ชุมชนจัดการพลังงานได้ ‘นพ.นิรันดร์’ ชี้รัฐไม่จำเป็นต้องผูกขาดฝ่ายเดียว
เวทีเครือข่ายพลังงานหนุนแลกเปลี่ยนความรู้พึ่งพาตนเอง ‘ยุทธการ’ เผยชุมชนผลิตเครื่องกำเนิดพลังงานเองได้ แต่ขาดงบหนุนเสริมวิจัยพัฒนา กรรมการสิทธิฯ ชงเน้นนโยบายกระจายอำนาจ ไม่ใช่เหมาไว้ที่นายทุนอย่างเดียว
เร็ว ๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีระดมความคิดเห็นข้อเสนอแนะการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนของประเทศ ภายใต้งาน ‘มหกรรมพลังงานชุมชน’ ณ จ.กาญจนบุรี
ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด ผอ.มูลนิธินโยบายสุขภาวะ กล่าวว่า เครือข่ายพลังงานชุมชนกำเนิดขึ้นเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา โดยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกิจกรรมมหกรรมพลังงานนั้นแบ่งเป็น 3 ช่วง เริ่มจัดขึ้นเป็นครั้งแรกภายใต้งบประมาณปี 2551 และปี 2553 ส่วนงบประมาณปี 2556 จัดขึ้น 2 ครั้งที่จ.สุรินทร์ และล่าสุดที่จ.กาญจนบุรี ตลอดระยะเวลาของจัดมหกรรมพลังงานทั้ง 3 ช่วง นั้นได้รับความสนใจจากชุมชนต่าง ๆ เข้าร่วมโครงการเป็นอย่างดี มีเครือข่ายพลังงานชุมชนกว่า 116 ชุมชน
นอกจากนี้ยังได้รับความสนใจจากสำนักงานกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ ให้งบประมาณเพื่อสนับสนุนพัฒนาให้เป็นวิสาหกิจชุมชนด้านพลังงานทดแทน และการจัดหาตลาด ช่องทางการจำหน่ายสินค้าของแต่ละชุมชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และช่วยให้เกิดการขยายออกไปในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งก็เป็นประโยชน์ต่อชุมชนเอง
ด้าน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า การที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาใช้สิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจของประชาชนหรือชุมชนในการจัดการชุมชนของตนเองในสิ่งที่เป็นประโยชน์และความถูกต้อง การจัดการพลังงานเพื่อใช้ในชุมชนเป็นทั้งเรื่องปัจเจกบุคคลและเรื่องของชุมชน ปัจจุบันนี้มีปัญหาด้านพลังงานมาก พลังงานมีค่ามหาศาลแต่เกิดระบบการผูกขาดทั้งปิโตรเลียมและก๊าซ การที่ชุมชนใช้สิทธิชุมชนในการจัดการพลังงาน ให้เป็นประโยชน์อย่างถูกต้อง และไม่เกิดผลกระทบต่อชุมชน อีกทั้งยังสามารถขยายเป็นผู้ประกอบการทางสังคมอีกด้วย
นับเป็นรูปธรรมที่ทำให้เห็นว่า ชุมชนมีความสามารถจัดการตนเองได้ สะท้อนให้เห็นระบบโครงสร้างว่ารัฐเองไม่จำเป็นต้องเหมาหรือผูกขาด เพราะชุมชนสามารถรับการกระจายอำนาจ ในการจัดการพลังงานที่เป็นประโยชน์สำหรับตนเอง การจัดการพลังงานชุมชนโดยชุมชนและเพื่อชุมชนเกิดขึ้นได้จริง ถ้าภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและเอกชน เข้ามามีส่วนร่วม
“ชุมชนเองสามารถเป็นผู้ประกอบการได้ ชุมชนได้ใช้สิทธิและการมีส่วนร่วม ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการพลังงานด้วยตัวเองได้ โดยใช้วัสดุอุปกรณ์ในชุมชน อีกทั้งยังสามารถร่วมงานกับหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานองค์ความรู้ คือ สสส. เป็นอย่างดี นับเป็นเรื่องสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อชุมชน เอาไปต่อยอด เสนอต่อรัฐให้เป็นนโยบายกระจายอำนาจ ไม่ใช่การเหมาอยู่ที่รัฐวิสาหกิจหรือนายทุนธุรกิจอย่างเดียว” กรรมการ กสม. กล่าว
ขณะที่นายยุทธการ มากพันธุ์ ผอ.มูลนิธิพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทนแห่งเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า ปัจจุบันนี้มีความต้องการใช้พลังงานที่สูงขึ้น ต้นทุนการผลิตก็มีราคาแพง ในขณะที่แหล่งพลังงานลดลง ทำให้ประชาชนหันมาพัฒนาแหล่งพลังงาน คิดค้นเครื่องกำเนิดพลังงานด้วยตนเอง แต่ขาดงบประมาณสนับสนุนจากรัฐ ในเรื่องการวิจัยและพัฒนา ซึ่งชุมชนต้องการนวัตกรรมที่สูงกว่าที่เป็นอยู่ และเห็นว่าเป็นสิทธิของชุมชนที่จะสร้างพลังงานทางเลือกของตนเองที่ราคาถูกและประหยัดกว่าพลังงานที่ซื้อหามาจากภาครัฐ หรือจากเอกชนผู้ค้าพลังงาน
“รัฐควรเลิกทำหน้าที่เป็นพ่อบงการทุกอย่าง อย่าคิดแค่ว่าการเอาเงินที่ง่ายที่สุดคือการเก็บเงินตามมิเตอร์ สิ่งที่ทำมาพิสูจน์ว่าชาวบ้านหรือชุมชนทำเองได้ ต้องช่วยกันติดอาวุธทางปัญญา สร้างเครือข่ายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนี้เมื่อเทียบกับยุโรป พลังงานทางเลือกที่เราช่วยกันคิดและทำขึ้นทันสมัยกว่ามาก เราจะเดินหน้ากันต่อไปเพื่อให้มีการเปลี่ยนนโยบายพลังงานของประเทศไม่ให้ผูกขาดอยู่กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง” ผอ.มูลนิธิพัฒนาเทคโนโลยีฯ ทิ้งท้าย .
เตาประหยัดพลังงานประเภทต่างๆที่ชุมชนคิดค้นขึ้นและสามารถใช้งานได้จริง
เครื่องกำเนิดพลังงานบางส่วนที่ถูกนำมาแสดง