คุยกับผู้สูงอายุแห่งชาติ ปี 57 ‘พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา’:ผมจะทำงานจนอนิจกรรม
“ผมไม่อยากให้ผู้สูงอายุเมื่อเกษียณอายุแล้วต้องท้อถอยหมดแรง และนั่งอยู่บ้านเฉย ๆ เพราะจะทำให้ความจำเสื่อมลง ความรู้ต่าง ๆ ก็จะหายไป อย่าลืมว่าโลกนี้มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและกว้างขวาง ดังนั้นความรู้ใหม่ ๆ จึงเกิดขึ้นมากมาย อีกทั้ง ปัญหาที่จะเกิดในยุคใหม่ล้วนมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้นเกินกว่าจะคาดเดาได้”
เป็นเวลากว่า 5 ทศวรรษแล้วที่ ‘นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา’ เข้ามามีบทบาทในภาครัฐวิสาหกิจ ราชการ องค์กรธุรกิจ ภาคเอกชน การพัฒนาระบบคนและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีบทบาทในการพัฒนาเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทยจนประสบความสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ จึงได้รับการประกาศเกียรติคุณ สดุดี ยกย่องให้เป็น ‘ผู้สูงอายุแห่งชาติ ประจำปี 2557’ ในวัย 87 ปี ซึ่งได้มีการจัดงานร่วมแสดงความยินดีเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา
นายพารณ เป็นบุตรของพระยาอิศรพงศ์พิพัฒน์ กับม.ล.สำลี อิศรเสนา (สกุลเดิม กุญชร) สมรสกับนางบุนนาค อิศรเสนา ณ อยุธยา (ถึงแก่อนิจกรรม) มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ นายพิพัฒน์พงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย จบวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต (ไฟฟ้า) เกียรตินิยมและวิศวกรรมศาสตร์ เครื่องกล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำเร็จการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยี แมสซาซูเซสต์ MIT สหรัฐฯ มีผลงานทางวิชาการมากมาย ทำให้ได้รับปริญญาดุษฎีกิตติมศักดิ์จากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ
“การได้รับรางวัลผู้สูงอายุแห่งชาติ ประจำปี 2557 ผมรู้สึกมีความยินดีอย่างยิ่งที่ผลงานของผมประสบผลสำเร็จ ด้วยที่ผ่านมาผมทำงานหลายอย่างเพื่อเด็กและประเทศไทย” นายพารณ เริ่มต้นบอกเล่าถึงความรู้สึกด้วยสีหน้ายิ้มแย้มกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการเป็นผู้ทุ่มเท อุทิศกำลังกาย กำลังใจ เพื่อประเทศชาติแท้จริง อย่างไม่เหน็ดเหนื่อยตั้งแต่วัยหนุ่มนั้น หลักชัยแห่งปลายอุโมงค์ย่อมมีคนเห็นเสมอ
ท่านเล่าถึงการทำงานว่า "ผมทำงานกับภาคเอกชนมาโดยตลอด จนได้นั่งในตำแหน่งระดับสูงอย่างผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และในระหว่างที่ได้ทำงานที่นี่ ผมมีโอกาสเป็นผู้จัดการฝ่ายการบุคคล เมื่อระยะเวลาผ่านไปเกิดความเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า “พนักงานเป็นสมบัติอันมีค่าที่สุดขององค์กร” จึงได้เน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์"
นอกจากการนำพาองค์กรก้าวเข้าสู่การพัฒนาบุคลากรอย่างเป็นระบบแล้ว นายพารณยังมีบทบาททางการเมือง ได้รับแต่งตั้งเป็นวุฒิสมาชิก และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติอีกด้วย ยังไม่นับรวมภายหลังชีวิตเกษียณอายุราชการที่อุทิศเวลาที่เป็นประโยชน์ให้แก่สถาบัน มูลนิธิ สมาคม อีก 41 แห่ง
นายพารณ เล่าถึงช่วงเกษียณอายุในวัย 65 ปี เขามีความเชื่อว่าเด็กไทยเป็นสมบัติอันมีค่าที่สุดของประเทศ ดังนั้นชีวิตในบั้นปลายจึงอยากพัฒนาเด็กไทยให้เป็นคนดีและคนเก่งในชาติบ้านเมือง สามารถพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาประเทศที่เจริญได้ต่อไปในอนาคต
"ปัจจุบันผมเป็นผู้อำนวยการใหญ่ ดรุณสิกขาลัย โรงเรียนนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พัฒนาการศึกษาโดยนำแนวคิด Constructionism มาใช้ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กมีความคิดด้วยตนเอง ได้ดำเนินงานมา 16 ปีแล้ว ผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ รวมถึงได้ขยายงานพัฒนาโรงเรียนต่าง ๆ ราว 45 แห่ง เพื่อพัฒนาเป็นโรงเรียนตัวอย่างในการปฏิรูประบบการศึกษาไทย ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ด้วย"
นอกจากนี้ เขายังพัฒนาโครงการพลิกฟื้นผืนป่าที่เสื่อมโทรม ให้เป็นแหล่งอาหาร ต้นน้ำ และเป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าในชุมชน จนกระทั่งกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ชุมชนบ้านสามขา จ.ลำปาง จนได้รับรางวัลเศรษฐกิจพอเพียงในเวลาต่อมา ด้วยชาวบ้านล้วนมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เเละยังพัฒนาโครงการแก้มลิงและเศรษฐกิจพอเพียง อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ทำให้ชาวนาที่เคยยากจน มีหนี้สินล้นพ้นตัว ได้กลายเป็นผู้นำความคิดของชุมชนในที่สุด
“ขณะนี้ผมได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ทำบลูปริ๊นการพัฒนาคนไทยตั้งแต่ทารกในครรภ์มารดา อนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ ผู้สูงอายุ” ผู้สูงอายุแห่งชาติ ปี 2557 กล่าว และยืนยันด้วยเสียงหนักแน่นว่าจะตั้งใจทำงานไปจนกว่าจะเป็นอัลไซเมอร์หรือถึงแก่อนิจกรรม
เมื่อถามถึงการแก้ปัญหาในอนาคตที่ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นายพารณ ระบุว่า ผู้สูงอายุยังมีไฟ มีประสบการณ์ความรู้มากมาย ดังนั้นเมื่อเกษียณอายุ 60 ปี ควรจะช่วยกันออกมาทำงานพัฒนาประเทศ เริ่มต้นอาจสมัครเป็นวุฒิอาสา โครงการธนาคารคลังสมอง ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ นักกฎหมาย นักธุรกิจ หรืออาชีพใดก็ตาม ที่คิดว่ายังมีกำลังวังชาให้มาช่วยกันพัฒนาสังคม เพื่อการเกิดประโยชน์สูงสุด
ส่วนจะสนับสนุนแนวคิดเพิ่มอายุราชการจาก 60 ปี เป็น 65-70 ปีหรือไม่นั้น นายพารณ กล่าวเพียงว่า ปัจจุบันวงการสาธารณสุขไทยมีการพัฒนาที่ดีขึ้น ทำให้คนอายุยืน ดังนั้นผู้สูงอายุหลายคนที่มีประสบการณ์ก็ควรออกมาช่วยกัน
“ผมไม่อยากให้ผู้สูงอายุเมื่อเกษียณอายุแล้วต้องท้อถอยหมดแรง และนั่งอยู่บ้านเฉย ๆ เพราะจะทำให้ความจำเสื่อมลง ความรู้ต่าง ๆ ก็จะหายไป อย่าลืมว่าโลกนี้มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและกว้างขวาง ดังนั้นความรู้ใหม่ ๆ จึงเกิดขึ้นมากมาย อีกทั้ง ปัญหาที่จะเกิดในยุคใหม่ล้วนมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้นเกินกว่าจะคาดเดาได้”
นายพารณ กล่าวทิ้งท้ายถึงสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันว่า ขณะนี้การต่อสู้ทางการเมืองไม่มีใครที่ไหนจะทราบเลยว่าจะจบลงอย่างไร
ฉะนั้นสำนวนที่ว่า “รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี” หมายถึง เราต้องรู้จักเรียนรู้เพื่อรู้ จะทำให้คิดต่อไปเองได้ ไม่ต้องไปหากูรูหรือราชครูที่ไหนมาคอยแนะนำว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่เราต้องเชื่อตนเองตลอดเวลา ตามที่พุทธเจ้าเคยตรัสไว้ว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”
****************
ด้วยคุณูปการมากมายที่มีต่อวงการศึกษาไทย ตลอดจนถึงแวดวงอื่น ๆ แสดงให้เห็นถึงอุดมการณ์อันแรงกล้าที่อุทิศตนเพื่อการพัฒนาสังคมไทยอย่างแท้จริง ภายใต้การยึดหลักการทำงานที่เน้นคุณธรรมจริยธรรม เคารพในสถาบันหลักของชาติ เล็งเห็นประโยชน์ส่วนร่วมเป็นที่ตั้ง นับว่าคู่ควรแล้วที่จะได้รับการประกาศเกียรติคุณ สดุดี ยกย่อง เป็นผู้สูงอายุแห่งชาติประจำปีนี้ .