เด็กนิเทศฯ จบใหม่ด้อยคุณภาพ “ทีวีดิจิตอล”แห่ซื้อตัวคนข่าวมือเก๋าแทน
“ธาม”เชื่อปัจจัยหลัก“สื่อทีวีดิจิตอล”ซื้อคนข่าวมือเก๋าเยอะเพราะบัณฑิตนิเทศฯ จบใหม่ด้อยคุณภาพ เผยแบ่งการซื้อสองแบบคือ“ประสบการณ์–ภาพลักษณ์” ส่วน“ดร.มานะ” ชี้ให้มอง “ไทยรัฐทีวี” เป็นตัวอย่างในการฝึกยัน “ทีวีดิจิตัล” อยู่ไม่ได้หากไม่มี “ข่าวเจาะ – ข่าววิเคราะห์”
เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.) เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีการโยกย้ายซื้อขายผู้สื่อข่าว/ผู้ประกาศข่าวจำนวนมากไปยังสื่อที่ประมูลทีวีดิจิตัลได้ว่า การที่นักข่าวย้ายช่องหรือย้ายสำนักเป็นเรื่องปกติ เมื่อผู้เล่นมีมากขึ้น พอมีทีวีดิจิตัล ปัจจัยหลักที่ทำให้มีการซื้อขายคือตลาดงานไม่เพียงพอต่อความต้องการ บัณฑิตสาขานิเทศศาสตร์ที่จบใหม่ต่อปีมีไม่ถึง 10,000 คนที่จะมีคุณภาพในการทำงาน โดยใน 3 ปีหลังไม่เคยมีการเตรียมการเรื่องของการป้อนบัณฑิตที่มีความพร้อมสู่ทีวีดิจิตัล เนื่องจากหลักสูตรไม่ได้สอนให้เรียนเกี่ยวกับระบบทีวีดิจิตัลเลย แต่กลับเน้นเรื่องของการบูรณาการมากกว่า และที่สำคัญการประมูลทีวีดิจิตัลนั้นมีค่าตั้งต้นสูงมาก รายหนึ่งใช้เงินประมาณ 1,500 – 3,000 กว่าล้านบาท จึงต้องเน้นคุณภาพของบุคลากรด้วย
“ผมบอกได้เลยว่าไม่มีเวลาที่จะไปอบรม หรือฝึกปฏิบัติพนักงานให้มีความรู้และประสบการณ์ ฉะนั้นการซื้อ หรือว่าการใช้แรงจูงใจอื่น ๆ เช่น เงินเดือนที่สูงขึ้น หรือโอกาสและความก้าวหน้าในวิชาชีพจึงเป็นปัจจัยให้คนในวงการสื่อย้ายค่ายไปสู่ทีวีดิจิตัลเป็นจำนวนมาก แต่เรื่องนี้ถ้ามองให้ดีเป็นการซื้อสองแบบคือ ซื้อประสบการณ์กับซื้อภาพลักษณ์” นายธาม กล่าว
ขณะที่ ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย ในฐานะนักวิชาการสื่อมวลชน กล่าวยืนยันกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีดังกล่าวว่า โดยเฉลี่ยคนที่ย้ายจะได้ค่าตอบแทนเกือบเท่าตัว ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและประสบการณ์ โดยมีตั้งแต่ที่ทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ จนถึงช่างเทคนิคต่าง ๆ และในขณะเดียวกันก็มีการดึงตัวผู้สื่อข่าว-ผู้ประกาศข่าว หรือบางทีอาจดึงมาหมดทั้งทีมข่าวเลยก็มีเช่นกัน
"เรื่องของเงินเป็นเพียงปัจจัยหนึ่ง ต้องเข้าใจว่าบางคนที่ย้ายอาจเพราะมีโอกาสเจริญเติบโตในหน้าที่การงานมากขึ้น เขาจึงเลือกทำตรงนั้น ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ" ดร.มานะ กล่าว
ดร.มานะ กล่าวว่า ส่วนองค์กรสื่อที่เพิ่งเริ่มต้นขึ้น และไม่มีทีมงาน หรืออาจมีน้อย อาจต้องดึงคนเข้ามาเสริมทีมค่อนข้างเยอะ ที่ผ่านมาจึงได้เห็นการโยกย้ายถ่ายเทของคนข่าวทั้งหลาย ไม่เว้นแต่คนข่าวหนังสือพิมพ์ที่ย้ายเข้ามาสู่ตลาดโทรทัศน์มากขึ้น
"ต้องดูในหลายปัจจัย เพราะทุกฝ่ายเองก็อยากที่จะพัฒนาตนเอง แต่ที่เห็นว่ามีการทุ่มทุนในการพัฒนาคือ ไทยรัฐทีวี โดยเขามีการสร้างคนขึ้นมาเองส่วนหนึ่ง และมีการดึงคนเข้ามา มีการอบรม และมีการเน้นในเรื่องของโปรดักชั่นในการนำเสนอข้อมูลเทคนิคมากขึ้น" ดร.มานะ กล่าว
ดร.มานะ กล่าวอีกว่า ส่วนของโทรทัศน์นั้นจะเน้นการแข่งขันที่ตัวเนื้อหาของรายการ โดยเฉพาะรายการข่าวว่าจะมีความนุ่มลึก มีการเจาะในเชิงวิเคราะห์ข้อมูล หรือว่าเจาะลึกมากน้อยแค่ไหน หากเนื้อหายังเป็นการนำเสนอข่าวแบบทั่วไป ก็ไม่สามารถที่จะแย่งตลาดจากช่องเดิม ๆ ที่ครองตลาดอยู่แล้ว
“ดังนั้นต่อไปนี้ข่าวโทรทัศน์จึงจำเป็นที่ช่องเกิดใหม่ต้องเน้นในเรื่องของข่าวสืบสวน และเจาะลึกวิเคราะห์มากขึ้น เสนอภาพที่มีความพิถีพิถัน และเล่าเรื่องได้มากขึ้น" ดร.มานะ กล่าว