อุดช่องโหว่ใช้เงินแผ่นดินสุรุ่ยสุร่าย นักวิชาการเสนอตั้ง Thai PBO เสริมเขี้ยวเล็บรัฐสภา
กระแสปฏิรูปเปิด ดร.สมชัย ดันตั้ง Thai PBO หน่วยงานช่วยตรวจสอบการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน ให้เป็นรูปธรรมเร็วที่สุด ระบุชัดหนึ่งในสาเหตุความขัดแย้งทางการเมือง มาจากความไม่โปร่งใสการใช้งบประมาณ โชว์หลายสิบประเทศมีแล้ว แม้แต่เพื่อนบ้านอย่างพม่า
วันที่ 9 เมษายน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดเสวนาสาธารณะเรื่อง ปฏิรูประบบการคลังด้วย Thai PBO ณ ห้องประชุมชั้น 2 ทีดีอาร์ไอ โดย ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงรูปแบบของสำนักงบประมาณประจำรัฐสภา (Parliamentary Budget Office:PBO) ว่า จะเป็นหน่วยงานที่ช่วยให้การตรวจสอบการใช้จ่ายเงินแผ่นดินภายใต้ระบบประชาธิปไตยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ดร.สมชัย กล่าวถึงแนวคิดนี้เกิดขึ้นมากจากความไม่สมดุลในกระบวนการตรวจสอบและถ่วงดุล โดยฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) มีความได้เปรียบในการเข้าถึงข้อมูลงบประมาณ และมีหน่วยงานในกำกับทำการวิเคราะห์ผลกระทบทางการคลังให้ ขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติ (ส.ส.ฝ่ายค้าน/รัฐบาล/ส.ว.) เสียเปรียบเรื่องข้อมูลขาดหน่วยงานสนับสนุนการวิเคราะห์งบประมาณ ทำให้การใช้เงินแผ่นดิน ไม่ได้รับการกลั่นกรองโดยผู้แทนของประชาชนอย่างเพียงพอ ซึ่งการมีหน่วยงานแบบ PBO ช่วยสร้างสมดุลในเรื่องนี้ได้
“หลายสิบประเทศมีหน่วยงานลักษณะแบบนี้ เช่น ออสเตรเลีย แคนนาดา อิตาลี สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ฯลฯ ที่น่าสนใจกระทั่งประเทศเพื่อนบ้านเรา อย่างพม่าจัดตั้ง PBO เรียบร้อยแล้ว ขณะที่ไทยยังไม่มี”
ส่วนเป้าหมาย PBO นั้น ดร.สมชัย กล่าวว่า คือการสร้างความโปร่งใสและความรับผิดชอบในการจัดทำงบประมาณ ผ่านการให้บริการสมาชิกรัฐสภาและประชาชนในการวิเคราะห์ผลกระทบทางการคลังและผลกระทบทางเศรษฐกิจของการใช้เงินแผ่นดินของฝ่านบริหาร และก่อให้เกิดการถกเถียงสาธารณะเรื่องการใช้งบประมาณ โดยมีหลักฐานทางวิชาการรองรับ
สำหรับหน้าที่ของ PBO คือการวิเคราะห์ ประมาณการเศรษฐกิจทั้งระยะสั้น ปานกลาง และระยะยาว ประมาณการรายรับรัฐบาล ทั้งรัฐบาลกลางและท้องถิ่น วิเคราะห์ผลกระทบทางการคลังของการเปลี่ยนแปลงนโยบายภาษี การใช้จ่าย วิเคราะห์ต้นทุนการคลังของนโยบายที่สำคัญ ซึ่งอาจรวมต้นทุนของนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองด้วย เช่นที่ออสเตรเลีย และฟินแลนด์
สิ่งสำคัญเพื่อความเป็นกลางไม่ฝักใฝ่พรรคการเมือง ไม่เลือกข้าง ดร.สมชัย กล่าวว่า PBO จะไม่ให้ความเห็นทางการเมือง หรือบอกว่านโยบายอะไรถูกหรืออะไรผิด แต่จะรายงานและให้การต่อคณะกรรมาธิการงบประมาณ ส่งรายงานการวิเคราะห์ให้ทุกพรรค ตรงตามเวลา และสื่อสารกับสาธารณะอย่างต่อเนื่อง และเข้าใจง่าย
ดร.สมชัย กล่าวอีกว่า ประเทศไทยควรมี PBO มานานแล้ว เนื่องจากสมาชิกรัฐสภาโดยทั่วไปยังขาดความเชี่ยวชาญการวิเคราะห์งบประมาณการคลัง โดยเฉพาะการวิเคราะห์ในภาพรวม ขณะที่มีนโยบายจำนวนมากที่ต้นทุนทางการคลังไม่ชัดเจน เช่น โครงการจำนำข้าว ซึ่งมีคนจำนวนมากไม่ค่อยรู้ว่า จำนำข้าวจะกลายเป็นต้นทุนทางการคลัง รวมถึงการไม่มีการวิเคราะห์การคลังระยะปานกลาง ระยะยาวอย่างเป็นระบบ ไม่มีการประเมินความเสี่ยงทางการคลังอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
“ไทยควรมี PBO ให้เร็วที่สุด เพราะหนึ่งในสาเหตุความขัดแย้งทางการเมืองของไทย มาจากความไม่โปร่งใสของการใช้งบประมาณ ความคิดเห็นที่แตกต่างของต้นทุนงบประมาณบางโครงการ เช่น จำนำข้าว และแนวโน้มการใช้เงินนอกงบประมาณที่สูงขึ้น” ดร.สมชัย กล่าว และว่า ขณะนี้เป็นจังหวะที่ดีมีกระแสปฏิรูปเปิดช่องให้ แม้จะมีการถกเถียงเรื่องการปฏิรูประบบการเงินการคลังเกิดขึ้นแล้วอย่างกว้างขวาง แต่ยังไม่มีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม ดังนั้น Thai PBO จะเป็นข้อเสนอที่รูปธรรมที่สุด สอดคล้องกับหลักปฏิบัติที่ดีทางการคลัง และเป็นแนวโน้มทั่วโลกทำกันอยู่
ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงความก้าวหน้าการจัดตั้ง Thai PBO ด้วยว่า มีคนซื้อไอเดียนี้มาระยะหนึ่งแล้ว โดยธนาคารโลกให้การสนับสนุนสถาบันพระปกเกล้าในการจัดตั้ง PBO ในไทย ขณะที่ประธานรัฐสภาก็ได้มีคำสั่งจัดตั้ง “กลุ่มงานสำนักงานงบประมาณของรัฐสภา” ขึ้นแล้วเมื่อเดือนมีนาคม 2556 ภายใต้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งอยู่ระหว่างการกำหนดรูปแบบองค์กรและกำหนดภารกิจ
ส่วนการจัดตั้ง Thai PBO อย่างเป็นทางการนั้น จะเกิดได้จริงหรือไม่ ดร.สมชัย กล่าวว่า ในอนาคจอาจต้องมีการออกกฎหมายจัดตั้ง Thai PBO ขณะที่สถานะองค์กรก็มีหลายทางเลือก ฉะนั้นการออกแบบจำเป็นต้องทำอย่างรอบคอบ เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ภายใต้บริบทการเมืองไทยได้
ทั้งนี้ ในเวทีมีตัวอย่างการวิเคราะห์งบประมาณ โดยดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล วิเคราะห์ผลกระทบทางการคลังของนโยบายรถใหม่คันแรก และ รศ.ดร.ศาสตรา สุดสวาสดิ์ วิเคราะห์ภาพการคลังระยะปานกลางของไทยด้วย