที่มีรายได้ในแต่ละปี สมทบเข้ากองทุนมูรอบาฮะฮ์ทุกปี และจัดเป็นเงินทุน 400,000 บาทเพื่อนำไปค้าขายในระบบอิสลาม (ขายสินค้าบวกกำไรบนต้นทุน) นำกำไรมาจ่ายสวัสดิการแก่สมาชิก ทั้งนี้กำไร 40 % ของสถาบันการเงิน จะจัดสรรเป็นเงินสวัสดิการสมาชิก 20% ค่าตอบแทนคณะกรรมการและพนักงาน 15% สวัสดิการผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาส 2.5 % สวัสดิการเพื่อการพัฒนาหมู่บ้านรวมส่งเสริมอาชีพและเศรษฐกิจพอเพียง 2.5 %
ด้านการออมสมาชิกต้องฝากเงินออมไว้ที่กองทุนทุกเดือนๆละไม่ต่ำกว่า 50 บาทและไม่เกิน 1,000 บาท โดยเงินออมของสมาชิกนี้จะไม่นำไปจัดสวัสดิการ แต่หากสมาชิกไม่ออมหรือขาดการออมก็ไม่ได้รับสวัสดิการ โดยสวัสดิการจากกองทุนมูรอบาฮะฮ์ดังกล่าว จะจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับสมาชิกครั้งละ 100 บาท ปีละไม่เกิน 5 ครั้ง จ่ายค่าคลอดบุตรคนละ 1,000 บาท ช่วยค่าทำศพๆละ 12,500 บาท ดูแลผู้สูงอายุและคนพิการจำนวน 40 กว่าคนในตำบล จ่ายภาษีที่ดินตามที่จ่ายจริงตามใบเสร็จรับเงิน รวมทั้งการสนับสนุนการพัฒนาหมู่บ้าน การส่งเสริมอาชีพและเศรษฐกิจพอเพียง
ทั้งนี้ในตำบลมีระบบ กองทุนสวัสดิการชุมชนที่เป็นการออมสัจจะวันละบาทซึ่งเป็นอีกหนึ่งกองทุนต่างหากด้วย ปัจจุบันมีสมาชิก 2,491 คน เงินกองทุนสะสมรวม 2,878,000 บาท โดยเป็นเงินออมของสมาชิก 1,273,000 บาท ซึ่งมาจากการสมทบของรัฐบาล 1,550,000 บาท การสมทบจากพอช.ในช่วงต้น 55,000 บาท มีการจัดสวัสดิการให้กับสมาชิก 8 ประเภท และที่ผ่านมามีการจัดสวัสดิการที่เป็นเงินสะสมแล้ว 1,886,000 บาท ผู้ได้รับประโยชน์รวม 950 ราย
ในด้านภาพรวมรวมของการดำเนินงาน ในปี 2556 สถาบันการเงินฯมีทุนดำเนินงานจากเงินฝาก 4 ประเภทซึ่งรวมเงินทุนสำรอง เป็นเงิน 32,041,861 บาท การดำเนินงานก่อให้เกิดรายได้ 1,469,494 บาท มีค่าใช้จ่าย 268,709 บาท มีกำไรสุทธิในปี 2556 จำนวน 1.2 ล้านบาท ด้านกองทุนปุ๋ยมีเงินทุนดำเนินงาน 200,000 บาท มีกำไรสุทธิ 8,880 บาท กองทุนแม่ของแผ่นดินมีทุนดำเนินงาน 28,000 บาท มีกำไรสุทธิ 60,984 บาท กองทุนกข.กจ.มีทุนดำเนินงาน 280,000 บาท มีกำไรสุทธิ 16,587 บาท กองทุนมูรอบาฮะฮ์สวัสดิการ ทุนดำเนินงาน 400,000 บาท มีกำไรสุทธิ 243,251 บาท
ณ เดือนธันวาคม 2556 สถาบันการเงินฯ มีสินทรัพย์รวม 33.24 ล้านบาท และในปี 2557 มีแผนในการรับสมาชิกสถาบันการเงินเพิ่มไม่น้อยกว่า 400 ราย
การทำงานพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาของชุมชนตำบลกำแพงเพชร จึงเป็นพื้นที่รูปธรรมของการจัดการตนเอง ที่ใช้ทุนภายในเป็นหลักโดยมีสถาบันการเงินฯเป็นแกนกลาง ตามหลักการศาสนาและภูมิปัญญาของท้องถิ่น เพื่อแก้ปัญหาสาธารณะของชุมชน จึงเป็นพื้นที่เรียนรู้และศึกษาดูงานของผู้นำชุมชน หน่วยงานจากพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และพื้นที่อื่นๆเป็นประจำทุกเดือน