มีหนาว!แค่โกดังเดียว สตง.ตรวจพบสต๊อกข้าว ไม่ใช่ข้าวใหม่
สตง.จับมือสภาหอการค้าไทย เร่งทำความจริงให้ปรากฏ สต๊อกข้าว 18 ล้านตัน มีครบจริงหรือไม่ - คุณภาพเป็นอย่างไร สุ่มตรวจคุณภาพข้าว เบื้องต้นพบ มีลักษณะไม่ใช่ข้าวใหม่ ขณะที่ดร.นิพนธ์ แนะแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามีรัฐบาลให้เร็ว เลือกตั้งรณรงค์ “2 ไม่เอา” ไม่เอาจำนำข้าว –ไม่เอาพรรคการเมืองที่ทุจริต
วันที่ 8 เมษายน คณะอนุกรรมการบริหารสำนักงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา จัดสัมมนาเรื่อง “โครงการจำนำข้าวกับเกษตรกร กรณีศึกษา : นโยบาย ปัญหาอุปสรรคและแนวทางแก้ไข” ณ โรงแรม เอส.ดี. อเวนิว กรุงเทพมหานคร โดยมีนายสัก กอแสงเรือง ประธานคณะอนุกรรมการฯ กล่าวเปิดงาน
นายไสว จิตเพียร ประธานกรรมการสำนักงานคดีปกครอง สภาทนายความฯ กล่าวถึงความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่เกษตรกรชาวนาผู้ปลูกข้าวทั่วประเทศนั้น ขณะนี้ได้มีการฟ้องเป็นคดีทางปกครอง เอาผิดกับบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 12 ราย เช่น นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี คณะกรรมการนโยบายข้าว (กขช.) กระทรวงพาณิชย์ ฯลฯ โดยฟ้องแล้วเป็นคดี 4 – 5 หมื่นคดี ซึ่งในคำฟ้องระบุให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับจำนำข้าวต้องชำระค่าเสียหายให้แก่ชาวนาด้วย
ขณะที่เกษตรกรที่มีปัญหา นายไสว กล่าวว่า ได้แยกออกเป็น 3 กลุ่ม 1.เกษตรกรที่นำข้าวไปกองไว้ที่ท่าข้าว ไม่มีใบประทวน มีแต่ใบรับข้าว 2.มีใบประทวน แต่ยังไม่ได้นำข้าวไปจำนำ 3.มีใบประทวน นำข้าวเข้าโครงการจำนำแล้วแต่ยังไม่ได้รับเงิน
ด้านดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงการที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่มีเงินจ่ายค่าข้าวให้ชาวนา มีสัญญาณมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2556 จนกระทั่งมาผิดชำระหนี้ชาวนาจริงๆ ปลายตุลาคม 2556
สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ดร.นิพนธ์ เสนอให้ 1.ต้องมีรัฐบาลเร็วที่สุด 2.หากมีการเลือกตั้ง ต้องรณรงค์ “2 ไม่เอา” คือไม่เอาโครงการจำนำข้าว และไม่เอาพรรคการเมืองที่ทุจริตโครงการจำนำข้าว 3.กดดันให้รัฐบาลเปิดเผยสต๊อกข้าว และประกาศไม่ขายข้าวคุณภาพเลว เชื่อมั่นว่า ราคาข้าวในตลาดจะไม่ลงไปกว่านี้อีกแล้ว 4.กดดันให้รัฐบาลหยุดการระบายข้าวผ่านนายหน้าที่มีอิทธิพล และ5.รวมกันต่อต้านการทุจริตจากโครงการจำนำข้าว
ส่วนระยะกลาง ต้องแก้ไขกฎหมายวิธีการงบประมาณกันนักการเมืองถลุงเงิน ทำนโยบายประชานิยมไม่ว่ากันแต่การใช้เงินต้องผ่านรัฐสภา ให้รัฐสภาพิจารณาพร้อมกับงบประมาณประจำปี ไม่ว่าจะเป็นเงินนอกงบประมาณ เงินกู้ ทุกบาททุกสตางค์ จากนั้นก็จำกัดการช่วยเหลือชาวนา เน้นชาวนาที่ยากจนจริง
ขณะที่ระยะยาว นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ เสนอให้ปรับโครงสร้างภาคเกษตร ลดจำนวนเกษตรกรลงให้ได้ เพิ่มรายได้ต่อหัวของเกษตรกร ขยายฟาร์มของครัวเรือน ลงทุนปรับปรุงที่ดิน มีการกองทุนการออมสำหรับเกษตรกรที่แก่ตัว รวมถึงการว่าจ้างให้เกษตรกรในเขตพื้นที่สูง ดูแลป่าต้นน้ำในราคาที่สมน้ำสมเนื้อ เป็นต้น
ขณะที่นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน 1 สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าวถึงการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินโครงการรับจำนำข้าว โดยยืนยันว่า เป็นหน้าที่ของสตง.ในการตรวจสอบการรับ จ่าย รักษาเงิน ทรัพย์สินของรัฐ ไม่ว่าเป็นเงินแผ่นดินหรือเงินกู้ก็ตาม ซึ่งมีการตรวจสอบมาตั้งแต่สมัยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2545-2546 แล้ว กระทั่งรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ โครงการประกันรายได้ก็มีการตรวจสอบเช่นกัน
“มาสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โครงการจำนำข้าวไม่ได้แตกต่างจากรัฐบาลทักษิณ สตง.มีการวิเคราะห์ตั้งแต่ขั้นเริ่มกระบวนการรับจำนำจนถึงขั้นสุดท้ายว่ามีความเสี่ยงอะไรบ้าง โดยแจ้งไปตั้งแต่ 24 สิงหาคม 2554 ให้รัฐบาลหามาตรการควบคุม ดูแลการใช้จ่ายเงินอย่างไร” นายประจักษ์ กล่าว และว่า ข้อเสนอล่าสุดที่สตง.มีไปถึงรัฐบาล คือให้ยุติโครงการจำนำข้าว พร้อมกับให้มีการปิดบัญชีทุกฤดูกาล รวมถึงการวางแผนระบายข้าวออกไป โดยไม่ให้กระทบตลาด
นายประจักษ์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้สตง.กำลังหาวิธี ให้มีข้อมูลที่ปรากฏข้อเท็จจริง สต๊อกข้าว 18 ล้านตัน มีครบจริงหรือไม่ และคุณภาพเป็นอย่างไร โดยสตง.ได้รับความร่วมมือจากสภาหอการค้าไทย ส่งผู้เชี่ยวชาญไปตรวจร่วมกันทุกครั้ง มีการสุ่มตัวอย่างรอบกองข้าว เจาะกองข้าว
“หลังสุ่มตรวจข้าวแล้ว มีการแบ่งข้าวออกเป็น 4 ส่วน 1.ให้เซอร์เวเยอร์ 2.อคส. อตก. 3. หอการค้าไทย และกรมการข้าว เพื่อตรวจสอบดูว่า คุณภาพข้าวเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ เบื้องต้นพบว่า มีลักษณะไม่ใช่ข้าวใหม่ นี่แค่โกดังเดียวที่ผลออกมา แต่ผลการตรวจสอบสุดท้ายจะเป็นเช่นไร จะมีการแจ้งให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไป”