“คณะรัฐบุคคล” ชง “ป๋าเปรม” พึ่งพระบารมี ผ่าวิกฤตการเมือง
“พล.อ.สายหยุด” ลั่นต้องใช้ “รัฐบุรุษ” ร่างพระบรมราชโองการทูลเกล้าฯ “ในหลวง” เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตชาติ ทำให้บ้านเมืองสงบ ส่วน “ปราโมทย์” ยันม.7 ไม่ใช่แค่ตั้งนายกฯอย่างเดียว ระบุจำเป็นต้องพึ่งพระบรมเดชานุภาพของสถาบันกษัตริย์
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2557 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ มีการแถลงข่าวของกลุ่มคณะรัฐบุคคล นำโดย พล.อ.สายหยุด เกิดผล อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด กรณีการขอพระบรมราชโองการจากสถาบันกษัตริย์เพื่อแก้วิกฤตปัญหาในทางการเมือง
พล.อ.สายหยุด กล่าวว่ายกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาเอง เนื่องจากรัฐบุรุษเป็นตำแหน่ง และมีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง และใช้มานานแล้วเพื่อแก้ปัญหาในทางการเมือง ซึ่งตัวบุคคลก็มีอยู่ ที่ตนเรียนต่อสื่อมวลชน และสาธารณชนในครั้งนี้ อยากให้คิดดู ตนก็ไม่ใช่นักกฎหมาย แต่คิดว่าตำแหน่งต่าง ๆ ที่เรามีไว้ก็ต้องมีหน้าที่ ดังนั้นคิดว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบุรุษนี่เองที่ต้องร่างพระบรมราชโองการทูลเกล้าฯต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อมีเหตุการณ์วิกฤตทางการเมือง เพราะประเทศไทยไม่ใช่ระบอบประธานาธิบดี
พล.อ.สายหยุด กล่าวอีกว่า เป็นเรื่องที่ถูกต้องที่พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ปฏิเสธการเป็นคนกลางแก้ไขปัญหาวิกฤตบ้านเมือง เพราะท่านต้องทำหน้าที่ของท่าน สถานการณ์วิกฤตอย่างนี้จะมีพระบรมราชโองการอย่างไร ขอให้ท่านปรึกษาหารือดูความรอบคอบเห็นว่าจะเป็นประโยชน์แน่นอน หลังจากนั้นให้ทูลเกล้าฯ แต่ไม่ใช่ให้พระองค์ท่านวินิจฉัยอะไร เราไม่ได้กำหนดเนื้อหา แล้วแต่ท่านรัฐบุรุษ จะปรึกษาศาล ทหาร หรือผู้นำทางสังคมคนอื่น ๆ ทางลับหรือเปิดเผยอย่างไร จะมีพระบรมราชโองการอย่างไรก็แล้วแต่ แต่คณะรัฐบุคคลเชื่อว่าพระบรมราชโองการเท่านั้นแก้ปัญหาวิกฤตครั้งนี้ได้ เพราะเราดูเหตุการณ์ที่ผ่านมามีร้ายแรงยิ่งกว่านี้แต่ก็หยุดได้เพราะพระบรมราชโองการ
“ในขั้นนี้เสนอเพียงว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบุรุษที่จะต้องทำหน้าที่ของท่าน มาร่างพระบรมราชโองการทูลเกล้าฯขึ้นไปให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวลงพระปรมาภิไธย ร่างอย่างไรเราไม่ได้เสนอ แต่ขอให้ร่างพระบรมราชโองการขึ้นไป ถ้าพระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธย และมีพระราชโองการแล้ว จะทำให้บ้านเมืองสงบได้ ส่วนขั้นต่อไปเป็นอย่างไรก็อีกเรื่องหนึ่ง” พล.อ.สายหยุด กล่าว
ศ.ดร.ปราโมทย์ นาครทรรพ นักวิชาการรัฐศาสตร์ กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ รัฐบุรุษ ควบตำแหน่งประธานองคมนตรีด้วยนั้น ต้องแยกเป็น 2 เรื่อง เรื่องแรกเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญว่า ในยามที่บ้านเมืองเกิดวิบัติฉุกเฉินมีเรื่องอะไรบ้าง ไม่ใช่เรื่องแต่งตั้งพระราชทานนายกรัฐมนตรีอย่างเดียว ตนคิดว่าเวลานี้สังคมจะเคร่งเรื่องแต่งตั้งนายกฯคนกลางอย่างเดียว แท้จริงไม่ใช่ ที่คณะรัฐบุคคลเสนอไป ไม่ใช่ให้พระองค์ท่านแต่งตั้งนายกฯคนใด ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็แล้วแต่เพื่อแก้ไขวิกฤตปัญหาบ้านเมืองจึงต้องทำแบบนี้
“ส่วนเรื่องรัฐบุรุษได้คุยกันในหมู่คณะ ยกปัญหาข้อมูลข้อเท็จจริงมาพูดคุยกันว่ามีรัฐบุรุษอยู่ 2 คนเท่านั้นคือ อ.ปรีดี พนมยงค์ (อดีตแกนนำคณะราษฎร และอดีตนายกฯ) และพล.อ.เปรม แต่ยังไม่มีใครได้ทำหน้าที่สนองพระบรมราชโองการในความเป็นจริงสักท่านเดียว แต่ไม่ได้หมายความว่าถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ใช้พระราชอำนาจแล้ว จะรับสนองพระบรมราชโองการไม่ได้ เพราะมีหลายครั้งในอดีตที่มีการงดใช้รัฐธรรมนูญ โดยในบางกรณีก็ไม่จำเป็นต้องประกาศ” ศ.ดร.ปราโมทย์ กล่าว
ศ.ดร.ปราโมทย์ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีการใช้มาตรา 7 ไม่ใช่เรื่องจำเพาะแต่งตั้งนายกฯ ซึ่งตอนนี้อาจมีผู้เรียกร้องขึ้นมาเรื่อย ๆ แต่ไม่ใช่เรื่องของคณะรัฐบุคคล เพราะเราเคารพอำนาจ และบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และวิตกกังวลในเรื่องวิกฤตของประเทศ ดังนั้นก็อาจพึ่งพระบรมเดชานุภาพของสถาบันกษัตริย์ และจะต้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และความเป็นประชาธิปไตย และหลักพระราชอำนาจด้วย
“ดังนั้นขอให้นักการเมืองอย่าเพิ่งลงเลือกตั้งเลย และอาศัยพระบรมราชโองการแก้ไขปัญหาคือ ปัญหาชนชั้นปกครองกีดกันพระมหากษัตริย์ไม่ให้มีพระราชอำนาจ และข้อเสนอของคณะรัฐบุคคลครั้งนี้ มีเงื่อนไขกฎหมายอยู่ที่สูญญากาศทางการเมือง คือให้นายกฯพ้นตำแหน่งก่อน จึงจำเข้าสู่เงื่อนไขที่ว่า” ศ.ดร.ปราโมทย์ กล่าว
ศ.ดร.ปราโมทย์ กล่าวว่า อย่างไรก็ดีวัตถุประสงค์ที่สำคัญกว่านั้นคือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอนุมัติให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ยุบสภาแล้วและจัดการเลือกตั้งแล้ว ดังนั้นเธอก็ต้องมีหน้าที่จะต้องทำการเลือกตั้ง และตั้งรัฐบาลมาให้ได้ ส่วนกำหนดเวลา 30 วันเป็นเรื่องของประเทศไทยที่กำหนดเท่านั้น และไม่ว่าที่อังกฤษ หรือประเทศใด ๆ ก็ตามที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ พระมหากษัตริย์ก็สามารถแต่งตั้งรัฐบาลได้เช่นกัน
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก siamintelligence