บึ้มบาเจาะขณะแม่ทัพใหม่อยู่นราฯ วงประชุมเยียวยาชงซื้อรถกระเช้าดับเพลิง
บึ้มซ้ำอีกลูกที่บาเจาะ ขณะแม่ทัพภาค 4 อยู่นราธิวาส ผบ.ทบ.ป้อง "น้องรัก" ยันระเบิดยะลาไม่เกี่ยวเปลี่ยนตัวแม่ทัพใหม่ อ้างเป็นความรุนแรงช่วงใกล้สงกรานต์ ครบรอบเหตุการณ์สำคัญ หวังทำลายธุรกิจไทยพุทธ ขับไล่จากพื้นที่ แนะตั้งศูนย์ปฏิบัติการอำเภอเพื่อจัดการปัญหาใกล้ชิด ขณะที่ "ยุทธศักดิ์" เตรียมให้กองทัพจัดวงเจรจาใหม่ เชื่อป่วนหนักชายแดนใต้กดดันให้เร่งพูดคุย รัฐไฟเขียวซื้อรถกระเช้าดับเพลิงแจกสามจังหวัด
สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงตึงเครียดและมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเวลา 15.50 น.วันพฤหัสบดีที่ 10 เม.ย.2557 ขณะที่ พล.ท.วลิต โรจนภักดี แม่ทัพภาคที่ 4 กำลังปฏิบัติภารกิจอยู่ในพื้นที่ จ.นราธิวาส ได้เกิดเหตุคนร้ายลอบจุดชนวนระเบิดแสวงเครื่องน้ำหนักประมาณ 5 กิโลกรัมที่ประกอบใส่ในถังดับเพลิง วางไว้ริมถนน จนเกิดระเบิดขึ้นขณะที่ทหารนาวิกโยธิน สังกัดร้อยปืนเล็กที่ 1 หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 จำนวน 8 นาย กำลังปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนเส้นทาง โดยใช้รถจักรยานยนต์รวม 4 คันเป็นพาหนะ
ทั้งนี้ จุดเกิดเหตุอยู่บริเวณบ้านอีโย๊ะ หมู่ 5 ต.บาเระเหนือ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส แรงระเบิดทำให้กำลังพลได้รับบาดเจ็บ 2 นาย คือ จ.อ.ณัฐสกล ปัญญา อายุ 30 ปี และ พลทหารชิดชัย ภิรมย์ อายุ 23 ปี เบื้องต้นสันนิษฐานว่าเป็นการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบ
สำหรับภารกิจของ พล.ท.วลิต ที่ จ.นราธิวาส ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน คือ ตรวจเยี่ยมหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส ตั้งอยู่ที่ ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกับ อ.บาเจาะ โดยได้ประชุมร่วมกับผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจเลข 2 ตัวของ จ.นราธิวาส ทั้งหมด รวมทั้งมอบนโยบายในฐานะเข้าปฏิบัติหน้าที่แม่ทัพภาคที่ 4
ผบ.ทบ.ป้องบึ้มยะลาไม่เกี่ยวแม่ทัพใหม่
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันพุธที่ 9 เม.ย. พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) พล.อ.อักษรา เกิดผล เสนาธิการทหารบก และคณะ ได้เดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อติดตามความคืบหน้าการคลี่คลายสถานการณ์ระเบิดที่ จ.ยะลา
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคงไม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนตัวแม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่ เพราะเกิดเหตุเช่นนี้มานานแล้ว และได้พยายามแก้ไขปัญหามาโดยตลอด ส่วนการเปลี่ยนผู้บังคับบัญชาก็มีการเปลี่ยนแปลงตามขั้นตอน ตามลำดับ
"ทำไมต้องไปคิดว่าการเปลี่ยนแม่ทัพภาคที่ 4 จึงทำให้เกิดเหตุระเบิดที่ยะลา เป็นคนละเรื่องกัน ผมไม่ได้ปกป้องแม่ทัพ ส่วนสาเหตุของความรุนแรงคือใกล้วันสงกรานต์ และครบรอบเหตุการณ์สำคัญ ซึ่งเขาพยายามทำให้เกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจที่ถูกระเบิดนั้นเป็นของคนไทยพุทธ เน้นธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง เพื่อข่มขู่คนไทยพุทธให้ออกจากพื้นที่" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว และว่า ปฏิบัติการของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงยังเป็นการยั่วยุให้เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงตอบโต้ เพื่อยกระดับสถานการณ์ไปสู่ต่างประเทศ จึงได้สั่งการให้แม่ทัพภาค 4 พูดคุยกับย่านการค้าว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยจะเพิ่มมาตรการในการรักษาความปลอดภัย ส่วนร้านค้าก็ต้องติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด
จี้ตั้ง ศปก.อำเภอ ให้ นอภ.รับผิดชอบหลัก
อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ ยอมรับว่า ปัญหาภัยแทรกซ้อน เช่น ยาเสพติด มีผลต่อการแก้ปัญหาในพื้นที่ บางครั้งทำให้สถานการณ์มีความรุนแรงขึ้น แต่การปรับยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่ผ่านมาก็ทำให้สถานการณ์เริ่มดีขึ้น แต่ไม่สามารถป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ อยากให้ทุกคนเฝ้าระวัง เพราะเขตเมืองที่เริ่มมีปัญหา โดยฝ่ายตรงข้ามปรับยุทธวิธีก่อเหตุโดยใช้ระเบิดขนาดเล็ก แต่เน้นให้เกิดเพลิงไหม้
นอกจากนี้ ยังได้เรียกร้องไปยังฝ่ายพลเรือน ตำรวจ ผู้ว่าราชการจังหวัด และฝ่ายปกครองให้ช่วยกัน โดยจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการประจำอำเภอ ให้นายอำเภอเป็นคนดูแล มีกำลังทหารไปดูแลในเรื่องยุทธการเพื่อแก้ไขสถานการณ์ในแต่ละอำเภอให้ได้
"ยุทธศักดิ์" ชี้ บึ้มถี่กดดันเร่งเจรจา
ด้าน พล.อ.ยุทธ์ศักดิ์ กล่าวว่า เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นความพยายามของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่ต้องการสร้างสถานการณ์เพื่อให้รัฐหันมาสนใจ และนำไปสู่การเปิดฉากเจรจาขึ้นอีกครั้งหลัง หลังการเจรจาสันติภาพได้ยุติลงเนื่องจากทางการไทยประสบปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง
"สิ่งที่เกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องทั้งการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล และการเปลี่ยนผ่านในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการเปลี่ยนตัวเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จาก พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เป็น นายถวิล เปลี่ยนศรี ซึ่งหมายความว่าคณะทำงานต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่" พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าว
ส่วนเวทีเจรจาสันติภาพนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า จะได้หารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อนำมาจัดรูปแบบใหม่ว่าต้องเร่งเปิดเวทีเจรจาอีกครั้ง เพื่อไม่ให้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบก่อเหตุรุนแรงขึ้นอีก
ตั้งวงรับฟังปัญหา-รับปากซื้อรถกระเช้าดับเพลิง
วันเดียวกัน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี และ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้เดินทางลงพื้นที่ จ.ยะลา เช่นกัน และได้ไปที่ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา เพื่อติดตามตามความคืบหน้าการตรวจพิสูจน์หลักฐานจากคดีระเบิดที่เกิดขึ้น
จากนั้น พล.ต.อ.ประชา ได้ร่วมประชุมเพื่อมอบนโยบายและรับทราบความคืบหน้าการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนหลังเกิดเหตุระเบิด โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา เข้าร่วมหารือ
พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า มาดูเรื่องความสูญเสียและความเสียหายที่เกิดขึ้น รวมทั้งเยี่ยมเยียนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้กำลังใจและรับฟังความคิดเห็นว่าขาดเหลือสิ่งใด ต้องการสนับสนุนอะไรจากหน่วยเหนือ
หลังเสร็จประชุม พล.ต.อ.ประชา ได้เดินทางไปเยี่ยมผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุระเบิด ทั้งเจ้าของร้านรวงต่างๆ ที่ต้องสูญเสียสถานประกอบการของตนเองไป และกลุ่มที่ได้รับบาดเจ็บซึ่งยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล
มีรายงานว่าในการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีการเสนอปัญหาการขาดแคลนรถกระเช้าดับเพลิงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งๆ ที่มีเหตุวินาศกรรมขนาดใหญ่เกิดขึ้นบ่อย ทำให้ พล.ท.ภราดร รับปากว่าจะเสนอรัฐบาลเพื่อจัดสรรงบประมาณจัดซื้อรถกระเช้าดับเพลิงที่ทันสมัย ราคาคันหนึ่งราว 65 ล้านบาท มอบให้จังหวัดชายแดนภาคใต้จังหวัดละ 1 คัน
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 พล.อ.ประยุทธ์ (ซ้าย) และ พล.อ.ยุทธศักดิ์ (กลาง สวมสูท) ลงพื้นที่ จ.ยะลา เพื่อติดตามงานด้านยุทธการหลังเกิดเหตุระเบิดครั้งใหญ่ (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)
2 พล.ต.อ.ประชา ตรวจเยี่ยมสถานประกอบการในยะลาที่ได้รับความเสียหายจากเหตุรุนแรง (ภาพจากฝ่ายประชาสัมพันธ์ ศอ.บต.)