โชคชัย วงษ์ตานี...ไฟใต้ผ่าน 10 ปี แนะ "รัฐ-ขบวนการ" ทบทวน-หาทางออก
"ไม่มีสงครามหรือความขัดแย้งใดที่เกิดจากความผิดพลาดของฝ่ายเดียว" เป็นการตั้งประเด็นที่น่าสนใจยิ่งของ โชคชัย วงษ์ตานี อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ (ม.อ.หาดใหญ่) ที่ให้สัมภาษณ์พิเศษ "ทีมข่าวอิศรา" ในวาระ 10 ปีไฟใต้
บ่อยครั้งที่บทวิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์ ของสื่อมวลชน นักวิชาการ หรือผู้ทรงคุณวุฒิแขนงต่างๆ เกี่ยวกับสถานการณ์ไฟใต้ จะพุ่งเป้าตำหนิติเตียนไปที่ภาครัฐหรือรัฐบาล แต่ อาจารย์โชคชัย มองปัญหาความขัดแย้งแบบคู่ขนาน เพราะเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นจาก 2 ฝ่าย (เป็นอย่างน้อย)
และหากเราเรียกร้องต้องการให้ภาครัฐหรือรัฐบาลปรับตัว ปรับแนวทาง หรือปรับวิสัยทัศน์การมองปัญหาชายแดนใต้ เพื่อสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้น ณ ดินแดนปลายขวาน ก็ต้องไม่ลืมให้ "ฝ่ายขบวนการ" ที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน ทบทวนการกระทำที่ผ่านมา และร่วมพินิจพิจารณาหาทางออกด้วยเช่นกัน
O 10 ปีไฟใต้ หลายคนมองว่าเป็นความผิดพลาดของรัฐ อาจารย์คิดว่ามีประเด็นอะไรบ้าง?
10 ปีที่ผ่านมาไม่สามารถกล่าวได้อย่างเหมารวม เพราะรายละเอียดในแต่ละปีมีความแตกต่าง ปัญหาไฟใต้มีความเป็นพลวัต มีความเปลี่ยนแปลงทั้งในทางบวกและลบ สิ่งสำคัญเมื่อมองย้อนกลับไป หลายปรากฏการณ์เป็นมาและเกิดขึ้นอย่างเนื่องและยังดำรงอยู่จนจะย่างเข้าปีที่สิบ หลายเหตุการณ์เกิดในช่วงต้นๆ แล้วหายไป หลายเหตุการณ์เกิดขึ้นเป็นบางช่วงแล้วเวียนกลับมาเกิดขึ้นอีก
ข้อมูลจากรัฐบาลหรือทางการมักจะไม่ค่อยเห็นรายงาน สรุปรายปีที่เป็นข้อมูลความก้าวหน้าและความล้มเหลว ทั้งที่ควรจะมีสรุปรายปี ยกเว้นภาควิชาการและภาคประชาสังคมที่มุ่งเน้นการเก็บสถิติ ตัวเลขบางด้าน และนำเสนอผลงานวิจัยออกมานับร้อยเรื่อง หากมีรายงานที่เป็นทางการจะทำให้เห็นภาพชัดขึ้นว่าในแต่ละปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ทั้งฝ่ายรัฐและขบวนการ
O มองการแก้ปัญหาภาคใต้พัฒนาขึ้นหรือถอยหลังลงอย่างไรบ้าง?
10 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เราขาดไปคือรายงานผลรายปีที่เป็นข้อมูลตัวเลข ไม่เฉพาะแค่ผู้สูญเสีย แต่หมายถึงตัวเลขด้านเศรษฐกิจ โอกาสทางการศึกษา 10 ปีที่ผ่านมามันถอยลงหรือมันก้าวหน้าไปอย่างไร ก็จะเห็นว่าการสูญเสียชีวิตสูงขึ้น แต่ก็ทำให้รายได้ รายรับครัวเรือนของคนในพื้นที่สูงขึ้นกว่าสิบปีที่แล้ว ก็มีทั้งบวกและลบภายใต้สถานการณ์ที่ผ่านมา ในกระบวนการสร้างสันติภาพยิ่งสำคัญ นอกจากแผนกระบวนการและการปฏิบัติแล้วยังต้องมีตัวชี้วัดและการตรวจบัญชีรายละเอียดของเหตุการณ์ในทุกๆ ด้านด้วย
คิดว่าไม่เฉพาะรัฐเท่านั้นที่ผิดพลาด ฝ่ายขบวนการเองก็ผิดพลาดในหลายประเด็น และหากจะสำรวจข้อผิดพลาดของทุกฝ่าย ทั้งรัฐบาล เจ้าหน้าที่รัฐ สถาบันหลักในพื้นที่ นักการเมือง ผู้นำศาสนา มุสลิม และต่างศาสนิก รวมทั้งฝ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 5 ปีแรกของไฟใต้ งานที่ลุ่มลึกของ ดร.ดันแดน แม็คคาโก นักวิชาการชาวอังกฤษ ชื่อหนังสือ "ฉีกแผ่นดิน" ของสำนักพิมพ์คบไฟ ทุกท่านสามารถค้นคว้าได้
O 10 ปีไฟใต้กับภาพความรุนแรงที่ถูกตอกย้ำ อาจารย์มองอย่างไร?
สังคมมักจะจดจำความผิดพลาดใหญ่ๆ ของรัฐ เช่น กรณีเหตุการณ์กรือเซะ (เหตุรุนแรงกว่าสิบจุดเมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547) ตากใบ (การสลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อ 25 ต.ค.2547) หรือกรณีไอร์ปาแย (เหตุการณ์กราดยิงในมัสยิดอัลฟุรกอน บ้านไอร์ปาแย ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส)
กลับกันรัฐก็จะเลือกลืมและจำในสิบปีที่ผ่านมา เช่น การใช้งบประมาณ การทุ่มเทสรรพกำลังทรัพยากรบุคคล การสูญเสียบุคคลสำคัญๆ เช่น จ่าเพียร (พล.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา อดีตผู้กำกับการ สภ.บันนังสตา จ.ยะลา ที่ถูกระเบิดเสียชีวิต เมื่อ มี.ค.2553) ดาบแชน (ร.ต.ต.แชน วรงคไพสิฐ ตำรวจนักกู้ระเบิดชื่อดัง ถูกระเบิดเสียชีวิตเมื่อ 28 ต.ค.2556) เป็นต้น คิดว่าความผิดพลาดแบบนั้นมันถูกจดจำในแง่ของการย้ำให้เห็นว่ายังต้องจมอยู่กับความเศร้า ความสูญเสีย
แต่ในมุมกลับกัน ความผิดพลาดมันต้องถูกจดจำในอีกแง่มุมหนึ่ง ในแง่มุมที่ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เหตุการณ์และสถานภาพกลับไปเหมือนเดิม หรือจะทำอย่างไรที่จะปรับปรุง แก้ไข พัฒนาในสิ่งที่เป็นมาตรการ นโยบายของรัฐที่จะทำให้เหตุการณ์สงบและมีสันติสุขเพิ่มมากขึ้น
อย่างเช่น เหตุการณ์ไฟใต้ยังอยู่ในเนื้อหาเดิมๆ คือ การใช้กฎหมายพิเศษ ทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) และอื่นๆ ซึ่งเป็นการใช้กฎหมายที่เอื้อให้กับรัฐ ส่วนฝ่ายผู้ก่อการก็ยังเลือกใช้ความรุนแรงตอบโต้
O พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตลอด 10 ปีไฟใต้ ช่วยแก้ปัญหาหรือตอกย้ำความรู้สึกไม่ดีให้กับคนในพื้นที่?
ในมุมของผู้ที่ใช้ชีวิตในพื้นที่ รู้สึกว่ากฎหมายนี้เอาเปรียบ ให้สิทธิกับเจ้าหน้าที่ที่จะดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัย อีกทางหนึ่งดูเหมือนว่ารัฐจะได้มีเครื่องมือในการแก้ปัญหา แต่ในมุมมองชาวบ้านมองว่านี่คือเครื่องมือสร้างปัญหา กฎหมายตัวเดียวกัน แต่สร้างผลที่แตกต่างกัน ทำให้ความยุติธรรมเป็นสิ่งที่หาได้ยากขึ้นสำหรับชาวบ้าน และทำให้เจ้าหน้าที่รัฐมีสิทธิเกินขอบเขตกว่ากฎหมายปกติ
ฉะนั้นแม้เหตุการณ์จะดีขึ้น แต่การใช้กฎหมายฉบับนี้ใน 10 ปีที่ผ่านมา (เริ่มใช้ตั้งแต่เดือน ก.ค.2548) ก็ยังไม่เปลี่ยน กฎหมายคือส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดเงื่อนไขซึ่งนำไปสู่ข้อผิดพลาดได้ ฉะนั้นถ้ากลับมาใช้กฎหมายปกติ จะทำให้ข้อผิดพลาดเหล่านั้นลดลงได้
O อนาคตไฟใต้กับแนวโน้มการพูดคุยเจรจาเป็นอย่างไร?
มี 3 ประเด็นหลักๆ คือ 1.มีสองแง่มุมที่ย้อนแย้งระหว่างกัน คือ รัฐบาลในกรุงเทพฯ มองปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องชายขอบและไกลตัว แต่ในมุมกลับกัน ปัญหาไฟใต้เองก็มักจะถูกผูกไว้กับสถานการณ์ทางการเมืองที่กรุงเทพฯ เช่น เมื่อเกิดความขัดแย้งในกรุงเทพฯ ทำให้เกิดความไม่แน่นอนในการเดินหน้าของกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่ยังไม่ถึงขั้นเจรจาในหลายๆ ประเด็น เช่น ถ้าไม่มีการเลือกตั้ง หรือการเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไป ไม่มีรัฐบาลนำ ใครจะเป็นผู้มีอำนาจหลักในการเดินหน้าพูดคุยสันติภาพ
2.หากยังไม่มีการเลือกตั้ง แล้วมีการปฏิรูปก่อน ประเด็นจังหวัดชายแดนภาคใต้จะถูกนำเข้าสู่ในการปฏิรูปด้วยหรือไม่ นี่คือคำถาม และ 3.หากรัฐบาลที่ได้มาจากการเลือกตั้งมิใช่พรรคเดิมที่เคยมีอำนาจมาก่อน จะส่งผลต่อทิศทางการแก้ไขปัญหาและกระบวนการพูดคุยสันติภาพด้วย
อย่างพรรคเพื่อไทยที่ส่ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) มาแก้ไขปัญหาและพัฒนาในพื้นที่ ซึ่งพบว่าภายใต้การนำการพัฒนาจากภาคพลเรือนที่สร้างสรรค์โดยท่านทวี เป็นสิ่งที่ประทับใจของคนในพื้นที่ เป็นที่ไว้วางใจ พบว่าเป็นคนเข้าถึงคนในพื้นที่ด้วยความอ่อนน้อมและใช้กลวิธีในทางบวกต่อการพูดคุยสันติภาพ ต่างจากอดีตพรรคฝ่ายค้านที่มองก่อนหน้านี้ว่า "รัฐบาลกำลังเจรจากับโจร" ซึ่งทั้งสองพรรคเป็นคู่แข่งทางการเมือง มองกระบวนการพูดคุยสันติภาพในแง่มุมต่างกันสุดขั้ว
สถานการณ์นับจากนี้จึงขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้กุมอำนาจรัฐที่กรุงเทพฯ และมองเห็นการพูดคุยที่ผ่านมาเป็นต้นทุนหรือสิ่งไร้ค่า หากมองเป็นต้นทุนก็สามารถเดินหน้าต่อไป ซึ่งอาจจะปรับเปลี่ยนได้ในเชิงรายละเอียด เพราะการให้สัมภาษณ์ล่าสุดของ ดร.วันกาเดร์ เจะมัน อดีตประธานเบอร์ซาตู ให้ความเห็นอย่างน่าสนใจว่า ในรอบหลายปีที่ผ่านมา การที่รัฐมุ่งสู่วิธีการเปิดโต๊ะเจรจาเป็นวิธีการที่ถูกต้อง แต่สิ่งที่ผิดคือยังคุยไม่ถูกกลุ่ม หรือยังไม่ครอบคลุมกลุ่มอื่นๆ ซึ่งตรงกับข้อมูลทางวิชาการในหลายประเด็นว่า ไม่ใช่บีอาร์เอ็นเท่านั้นที่มีอำนาจสั่งการในพื้นที่ แต่ยังมีอีกหลายกลุ่มที่เห็นต่างจากรัฐ ทว่าเขาไม่มีพื้นที่และโอกาสเข้าสู่กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพนั้น
ด้วยเหตุนี้อนาคตจึงขึ้นอยู่กับ 2 ส่วนว่า ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ควรจะผูกติดกับความแปรผันของรัฐบาลกรุงเทพฯ หรือควรแยกงานการพูดคุยเจรจาให้อยู่กับ กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) ซึ่งดูแลงานความมั่นคงที่ไม่ควรขึ้นกับความไม่มั่นคงของรัฐบาล อย่างในกรณีของอินโดนีเซีย หรือฟิลิปปินส์ก็ตาม ไม่ว่ารัฐบาลไหนขึ้นมา กระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐกับผู้เห็นต่างก็ยังมีต่อ โดยมีฝ่ายที่สามอย่างรัฐบาลฟินแลนด์และประเทศอื่นๆ ได้เข้ามาช่วยเหลืออำนวยการให้เกิดการพูดคุย
ปัจจุบันเรามีประเทศมาเลเซียเป็นตัวกลาง ซึ่งในอนาคตอาจจะไม่ใช่ประเทศมาเลเซียก็ทำได้ คิดว่าสิ่งนี้เป็นทางออกที่เราจะออกแบบได้อีกมากมาย จึงคิดว่าอนาคตยังมีความหวังถ้าประเทศไทยมีเอกภาพในการกำหนดจังหวะก้าวเดินของการพูดคุยสันติภาพ เพื่อหาทางออกกับปัญหาที่เกิดขึ้น
O ปัญหาของขบวนการฯ สู้มา10 ปี เห็นผลอะไรบ้าง หรือควรถอยมาเจรจากัน?
ในทางวิชาการ มีข้อสงสัยว่ากลุ่มขบวนการใช้อะไรเป็นเครื่องมือในการเป็นแรงจูงใจเพื่อก่อเหตุที่เกิดขึ้นตลอดสิบปีที่ผ่านมา คงไม่ใช่เพียงแค่ประวัติศาสตร์และเงื่อนไขของความเป็นชาติพันธุ์หลักของคนในพื้นที่ที่รู้สึกว่าตนเองถูกกดทับ ไร้อิสรภาพในทางอัตลักษณ์เท่านั้น เหตุผลที่สำคัญถ้าสำรวจจะพบว่า เขาเหล่านั้นใช้ศาสนามาตั้งแต่ต้นจนปัจจุบัน
ในมุมมองอิสลาม แม้กระทั่งในสถานการณ์สู้รบแบบเอาชีวิตเข้าแลก กระนั้นหลักการอิสลามยังกำหนดไว้ และศาสดามูฮัมหมัดก็ยังเป็นแบบอย่างทำให้เห็นถึงการประกาศสงครามอย่างเปิดเผย การกำหนดศัตรูให้ชัด แยกแยะและไม่เหมารวม การมีจุดสิ้นสุดของสงครามและการวางอาวุธ การให้สัตยาบันระหว่างคู่ขัดแย้ง คู่สงคราม รวมทั้งการแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนกระทำ เพื่อไม่สร้างให้เกิดความสับสน เพิ่มข่าวลือ โยนความผิด ทำร้ายสังคมซ้ำสองด้วยความคลุมเครือ เพราะการดิ้นรนต่อสู้ในอิสลามนั้นมีวิธีการขั้นตอน มีกระบวนการที่ชัดเจน มิได้มุ่งเพียงชัยชนะเท่านั้น หากแต่ต้องมีสัจจะ ความยุติธรรม และมีเกียรติด้วย
เงื่อนไขสำคัญ คือ การแก้ไขปัญหาการต่อสู้และมองรัฐสยามในฐานะรัฐพุทธ และกองทัพที่เป็นเครื่องมือของเจ้าอาณานิคมกรุงเทพฯที่ยึดครองในสิ่งที่ชนกลุ่มน้อยคิดว่าตนมีสิทธิในพื้นที่ของตนเอง คิดว่าประเด็นศาสนานั้น ขบวนการต้องมาคิดต่อว่าในการต่อสู้เดินทางมาถึงขั้นไหนแล้ว ก็ต้องมาพินิจพิเคราะห์ความสูญเสียหรือสิ่งที่แย่ลงจากภาวะปกติในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา
ถ้าพูดในแง่ของศาสนา ท้ายสุดขบวนการก็ต้องยึดเอาหลักการศาสนาผ่านประวัติศาสตร์ของศาสดามูฮัมหมัดนำกลับมาพิจารณา จะพบว่าสุดท้ายสงคราม ความยัดแย้ง จะต้องจบด้วยการเจรจาและสงบศึก สงครามต้องมีระยะเวลา สงครามที่ยืดเยื้อไม่เป็นผลดีทั้งสองฝ่าย
กระทั่งในแง่มุมของหะดิษ วัจนะของท่านศาสดาเอง ยังส่งเสริมให้เกิดการวางอาวุธ ยังมองว่า "สภาวะสงครามในสนามรบ" ในสภาวะของการเผชิญหน้า เป็นพื้นที่ของความท้าทายที่ยังเล็กกว่า "สงครามสนามใหญ่" ซึ่งหมายถึง "การอยู่ในภาวะปกติสุข" ที่ต้องจัดการครอบครัว ชุมชน เพื่อที่จะปฏิบัติตนให้อยู่อย่างสอดคล้องในหลักธรรมศาสนา ซึ่งก็ยากพอสมควรในสภาวะปัจจุบันและอนาคต เพื่อที่จะทำให้เกิดความสงบสุข กินดี อยู่ดีกินดี มันยากไม่น้อยไปกว่าภาวะสงครามในการดำรงตนเป็นมุสลิมที่ดี แม้ว่าในสังคมปกติ แม้ไม่มีสงครามและการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นก็ตาม มันก็ไม่ได้ง่ายไปกว่าการใช้ชีวิตในภาวะสงครามเลย
ฉะนั้นสิ่งที่ขบวนการจะต้องพิจารณา คือการทบทวนว่าอะไรที่ยังเป็นทางออกหรืออนาคตข้างหน้า การลอบทำร้ายกัน การใช้อาวุธในการเอาชีวิตซึ่งกันและกัน เป็นคำตอบจริงหรือ? หรือเราเชื่อว่าการได้สิทธิในการปกครองพื้นที่แล้วจะทำให้ชีวิตดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ อะไรคือสิ่งที่ขบวนการคิดอย่างนั้น 10 ปีต้องมีภาพบางอย่างว่า ทางข้างหน้าอะไรคือเส้นและกรอบของความสันติสุขที่ขบวนการอยากได้อย่างแท้จริง ซึ่งอาจจะเห็นพ้องหรือเห็นต่างจากสิ่งที่รัฐอยากเห็นด้วยเช่นกัน
การต่อสู้เพื่อได้คืนมาซึ่งอำนาจในการปกครอง จัดการตนเอง มีผลสูญเสียตามรายทางอย่างไร ถ้าได้หรือไม่ได้สิทธิเหล่านั้นจากรัฐไทยจะปกครองอย่างไร เราควรจะถูกปกครองหรือปกครองตนเองอย่างไร ทั้งหมดควรมีแผนการที่เปิดเผยได้ และจะด้วยวิธีการอย่างไร การไม่พูดคุย ไม่เปิดเผยเป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่ทำให้ปัญหาไม่ยุติง่ายๆ ฉะนั้นมองว่าทุกฝ่ายจำเป็นอย่างขาดไม่ได้ที่จะหันมาพูดคุยกัน การเจรจาเท่านั้นจะยุติปัญหาได้
ข้อคิดประการสำคัญคือหากเจ้าหน้าที่รัฐไทยใช้ "กฎหมาย" เป็นเครื่องมือปกครอง ปราบปรามที่ตอบโจทย์แค่ดุนยา (โลกนี้) ขบวนการก็จะต้องยึดเอา "หลักการอิสลาม" เป็นฐานคิด ควบคุมวิธีการ จึงจะตอบโจทย์ทั้งดุนยา (โลกนี้) และอาคีรัต (โลกหน้า)
O อุทาหรณ์ 10 ปีไฟใต้ ทำให้เกิดความเลวร้าย เดือดร้อนอย่างไร?
สิ่งที่สำคัญของอุทาหรณ์ในสิบปีที่ผ่านมา หากเรานับเพียงแค่จำนวนเด็กกำพร้าและแม่หม้ายของทั้งสองฝ่าย การสูญเสียชีวิตเป็นอุทาหรณ์หลักอยู่แล้ว แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือความไว้วางใจและรอยแยกที่เกิดขึ้นกับทั้งสองฝ่าย การสูญเสียที่เป็นนามธรรมมันฝังอยู่ลึกกว่าความสูญเสียที่เป็นรูปธรรม
ผมคิดว่าความเลวร้ายและความเดือดร้อนมันจะฝังอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของคนที่เป็นเด็กกำพร้า แม่หม้าย และเหล่าผู้หญิงที่ขาดบิดา พี่ชาย หรือสามี เพราะเขาเป็นเสาหลักของครอบครัว ถ้ารัฐและชุมชนหรือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ดูแลเด็กและผู้หญิงกลุ่มนี้ หรือไม่ทำให้มีการศึกษา ศาสนา และขันติธรรมที่ดีพอ ก็ไม่มีโอกาสที่จะพัฒนาไปข้างหน้าได้
อันนี้จะเป็นการเพิ่มความเลวร้าย ความเดือดร้อนในระยะยาว เพราะว่าเด็กคืออนาคต ผู้หญิงคือผู้สร้างสภาวะแวดล้อมของพื้นที่ และเด็กกับผู้หญิงจะเป็นกลไกสำคัญที่จะบอกว่าที่ผ่านมาเขาถูกกระทำอย่างไร ขาดพ่อแม่แล้วเขาลำบากอย่างไร แล้วเขาจะเลือกเดินเส้นทางไหน ถ้าเขาเลือกจับปากกา ก็จะส่งผลให้กับสังคมอีกแบบหนึ่ง แต่ถ้าเขาเลือกจับอาวุธ ก็จะส่งผลกลับกับสังคมอีกแบบหนึ่ง
คิดว่าการลดทอนความเลวร้ายประการสำคัญ คือ จะทำอย่างไรที่จะทำให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกิดการพัฒนาในแง่บวก ทั้งในเรื่องของการศึกษา ความไว้วางใจ ความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างศาสนิก ยังเป็นประเด็นหลักๆ ในการที่จะทำให้ความเลวร้ายเดือดร้อนทุเลาลง แม้ว่ารถตำรวจ ทหารจะถูกระเบิดไปกี่คัน หรือบ้านจะถูกเผาไหม้ไปกี่หลัง สิ่งเหล่านั้นยังเป็นแค่ความเลวร้ายที่หมดไปและมีใหม่ได้ แต่ชีวิตกับความรู้สึก...อันนี้ต่างหากที่เป็นความเลวร้ายเดือดร้อนส่งผลต่ออนาคตการอยู่ร่วมกัน มากกว่าการสูญเสียวัตถุ
O มองการเยียวยาของรัฐตลอดหลายปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร?
มีทั้งบวกและลบ การเยียวยาย่อมไม่ใช่แค่การโปรยเงิน กรณีที่เกิดขึ้นในชายแดนใต้ (หมายถึงการเพิ่มเงินเยียวยาให้กับผู้สูญเสียกรณีสำคัญๆ อาทิ กรือเซะ ตากใบ ไอร์ปาแย วัดพรหมประสิทธิ์ ฯลฯ) เป็นผลสืบเนื่องอานิสงส์ของการเยียวยากลุ่มคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ (กรณีสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553) เงิน 7.5 ล้านบาทนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากเจตนาที่จะช่วยคนในสามจังหวัดมาแต่ต้น เป็นผลพลอยได้ที่ผู้นำศาสนาออกมาใช้หลักฐานทางศาสนา "เรื่องการจ่ายค่าสินไหมในอิสลาม" มาสนับสนุนในภายหลัง พร้อมๆ กับความขุ่นเคืองใจของหลายๆ ฝ่าย ทั้งที่เป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่ที่สูญเสียและได้รับบาดเจ็บ แต่ได้ความช่วยเหลือเหลื่อมล้ำกัน
ประเด็นคือ เงินเป็นคำตอบสุดท้ายหรือไม่ต่อการเยียวยา หรือจะนำมาซึ่งปัญหา ความไม่ยุติธรรม และความไม่เท่าเทียมต่อคนที่ได้น้อยกว่าหรือคนที่ไม่ได้การเยียวยา สร้างความรู้สึกตอกย้ำความไม่ยุติธรรมในการชดเชยการสูญเสียไปพร้อมๆ กันหรือไม่ ฉะนั้นการเยียวยาไม่ใช่จบแค่เงิน แต่สภาวะทางจิตใจ คุณภาพชีวิต การศึกษา ความมั่นคง และการหารายได้ของบุคคลและครอบครัวของผู้สูญเสียย่อมเป็นสาระสำคัญของการเยียวยาที่จะทำให้ชีวิตที่เขาสูญเสียคนในครอบครัวไป ได้รับการปรับปรุงสภาพให้ดีขึ้น สามารถอุ้มชูตัวเองและผันตัวมาเป็น "มือบน" ต่อไปได้ในอนาคต