แนะตั้ง ‘ศูนย์เดย์แคร์’ แก้คนย้ายถิ่นฝากผู้สูงวัยเลี้ยงเด็กเสี่ยงด้อยพัฒนาการ
นักวิชาการเผยคนอีสานย้ายถิ่นฐานทำงานในเมือง ฝากเด็กไว้กับผู้สูงอายุเลี้ยง เสี่ยงด้อยพัฒนาการเรียนรู้ แนะภาครัฐคลอดนโยบายตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กเพียงพอ ยกสิงคโปร์เทียบมาตรฐาน ประเทศเล็กมีเกือบหมื่นแห่ง
ภายหลังสถาบันอนาคตไทยศึกษาออกมาเปิดเผยผลวิจัย ‘8 ข้อเท็จจริง ความเหลื่อมล้ำในไทย’ โดยข้อมูลตอนหนึ่งได้ระบุถึงครอบครัวส่วนใหญ่ในหมู่บ้านที่จนที่สุดมีคนชราเป็นหัวหน้าครอบครัว ซึ่งราว 40% นั้นมีรายได้หลักจากเงินที่ลูกหลานส่งมาให้ มิใช่จากอาชีพชาวนาหรือเกษตรกรรมอื่นอย่างที่เข้าใจกัน จึงอาจส่งผลให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำตามมาได้
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สัมภาษณ์ผศ.ดร.วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คนไทยมีการย้ายถิ่นฐานมากเมื่อประมาณ 20-30 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) เพื่อเข้ามาทำงานหาเลี้ยงชีพตามโรงงานอุตสาหกรรมและภาคบริการต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งแน่นอนคนในวัยแรงงานจะต้องละทิ้งให้ผู้สูงอายุอยู่บ้านเพียงลำพัง โดยส่วนใหญ่มักรอรับเงินค่าครองชีพที่จะส่งกลับไปให้จากบุตรหลานมากกว่าจะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเอง ซึ่งสภาพอากาศมักไม่เอื้ออำนวย
“ผู้หญิงมักส่งเงินกลับไปให้ผู้สูงอายุอย่างสม่ำเสมอมากกว่าผู้ชาย และจากสาเหตุดังกล่าวจึงทำให้ผู้สูงอายุสามารถนำเงินไปบริหารจัดการเพื่อใช้ในการยังชีพได้ตลอด ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบแล้ว ดังนั้นหลายครัวเรือนจึงมีหัวหน้าเป็นผู้สูงอายุ”
ผศ.ดร.วิมลทิพย์ กล่าวต่อว่า เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ภาคใต้ของไทยที่มีสภาพทางเศรษฐกิจค่อนข้างดีและทรัพยากรที่สมบูรณ์มากกว่าภาคอีสาน ทำให้ผู้สูงอายุสามารถทำมาหากินได้โดยไม่ต้องรอเงินส่งกลับจากบุตรหลาน ทั้งที่ความจริงแล้วคนใต้มีการย้ายถิ่นฐานเข้ามาในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเช่นกัน แต่ส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อการศึกษาเล่าเรียนมากกว่า
ทั้งนี้ อนาคตหลายครอบครัวจะมีผู้สูงอายุมากขึ้น จึงต้องส่งเสริมให้เกิดการเตรียมตัวอย่างน้อย 4 เรื่อง คือ เงิน ที่อยู่อาศัย สาธารณสุข และอาชีพหลังเกษียณ เพราะหากไม่มีการให้ความรู้ในสิ่งเหล่านี้ อาจจะส่งผลให้เกิดปัญหามหาศาลตามมาได้
สำหรับข้อกังวลจะเกิดปัญหาความเปราะบางในครอบครัวนั้น ผศ.ดร.วิมลทิพย์ ระบุว่า ควรคำนึงถึงการปล่อยให้เด็กอาศัยกับผู้สูงวัยเพียงลำพังจะมีผลกระทบด้านพัฒนาการมากกว่า ดังเช่นกรณียายคนหนึ่งที่บุตรนำหลานมาฝากเลี้ยง ด้วยอายุที่มาก หูไม่ดี และไม่ค่อยพูด ทำให้หลานเกิดความล่าช้าในการสื่อสารทางภาษา ฉะนั้นภาครัฐจะต้องมีความชัดเจนด้านนโยบายการดูแลเด็กให้มากขึ้น
“สิงคโปร์มีประชากรราว 3 ล้านคน รัฐบาลจึงต้องใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งหญิงและชายทำงานอย่างเต็มที่ ดังนั้นจึงต้องให้มีสถานรับเลี้ยงเด็ก (เดย์แคร์ เนิร์สเซอรี่) รองรับกว่า 8,000 แห่ง ทำให้พ่อแม่ไม่ต้องปล่อยให้ผู้สูงอายุดูแล และสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง แต่ในทางกลับกันของไทยเอง พ่อแม่รู้ดีว่าผู้สูงอายุเลี้ยงเด็กไม่ไหว แต่ทั้งนี้จะให้พวกเขาทำอย่างไร” นักวิชาการ กล่าว .