บรรเจิด สิงคะเนติ : ศาลรธน.มีสิทธิชอบธรรมรับคำร้อง “ปู” ย้าย “ถวิล”
“...ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจที่จะรับวินิจฉัยเรื่องนี้ได้ ถ้าจะพูดภาษากฎหมายเรียกว่ามีวัตถุแห่งคดีให้ศาลวินิจฉัย แต่จะวินิจฉัยทางใดก็ต้องรอดู...”
เป็นปัญหาที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนาหู
กรณีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ว.สรรหา ยื่นเรื่องขอให้พิจารณาวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” รักษาการนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม หลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้คืนตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แก่ “ถวิล เปลี่ยนศรี”
หลากกลุ่มหลายบุคคล ต่างออกมาตั้งคำถามกันอย่างครึกโครมว่า ตกลงแล้ว “ศาลรัฐธรรมนูญ” มีสิทธิ์รับคำร้องพิจารณาในกรณีดังกล่าวหรือไม่ ?
“ประเด็นแรกคือการที่ศาลปกครองตัดสินคดีนี้จบไปแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องได้หรือไม่ ในทางกฎหมายเรียกว่าวัตถุแห่งคดี ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน ในกรณีศาลปกครองคือตรวจสอบคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่กรณีศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นการกระทำที่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 หรือไม่ ดังนั้นวัตถุคดีจะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว ดังนั้นต้อใช้เกณฑ์ในข้อนี้พิจารณา”
เป็นคำยืนยันของ “ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ” กรรมการปฏิรูปกฎหมาย ที่กล่าวผ่านงานแถลงข่าวของกลุ่มคณะรัฐบุคคล ที่จัดขึ้นที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ว่า “ศาลรัฐธรรมนูญ” มีสิทธิ์รับคำร้องกรณีดังกล่าวอย่าง “ชอบธรรม”
ทำไม “ศ.ดร.บรรเจิด” จึงกล่าวเช่นนั้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ขอนำการวิเคราะห์ของ “ศ.ดร.บรรเจิด” ที่กล่าวในงานแถลงข่าวดังกล่าวมานำเสนอ ดังนี้
“กรณีดังกล่าวมีอยู่ 2 – 3 ประเด็นในเชิงข้อกฎหมาย ประเด็นแรกคือการที่ศาลปกครองตัดสินคดีนี้จบไปแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องได้หรือไม่ ในทางกฎหมายเรียกว่าวัตถุแห่งคดี ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน ในกรณีศาลปกครองคือตรวจสอบคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่กรณีศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นการกระทำที่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 หรือไม่ ดังนั้นวัตถุคดีจะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว ดังนั้นต้อใช้เกณฑ์ในข้อนี้พิจารณา”
เป็นคำยืนยันอย่างหนักแน่นว่าศาลรัฐธรรมนูญมีสิทธิ์รับคำร้องอย่างเต็มที่ ก่อนจะสำทับว่า ส่วนการที่พรรคเพื่อไทย (พท.) หยิบยกกรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ขึ้นมาเทียบเคียงนั้น สองเรื่องนี้ต่างกันโดยสิ้นเชิง กรณีนายอภิสิทธิ์ถูกร้องให้พ้นสภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เมื่อมีการยุบสภาสภาพของ ส.ส. ก็สิ้นสุดลง ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มีอะไรให้วินิจฉัยต่อ แต่กรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์นั้น คณะรัฐมนตรียุบสภาแล้ว แต่ที่ยังเหลือคือรักษาการอยู่ ฉะนั้นการรักษาการอยู่จึงเป็นประเด็นที่แตกต่าง ไม่ได้จบไปโดยเด็ดขาด
“คณะรัฐมนตรีที่พ้นทั้งคณะแล้วนั้น จะมาสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา 182 ซึ่งหากเกิดขึ้นแล้ว คำถามคือสถานภาพและสิทธิหน้าที่จะต่างอย่างไร ถ้ามองว่าคณะรัฐมนตรีที่พ้นไปแล้ว สามารถสิ้นสุดลงเฉพาะตัวบุคคลได้ ผลก็คือ รัฐมนตรีคนใดก็ตามที่สิ้นสุดลงตามมาตรา 182 จะไม่สามารถรักษาการได้”
ส่วนกรณีที่ว่า “ยิ่งลักษณ์” เป็นนายกฯรักษาการจะสามารถพ้นตำแหน่งได้หรือไม่นั้น “ศ.ดร.บรรเจิด” ระบุว่า ประเด็นสำคัญของน.ส.ยิ่งลักษณ์คือ ถ้าความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุด จะต้องย้อนกลับไปดูที่มาตรา 180 ฉะนั้นสรุปก็คือ คณะรัฐมนตรีที่พ้นไปทั้งคณะหลังจากยุบสภาแล้ว สามารถจะวินิจฉัยสิ้นสุดลงเฉพาะรัฐมนตรีเกิดขึ้นได้ เพราะสภานภาพของสิทธิระหว่างก่อนวินิจฉัย กับหลังวินิจฉัยไม่เหมือนกัน กล่าวคือ ถ้าถูกวินิจฉัยให้สิ้นสุดทั้งคณะ ยังรักษาการได้ แต่ถ้าวินิจฉัยสิ้นสุดเฉพาะบุคคล จะรักษาการไม่ได้
“ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจที่จะรับวินิจฉัยเรื่องนี้ได้ ถ้าจะพูดภาษากฎหมายเรียกว่ามีวัตถุแห่งคดีให้ศาลวินิจฉัย แต่จะวินิจฉัยทางใดก็ต้องรอดู”
ส่วนกรณีที่ว่าหาก “ยิ่งลักษณ์” ลาออกจากตำแหน่งก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยนั้น อะไรจะเกิดขึ้น “ศ.ดร.บรรเจิด” ระบุว่าหากคณะรัฐบาลยังอยู่ นายกฯก็ยังอยู่ และนายกฯก็มีอำนาจที่จะแต่งตั้งตำแหน่งในทางการเมืองตามข้อกฎหมายได้ แต่ทีนี้เมื่อนายกฯพ้นตำแหน่งไปแล้ว ตำแหน่งทางการเมืองจะต้องพ้นไปด้วยหรือไม่นั้น ถ้าจะแต่งตั้งใหม่ก็ต้องใช้อำนาจ ซึ่งผู้ที่มีอำนาจก็คือนายกฯรักษาการ อย่างไรก็ดีต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตามข้อกฎหมายเสียก่อน
“ประเด็นสำคัญอยู่ที่อำนาจ หน้าที่ในการรักษามีอำนาจจำกัดตามมาตรา 181 ของรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นภาษาเวลาพูดทั่วไปว่านายกฯรักษาการ เข้าใจตรงกันว่า มีข้อจำกัดตามมาตรา 181 นั่นเอง”
“ส่วนเมื่อพ้นตำแหน่งไปแล้ว จำเป็นจะต้องมาตั้งคณะรัฐบาลใหม่หรือไม่ เรียนได้เลยว่าในทางปฏิบัติ เข้าใจว่าไม่น่าจะทำได้ ซึ่งตรงนี้ไม่แน่ใจว่ามันจะมีประเด็นโต้แย้ง ต้องดูว่าศาลจะตีความว่าขาดหรือไม่ แต่เรียนว่าเรื่องนี้ในทางปฏิบัติอาจถือว่าสืบเนื่องกันมา อาจะไม่ได้มาตั้งใหม่”
“ถ้านายกฯเกิดลาออก ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย กรณีนี้เป็นการสิ้นสุดเฉพาะตัวตามมาตรา 182 (2) เมื่อเกิดกรณีเช่นนี้ถือว่าวัตถุแห่งคดีไม่มี ตรงนี้ก็จะคล้ายกับกรณีนายอภิสิทธิ์ ซึ่งไม่มีประเด็นวินิจฉัย”
คำถามต่อไปคือหาก “นายกฯ” ลาออก “คณะรัฐมนตรี” จำเป็นต้องลาออกด้วยหรือไม่ “รศ.ดร.บรรเจิด” อธิบายว่า ประเด็นนี้อาจคลุมเครือ เพราะประเทศไทยเรื่องนี้ยังไม่มีแนวปฏิบัติ แต่ถ้ามองในเชิงรัฐศาสตร์ก็คิดว่ากรณีที่นายกฯลาออก คณะรัฐมนตรีก็ควรจะออกทั้งหมด เพราะถือว่าความเป็นรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีนั้นอยู่ด้วยความเห็นชอบของนายกฯ อย่างไรก็ดีประเด็นนี้อาจตีความได้หลากหลาย
“เอาตัวอย่างในต่างประเทศ มีข้อที่พึงสังเกตอยู่ 2 ประการคือ ความผิดประหลาดจากต่างประเทศของคนไทยคือนายกฯต้องเป็น ส.ส. กรณีที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ลาออก หรือหมดสภาพการเป็น ส.ส. ยังเป็นนายกฯรักษาการได้อยู่ แปลว่า คนอื่น ๆ ที่ไม่ต้องเป็น ส.ส. เลย ไม่ต้องสังกัดพรรคเลย เป็นใครก็ได้ ก็สามารถปฏิบัติหน้าที่นายกฯรักษาการได้เช่นเดียวกัน”
“อีกปัญหาหนึ่งคือ ถ้าคนนั้นมาเป็นนายกฯ ทำหน้าที่แทนหรือรักษาการ จะอยู่ได้นานเท่าไหร่ ผมมองว่ายังคลุมเครือ ไม่มีระบุไว้ ไม่มีแบบอย่างเช่นเดียวกัน”
ทั้งหมดเป็นความเห็นอีกด้านหนึ่งต่อกรณี “ศาลรัฐธรรมนูญ” รับคำร้องพิจารณาวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ “ยิ่งลักษณ์”
ส่วนจะตัดสินกันออกมาในทิศทางไหน ก็ต้องไปลุ้นกันหลังสงกรานต์อีกครั้ง
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก manager