คาดอีก 4 ปี ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย ประชากรสูงวัยพุ่งแซงประชากรวัยเด็ก
กรมสุขภาพจิต เผยไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรสูงวัย ล่าสุด ปี 2556 พบจำนวนผู้สูงวัย 8.9 ล้านคน เป็นหญิงมากกว่าชาย และจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด ในปี 2574
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี นอกจากเป็นวันสงกรานต์แล้ว ยังเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติอีกด้วย ซึ่งพบว่า ประชากรโลกได้เปลี่ยนผ่านสู่สังคมสูงวัยแล้ว โดยพ.ศ. 2555 โลกมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป ประมาณร้อยละ 8 ของประชากรโลกทั้งหมด 7,000 ล้านคน ซึ่งในระดับอาเซียนมีเพียงไทยและสิงคโปร์เท่านั้น ที่เข้าสู่สังคมสูงวัย โดยประเทศไทย เป็นอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรสูงวัย (60 ปีขึ้นไป) ซึ่งล่าสุด ข้อมูลจากการทะเบียนราษฎร กรมการปกครอง ณ วันที่ 31 ธ.ค.2556 มีจำนวนผู้สูงวัย 8,970,740 คน หรือร้อยละ 14 ของประชากรทั้งหมด เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
และจากการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2553-2583 ภายใต้ข้อสมมุติภาวะเจริญพันธุ์ลดลงตามปกติ ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.), 2556 ก็ได้ชี้ให้เห็นว่า ในอีก 7 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2564) ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ โดยจะมีจำนวนผู้สูงวัยมากกว่า 13 ล้านคน คิดเป็น ประมาณร้อยละ 20 หรือ ประมาณ 1 ใน 5 ของประชากรทั้งประเทศ
กล่าวได้ว่า ประชากรทุก 5 คน จะเป็นผู้สูงวัย 1 คน และพ.ศ. 2574 จะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด ในราว พ.ศ.2561 จะถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ที่จะมีประชากรสูงวัยมากกว่าประชากรวัยเด็ก
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงผู้สูงอายุ นอกจากต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพกายแล้ว ปัญหาสุขภาพจิตก็พบบ่อยเช่นกัน เช่น ปัญหาความวิตกกังวล ซึมเศร้า เหงา นอนไม่หลับ มีภาวะสมองเสื่อม ช่วงวันหยุดยาวนี้ จึงถือเป็นโอกาสดีที่จะได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันทั้งครอบครัวและทำกิจกรรม ดีๆ สร้างความรักความผูกพันกันมากยิ่งขึ้น โดยลูกหลานสามารถแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ ปู่ย่าตายายได้ด้วยการมอบความรัก ความเข้าใจ การกอดสัมผัส ให้เวลาและให้โอกาสท่านได้แสดงความสามารถที่มีอยู่ โดยการสนับสนุนช่วยเหลืออย่างจริงใจ
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงการจัดบริการสุขภาพได้แบ่งผู้สูงอายุเป็น 3 กลุ่ม คือ
กลุ่มติดสังคม พบประมาณ ร้อยละ 78.0 ของประชากรผู้สูงอายุทั้งหมด เป็นกลุ่มที่สุขภาพทั่วไปดี ช่วยเหลือตัวเองได้ มีโรคเรื้อรังที่ควบคุมได้ 1-2 โรค
กลุ่มติดบ้าน พบประมาณ ร้อยละ 20 เป็นกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือบางส่วน มีโรคเรื้อรังหลายโรค
และกลุ่มติดเตียง พบประมาณ ร้อยละ 2.0 เป็นกลุ่มที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ มีภาวะแทรกซ้อน เปราะบาง ชราภาพ ข้อแนะนำ สำหรับ ผู้สูงอายุที่ติดบ้าน ติดเตียง คือ ต้องมีกิจกรรมประจำวันที่ได้ใช้การพูด การคิด ความจำ การแก้ไขปัญหา ทำกิจกรรมต่างๆ เท่าที่ทำได้ เช่น สวดมนต์ พูดคุยกับลูกหลาน ทำสวน งานช่าง งานอดิเรก งานที่ทำให้เพลิดเพลิน ติดตามเหตุการณ์ข่าวสารรอบตัว การออกไปท่องเที่ยวนอกบ้าน ซึ่งบางกิจกรรมต้องอาศัยการสนับสนุนช่วยเหลือจากลูกหลาน ผู้ดูแล เพื่อให้ทำกิจกรรมต่างๆ ได้ ประกอบกับควรมีการเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการสนับสนุนทางสังคม เช่น การสนับสนุนส่วนที่ครอบครัวหรือผู้สูงอายุขาดหรือมีความจำเป็น พาผู้สูงอายุที่ติดบ้านไปซื้อของ ไปท่องเที่ยว หรือ ปฏิบัติธรรม ก็จะช่วยให้ผู้สูงอายุ รู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน สังคม และมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
นอกจากลูกหลานต้องเอาใจใส่ดูแลผู้สูงอายุ ทั้งด้านร่างกายและจิตใจแล้ว ผู้สูงอายุเองก็จำเป็นต้องเอาใจใส่ดูแลตนเองให้มากขึ้นด้วย โดยเฉพาะการสร้างคุณค่าให้กับตนเอง สามารถพึ่งพาตนเองได้ จะได้ดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ เกิดความสุขในชีวิต เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้กับลูกหลาน เปลี่ยนจากภาระเป็นพลังของสังคม ผู้สูงอายุสามารถสร้างความสุขให้กับตนเอง