มธบ.เปิดผลวิจัย ป.ตรี 35% แบกหนี้กยศ.เกิน 8% ของรายได้ เสี่ยงเบี้ยวสูง
มธบ. เปิดงานวิจัยพบคนจบปริญญาตรี 1 ใน 3 หรือ 35% มีรายได้ไม่ถึง 1.5 หมื่น แบกหนี้กยศ.เกินกว่า 8% ของรายได้ ชี้มีแนวโน้มสูงผิดนัดชำระ บวกกับข้อจำกัดการติดตามหนี้ กระทบเป็นลูกโซ่ต่อความมั่นคงกองทุนฯ
วันที่ 8 เมษายน 2557 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) จัดงานสัมมนา “กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา บทเรียนจากต่างประเทศและการปรับใช้ในประเทศไทย” โดยมีศาสตราจารย์ ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มธบ. เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ณ ห้องประชุมสมภพ โหตระกิตย์ อาคารสำนักอธิการบดี
ศาสตราจารย์ ดร.บรูซ แชพแมน นักวิจัยประจำวิทยาลัยนโยบายสาธารณะครอวฟอร์ด มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย บรรยายในหัวข้อ “กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา บทเรียนจากต่างประเทศ” ว่า ระบบกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ใช้ในประเทศออสเตรเลียเป็นระบบที่เรียกว่า Higher Education Contribution Scheme หรือ HECS โดยมีการกำหนดภาระการชำระหนี้คิดตามสัดส่วนของรายได้ของผู้กู้ ซึ่งจะเริ่มเก็บเมื่อผู้กู้มีรายได้สูงแล้วระดับหนึ่งและสัดส่วนการเก็บเงินจะเพิ่มขึ้นตามรายได้โดยเริ่มจาก 4%สำหรับผู้มีรายได้น้อย และเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆจนถึง 8 % สำหรับผู้มีรายได้สูง
"จุดเด่นของกองทุนนี้ 1.ช่วยให้คนที่ต้องการเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยแต่ไม่มีเงินทุนพอและไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาโดยรัฐบาล 2.ผู้กู้มีสิทธิเลือกว่าจะเข้าเรียนมหาวิทยาลัยใดก็ได้ 3.โครงสร้างของระบบถูกออกแบบมาให้มีความยืดหยุ่นเพราะจำนวนเงินที่ต้องผ่อนชำระจะเปลี่ยนแปลงตามระดับรายได้" ดร.บรูซ กล่าว และว่า จุดเด่นข้อที่ 4.ของกองทุนคือออสเตรเลียมีระบบการจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพ ผู้กู้ส่วนใหญ่ได้งานทำในภาคเศรษฐกิจในระบบ การชำระหนี้ถูกจัดเก็บพร้อมกับการหักภาษีเงินได้ จึงทำให้เก็บเงินคืนได้เป็นจำนวนมาก และ 5. ผู้กู้ต้องจ่ายดอกเบี้ย โดยคิดเป็น 20% ของเงินกู้ ส่งผลให้กองทุนไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเงินอุดหนุนจากภาครัฐจนเกินไป นี่จึงเป็นปัจจัยส่งเสริมให้กองทุนมีความมั่นคงทางการเงินมากขึ้น
ด้านดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มธบ. กล่าวถึงกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ของไทยในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ ว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อความยั่งยืนทางการเงินของกยศ. ปัจจัยแรก คือ ภาระหนี้ที่ผู้กู้จะต้องแบกรับเมื่อเทียบกับรายได้ที่สูงเกินไป จนทำให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งในทางปฏิบัติที่ใช้ในการออกแบบกองทุนกู้ยืมคือ ต้องออกแบบแผนการผ่อนชำระให้สอดคล้องกับรายได้ของผู้กู้ โดยมีภาระผ่อนชำระหนี้ไม่เกินกว่า 8% ของรายได้สำหรับผู้มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง และไม่เกิน 15% สำหรับผู้มีรายได้สูง เนื่องจากหากภาระหนี้สูงกว่าที่กำหนดไว้จะส่งผลให้ผู้กู้มีแนวโน้มจะผิดชำระหนี้สูงขึ้น
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มธบ. กล่าวถึงงานวิจัยพบว่า มีคนจบปริญญาตรีประมาณ 1 ใน 3 หรือ 35% มีรายได้น้อย (ไม่ถึง 15,000 บาท) จนทำให้ภาระหนี้เกินกว่า 8% ของรายได้ เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มจะผิดนัดชำระหนี้สูง รวมถึงผู้กู้ กยศ.มาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย ดังนั้นภาระหนี้เมื่อเทียบกับรายได้หลังหักภาระการดูแลครอบครัวออกไปสูงขึ้น ทำให้สัดส่วนของผู้ที่ผิดนัดชำระหนี้อาจสูงขึ้น 40-50%
สำหรับในประเทศไทยแล้วภาระการชำระหนี้ กยศ. ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวว่า ควรอยู่ที่ประมาณ 4-6% ของรายได้ ซึ่งการใช้ค่าเฉลี่ยมาประเมินเพียงอย่างเดียวนั้น ไม่เหมาะสมจะต้องพิจารณาลักษณะการกระจายตัวของรายได้ควบคู่ตามไปด้วย
ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวว่า นอกจากการผิดนัดชำระหนี้แล้ว ยังมีปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมการเบี้ยวหนี้ คือ ข้อจำกัดด้านการติดตามหนี้ และปัจจัยที่ส่งผลต่อความมั่นคงของกองทุนกยศ. คือ เงินอุดหนุนแฝงจากการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและแผนการชำระหนี้
"ปัญหาการผิดนัดชำระไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ลดทอนความยั่งยืนของกองทุน แต่ระยะเวลาในการผ่อนชำระที่กำหนดไว้ 15 ปี โดยเริ่มชำระ 2 ปีหลังจบการศึกษา และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่คิดในอัตราที่ต่ำกว่าท้องตลาด เมื่อนำมาหักลบกับอัตราเงินเฟ้อและต้นทุนค่าเสียโอกาสของการใช้เงินของภาครัฐแล้วจะพบว่า มูลค่าปัจจุบันของเงินทุก 100 บาทที่กยศ.ปล่อยกู้ แม้ผู้กู้จะชำระตรงเวลาไม่มีหนี้เสียและไม่มีต้นทุนในการจัดการกองทุนเลย มูลค่าที่แท้จริงของเงินที่กลับมามีค่าประมาณ 30-40 บาทเท่านั้น"
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มธบ. กล่าวถึงการแก้ปัญหา จึงไม่ใช่หน้าที่ของกยศ.เพียงฝ่ายเดียว หลายฝ่ายจะต้องร่วมกันแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการผลิตบัณฑิตไม่ตรงกับความต้องการของตลาด สถาบันการศึกษาเน้นแต่ปริมาณไม่สนใจคุณภาพ รวมทั้งคุณภาพของบัณฑิตเองต้องสั่งสมมาตั้งแต่เด็ก ดังนั้นการปฏิรูปศึกษาทั้งระบบจึงเป็นเรื่องสำคัญ
"ระบบการผ่อนชำระในปัจจุบันผู้กู้ทุกคนได้รับเงินอุดหนุนแฝงในสัดส่วนเท่ากัน ไม่ว่าจบออกไปแล้วจะมีรายได้มากน้อยเพียงใด ทั้งที่ในความเป็นจริงผู้ที่มีรายได้สูงอาจไม่จำเป็นต้องได้รับเงินอุดหนุนแฝง ดังนั้นในการแก้ปัญหาก็จำเป็นที่จะต้องแก้ไขระบบเงินอุดหนุนนี้ด้วย รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการติดตามทวงถามหนี้ ณ วันนี้ สิ่งที่เราต้องการไม่ใช่ระบบการติดตามหนี้ที่สมบูรณ์ แต่เป็นระบบการติดตามหนี้ที่ดีขึ้นกว่าเดิม ความช่วยเหลือในด้านการชำระหนี้ผ่านระบบการจ่ายภาษี หรือประกันสังคม อาจจะช่วยบรรเทาปัญหาให้กับกยศ.ได้"