นพ.เหรียญทอง แน่นหนา :ผมเป็นคนธรรมดาไม่ใช่พ่อพระ(1)
“ผมรู้ว่าบ้านเราคงหนี้ไม่พ้นเรื่องระบบอุปถัมภ์ แต่ก็ควรอุปถัมภ์ให้เหมาะสม อุปถัมภ์คนดีมาบริหารบ้านเมือง ไม่ใช่อุปถัมภ์คนของตัวเองมารับใช้สนองนโยบายโดยที่ไม่มองความจำเป็นของประเทศชาติ”
ที่มาภาพ:https://www.facebook.com/profile.php?id=100000491468200
จากอดีตข้าราชการทหารสู่ผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชน ที่สำคัญเขายังเป็นหนึ่งในมวลมหาประชาชนที่ออกมาประกาศตัวอย่างชัดเจนว่า มีอุดมการณ์เดียวกันที่เห็นพ้องจะให้มีการปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง พร้อมประกาศชัดยกมือสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือ กปปส.อย่างเต็มที่ โดยไม่หวั่นวิตกว่าจะกระทบกับธุรกิจของตนเองหรือไม่
ผู้ที่ยืนยันด้วยน้ำเสียงหนักแน่น "คนที่มาขาดทุนมากกว่าผม"
ขณะที่วีรกรรมที่ทำให้ใครต่อหลายคนประทับใจจนเป็นที่จดจำของคนในโลกโซเชียลคือเหตุการณ์การขอคืนพื้นที่ในบริเวณศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2557 ที่เขาเข้าไปเจรจาและใช้ตัวบัง บังเกอร์เพื่อไม่ให้ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมในวันดังกล่าว
สำนักข่าวอิศรา พาไปพูดคุยกับ และรู้จักตัวตนที่แท้จริงของ พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ วีรบุรุษที่ถูกกล่าวขวัญมากคนหนึ่งในโลกโซเซียลมีเดีย
พล.ต.นพ.เหรียญทอง หรือ “พี่เหรียญ” เป็นลูกชายคนเดียวของครอบครัว "แน่นหนา" ในบรรดาพี่น้องทั้งหมด 10 คน ขณะที่โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะก็ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาจากคนในครอบครัว ก่อนที่ภายหลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว ครอบครัวแน่นหนา ก็ยังคงถือหุ้นใหญ่ของโรงพยาบาลนี้อยู่
สำหรับชีวิตราชการทหาร ตำแหน่งสุดท้ายก่อนลาออกจากราชปี 2550 หมอเหรียญทอง ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองยุทธการทหารบก ซึ่งเหตุที่ทำให้เขาต้องตัดสินใจลาออกจากชีวิตข้าราชการ ด้วยวัย 48 ปี ก็เพื่อมาดูแลธุรกิจของโรงพยาบาลแทนพี่สาวที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งและเสียชีวิตไป
“สาเหตุที่ผมลาออกจากราชการ ผมขอบอกเลยว่า ไม่ได้ลาออกเพราะความผิดหวังหรือความล้มเหลวในตำแหน่งอาชีพ ตอนที่ผมรับราชการชีวิตเติบโตมาดีพอสมควร มีความก้าวหน้าในอาชีพ แต่เพราะพี่สาวเสียชีวิตต้องออกมาดูแลธุรกิจ”
หมอเหรียญทอง เล่าอีกว่า ก่อนที่จะออกจากอาชีพราชการมา เขาได้เห็นปัญหาหลายอย่าง ในการบริหารราชการ การใช้อำนาจในการแต่งตั้งด้วยระบบอุปถัมภ์ เจ้านายดีๆ หลายคนในขณะนั้นไม่ได้เลื่อนตำแหน่ง เพราะไม่มีเส้น การบริหารเน้นไปที่ระบบอุปถัมภ์มากกว่าระบบคุณธรรม
“ผมรู้ว่าบ้านเราคงหนี้ไม่พ้นเรื่องระบบอุปถัมภ์ แต่ก็ควรอุปถัมภ์ให้เหมาะสม อุปถัมภ์คนดีมาบริหารบ้านเมือง ไม่ใช่อุปถัมภ์คนของตัวเองมารับใช้สนองนโยบายโดยที่ไม่มองความจำเป็นของประเทศชาติ”
สำหรับแนวคิดในเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองนั้น หมอเหรียญทอง มองว่า อย่างไรก็ตามประเทศไทยควรจะต้องมีการปฏิรูป เนื่องจากที่ผ่านมาแม้จะมีการเลือกตั้งมาหลายครั้ง แต่ก็พบกับปัญหา เกิดการยุบสภาตลอด ซึ่งวนเวียนเป็นแบบนี้มาหลายปีแล้ว กลายเป็นวงจรอุบาทว์ของระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งการพัฒนาในด้านต่างๆของประเทศมีข้อจำกัด ระบบราชการเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา ดังนั้นเพื่อให้ประเทศเข้าสู่ระบบความเจริญจึงต้องเดินหน้าปฏิรูปประเทศ
ส่วนเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมือง เขาเล่าโดยจดจำได้อย่างละเอียด เริ่มมาตั้งแต่ปี 2548 ช่วงของการชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ในขณะที่ยังรับราชการทหาร แต่จะเข้าร่วมชุมนุมเฉพาะช่วงหลังเลิกงาน เนื่องจากเห็นว่าผู้ชุมนุมที่ออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนั้นมาด้วยเจตนาที่ดีและเห็นว่า ขณะนั้นมีปัญหาการบริหารราชการแผ่นดินแบบระบบเผด็จการ
"การเข้าร่วมทุกครั้งจะเข้าร่วมในฐานะผู้ร่วมชุมนุมคนหนึ่งเท่านั้น" หมอเหรียญทอง ย้ำ ด้วยเห็นว่า สิ่งที่มวลชนแสดงออกเป็นอุดมการณ์เพื่อประเทศชาติ ไม่ได้ทำเพื่อพรรคการเมือง
“ยิ่งความสัมพันธ์ส่วนตัวยิ่งไม่มี ไม่ว่าจะกับพรรคการเมืองใดก็ตามเพราะผมเป็นคนรักษาระยะห่าง ไม่เคยคุ้นเคยกับพรรคประชาธิปัตย์ และไม่เคยรู้จักใครในพรรคเป็นการส่วนตัวทั้งสิ้น”
ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะ บอกว่า สมัยที่เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรฯ ก็ไม่ได้แสดงตัวเป็นผู้ชุมนุมชัดเจน ไม่ใช่ว่ากลัวที่ตัวเองยังรับราชการทหารอยู่ เพราะเวลาไปเจ้านายก็รู้ว่า เราไปชุมนุม แต่ที่ยังไม่กล้าเรียกตัวเองว่าเป็นพันธมิตร เพราะว่าไม่ได้ไปร่วมชุมนุมอย่างเต็มตัว
จุดหักเหของการชุมนุมในช่วงนั้นนี่เอง ที่ทำให้เขาเห็นความรุนแรงที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำกับประชาชน
"พอเห็นแล้วรู้สึกไม่ชอบ เพราะเป็นคนเกลียดความรุนแรง ยิ่งเห็นคนที่อายุเท่าผมมาตาย ("เจนกิจ กลัดสาคร" ซึ่งถูกสะเก็ดระเบิดที่บริเวณคอด้านซ้ายทะลุเข้าเส้นเลือดใหญ่ ทำให้เสียชีวิต เมื่อปี 2551) แล้วลูกสาวเขาขึ้นไปยืนพูดบนเวที เห็นภาพนั้นยิ่งรู้สึกว่าจะนั่งเฉยๆ อยู่เฉยๆ ไม่ได้อีกแล้วเพราะรู้สึกละอายใจ"
หลังจากนั้นหมอเหรียญทองก็เริ่มแบกเป้ไปร่วมชุมนุมทุกคืน เรียกว่า กลางวันเป็นผอ.รพ.กลางคืนเป็นหมอข้างถนน
พอมาช่วงที่มีการปิดสนามบิน (ดอนเมือง) ก็มีการจัดรถพยาบาลไปสนับสนุนพันธมิตรฯ ทุกคืน และไปทำหน้าที่หมอรักษาผู้ที่ได้รับบาดเจ็บอยู่ที่นั่น
ก่อนจะย้ำอีกว่า "ช่วงนั้นผมได้ลาออกจากอาชีพการเป็นทหารเรียบร้อยแล้ว"
ยิ่งเมื่อนึกถึง "รณชัย ชัยศรี" เด็กหนุ่มวัย 29 ปี จากจังหวัดสงขลา มาเสียชีวิตที่เมื่อปี 2551 จากเหตุระเบิดเกิดขึ้นที่สนามบินดอนเมือง นั้น ก่อน 1 วันที่จะมีการยุบสภา (รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช) หมอเหรียญทอง ถึงกับหยุดนิ่งอยู่นาน พูดไม่ออก
"ถึงแม้ในชีวิตผมจะเห็นคนตายมาเป็นจำนวนมาก ครั้งนั้นผมสงสาร จดจำได้เป็นอย่างนี้ อาจเป็นเพราะเราตั้งเป้าไว้สูงว่าจะต้องไม่มีคนเสียชีวิตจากเหตุการณ์การชุมนุมในครั้งนั้น และผมเป็นคนที่ช่วยชีวิตเขาไว้ไม่ได้ จึงรู้สึกเสียใจมากที่สุด"
ดังนั้นวันนี้ถ้าใครแค่มาบอกผมว่า เป็นพันธมิตรฯ "ผมรักหมด การร่วมเป็นร่วมตาย ทำให้รักกันมากอย่างไม่มีเหตุผลด้วย"
นี่คือจุดเริ่มต้นอุดมการณ์ทางการเมืองของคนที่ชื่อว่า "เหรียญทอง แน่นหนา" ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ก่อนที่จะเขาจะเริ่มประกาศตัวชัดเจนว่าวันนี้เห็นด้วยกับกปปส.และพร้อมจะสนับสนุนอย่างเต็มที่
ไม่ว่า กำนันสุเทพเฮไปทางไหน เขาก็จะตามไปทุกที แม้ว่าบางครั้งจะยอมรับว่า เขาก็ "หงุดหงิด"
ตอนต่อไป ตามดูกันว่า ทำไมหมอเหรียญทอง จากคนที่ไม่ชอบสุเทพ วันนี้ถึงเปลี่ยนเป็นรักฉิบหาย!! เป่านกหวีดเมื่อไหร่ เป็นต้องไปร่วมขบวน