ทำไมไทยต้องมี PBO ให้เร็วที่สุด
จากที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า โยนแนวคิด Thai PBO (Thai Parliamentary Budget Office) หน่วยงานวิเคราะห์งบประมาณแผ่นและระบบการคลังประจำรัฐสภา อออกสู่สังคม ถึงวันนี้เราจะออกแบบและผลักดัน Thai PBO อย่างไรให้เกิดขึ้นได้จริงเพื่อเสริมสร้างวินัยทางการคลัง หลังประเทศไทยได้บทเรียนราคาแพงแล้วกับโครงการจำนำข้าวที่ขาดทุนมหาศาล
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบอบการเมืองประชาธิปไตยแบบรัฐสภา จะมีกระบวนการจัดการนโยบายประชานิยมที่มีต้นทุนสูงนี้ได้อย่างไร นักเศรษฐศาสตร์ 3 ท่านมาร่วมกันค้นหาคำตอบ
ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“ประเทศไทยถึงเวลาสักทีที่เราจะต้องหยิบยกเรื่องมานี้มาพูดคุยกัน และมีการจัดตั้งสถาบันคล้ายๆ PBO เรื่องนี้มีความจำเป็น เร่งด่วน ซึ่งหากติดตามการทำงบประมาณของรัฐบาล ของสภา กระบวนการพิจารณางบฯ ยังมีภาพของการบิดเบือน ดังนั้นกลไกของ PBO จะเป็นเครื่องมือช่วยในเรื่องของการทำให้การขับเคลื่อนนโยบายการคลังของประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น
หากดูโครงสร้างงบประมาณปัจจุบัน เราจะเห็นภาพโครงสร้างของรายจ่ายประจำเพิ่มสูงขึ้นตลอด ซึ่งเป็นตัวกดดันรายจ่ายการลงทุนของประเทศ มีการใช้เงินนอกงบประมาณ เราเห็นภาพความพยายามผลักดันร่างพระราชบัญญัติกู้เงินพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท หรือพระราชกำหนดกู้เงินบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งหากประชาชนไม่เข้าใจเรื่องของความจำเป็นต้องมีการลงทุน หรือต้องมีการใช้งบประมาณที่มีประสิทธิภาพ แนวโน้มเหล่านี้ก็จะไม่มีเส้นแบ่ง เมื่อไหร่จะพอ รวมถึงไม่มีการตั้งคำถามรายจ่ายที่เพิ่มๆ มานั้นมาจากไหน
เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เห็นภาพว่า ความเข้าใจ ขอบเขตในการกำกับดูแล ข้อมูลที่เผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อให้เห็นความสำคัญต่อการกำกับดูแลเหล่านี้ ขาดหายไป
PBO เป็นกระบวนการที่มารับข้อมูลที่หน่วยงานต่างๆ ทำมาแล้ว มาพิจารณาคุ้มค่า เหมาะสมหรือไม่ และให้ข้อมูลกับสภา ซึ่งเป็นกระบวนการปลายทาง ดังนั้นจำเป็นต้องลงไปดูต้นทางด้วย เรื่องของการจัดทำงบประมาณ การอนุมัติของสภา เงินนอกงบฯ เงินท้องถิ่น งบฯ จังหวัด เป็นต้น
ที่สำคัญ ทำอย่างไรให้กระบวนการทำงาน PBO เป็นข้อมูลสาธารณะ ไม่จำกัดเพียงแค่ ส.ส.หรือสมาชิกสภาฯ เท่านั้น สื่อมวลชน ประชาชนต้องเข้าถึงข้อมูลด้วย ทั้งนี้ต้องไม่ลืมเรื่องของความน่าเชื่อถือของการทำงาน PBO ต้องเป็นอิสระเหมือนธนาคารแห่งประเทศไทย ตัวผู้บริหารก็ต้องทนต่อกระแสทางการเมือง เหมือนผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยปัจจุบัน”
รศ.ดร.ชโยดม สรรพศรี คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การตั้ง Thai PBO ขึ้นมา คำถามหลักคือ น่าเชื่อถือแค่ไหน ฉะนั้นจึงขึ้นอยู่กับการออกแบบโครงสร้างองค์การ การหาผู้นำองค์กร มีข้อมูล เครื่องมือ และคนวิเคราะห์
กรณีของสหรัฐฯ มี PBO เมื่อปี 1974 หรือ 40 ปีแล้ว การบริหารจัดการไม่ได้ขึ้นอยู่กับพรรคการเมืองใด ดำเนินการโดยมืออาชีพ ตั้งขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์วินัยทางการเงินการคลัง วิเคราะห์งบประมาณการคลังอย่างโปร่งใส วิเคราะห์ต้นทุนทางการคลัง และวิเคราะห์นโยบายทางการคลังกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไร
ที่สำคัญ ในการวิเคราะห์ดังกล่าวไม่มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อรักษาความเป็นกลาง
ขณะเดียวกันผลจากการศึกษาของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ พบว่า มี PBO ทั้งหมด 29 แห่งทั่วโลก และตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา มีการจัดตั้งเพิ่มเพียงแค่ 4 แห่ง
การจัดตั้งใหม่นั้น สิ่งที่เป็นปัจจัยผลักดันให้มีการจัดตั้ง PBO คือวิกฤตการทางเศรษฐกิจ แม้บ้านเราวิกฤตเศรษฐกิจยังมาไม่ถึง หรือมาถึงแล้ว แต่ไม่ชัดเจน แต่เรามีวิกฤตการทางการเมือง หลายปีแล้ว ดังนั้น PBO น่าจะเป็นการอุดช่องว่างเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางด้านการเงินได้
รวมถึงการออกแบบองค์การต้องอ้างอิงถึงความเป็นประชาธิปไตยด้วย ไม่เช่นนั้นจะขาดเรื่องความน่าเชื่อถือ ขณะที่ข้อมูลข้อเท็จจริง โดยเฉพาะข้อมูลของภาครัฐบางครั้งต้องมีการตรวจสอบและปัดกวาดเรื่องของข้อมูลให้ตรงไปตรงมาด้วย
ท้ายสุด Thai PBO ไม่ได้เป็นเป็นหน่วยงานที่ "ซ้ำซ้อน" กับหน่วยงานภาครัฐปัจจุบัน เช่น สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ฯ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือสำนักงบประมาณ แต่ "ซ้ำเสริม" ให้กับหลายๆ หน่วยงานเหล่านี้
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
การทำให้ Thai PBO เกิดขึ้นได้ในประเทศไทย มีข้อเสนออยู่ 7 เรื่อง
1.ต้องมีการยกร่างพ.ร.บ.สำนักงานงบประมาณประจำรัฐสภา ก่อนนำไปรับฟังความเห็นจากสาธารณชน
2.อำนาจหน้าที่ Thai PBO สามารเอื้อมไปถึงข้อมูลเงินนอกงบประมาณ องค์กรกึ่งการคลังต่างๆ ของรัฐได้ทั้งหมด เช่น ธ.ก.ส.
3.การเข้าถึงข้อมูล ต้องกำหนดบทลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐที่การปกปิดข้อมูล ไม่ให้ Thai PBO กันไม่ให้เป็นเสือกระดาษ เหมือนสำนักงานข้อมูลข่าวสารของทางราชการ
4. กรรมการ กำหนดสัดส่วนฝ่ายค้าน รัฐบาล ในสัดส่วนเท่ากัน รวมถึงมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่มีฝักฝ่าย
5. มีกรรมการสรรหา ผู้บริหาร หรือผู้อำนวยการ
6.งบประมาณไม่ต่ำกว่า 0.04% ของงบประมาณรวมแต่ละปี โดยให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเข้ามาตรวจสอบได้
และ 7. ออกแบบองค์กรให้เล็ก คล่องตัว และเข้มแข็ง