'ดร.ธวัชชัย’ ชี้กลางปีไทยไร้รัฐบาล ศก.สาหัส-งบฯ ปี 58 สะดุด
'ธีระชัย' ชี้เศรษฐกิจชาติชะลอตัวกระทบอัตราจ้างเเรงงาน-หนี้สินครัวเรือนพุ่ง 82% นักเศรษฐศาสตร์ระบุการเมืองทำท่องเที่ยวสะดุด เเนะรัฐเเก้ระยะยาวพัฒนาการศึกษา ลดเหลื่อมล้ำรายได้ 'ดร.ธวัชชัย' เตือนหากยืดเยื้อมีหวังสาหัส เร่งทุกฝ่ายหาข้อยุติโดยเร็ว
วันที่ 8 เมษายน 2557 คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน วุฒิสภา จัดสัมมนา ‘ผลกระทบวิกฤตการเมืองต่อเศรษฐกิจไทย’ ณ ห้องรับรอง 1-2 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เดิมเศรษฐกิจไทยมีปัญหาอยู่แล้ว โดยไม่ต้องคำนึงถึงวิกฤตทางการเมือง เนื่องด้วยเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจโลกและปัจจัยภายในประเทศ
สำหรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจโลกนั้นเกิดต่อเนื่องตั้งแต่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายสุดขีด เพราะฉะนั้นเงินที่พิมพ์ขึ้นมาเกิดการไหลออกเข้าสู่ประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งกรณีไทยนั้นเปิดประตูรับค่อนข้างเยอะ และเกิดวิกฤตฟองสบู่เล็ก ๆ ขึ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีเม็ดเงินไหลเข้ามาในประเทศมาก ทำให้เกิดกิจกรรมต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมา และกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้รับความนิยมเป็นพิเศษ นอกจากนั้นยังมีการซื้อที่ดินเตรียมไว้สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง แต่โครงการอาจจะมีปัญหาติดค้างไป
อดีตรมว.คลัง กล่าวถึงปัจจัยภายในไทยการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่เน้นการอุปโภคบริโภคเป็นวิธีได้ผลเร็วระยะสั้น จีดีพีทางเศรษฐกิจพุ่งเร็ว แต่เมื่อหมดกระสุนไปกระตุ้นก็ต้องแผ่วลง ทั้งที่รัฐบาลควรใช้จ่ายไปกับการลงทุนระยะยาวด้วยการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน
ส่วนช่องทางที่รัฐบาลใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคตแคบลง จากสาเหตุ 4 ประการ คือ เครื่องยนต์ที่ 1 ในช่วงที่ผ่านมาการขาดดุลงบประมาณเฉลี่ย 4 ไตรมาส ประมาณกว่าร้อยละ 3 นอกจากนี้ตัวเลขทางการหนี้สาธารณะไม่มีความทันสมัย เพราะยังไม่คำนึงตัวเลขจากโครงการรับจำนำข้าว หรือโครงการประชานิยมอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม เราจะเห็นได้ชัดว่าเครื่องยนต์ที่มาจากการกระตุ้นภาครัฐในการผลักดันเศรษฐกิจไทยต่อไปมีข้อจำกัด
เครื่องยนต์ที่ 2 การที่ภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้ครัวเรือนก่อหนี้ยืมสินมากขึ้น ซึ่งนับแต่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ไทยมีหนี้สินภาคครัวเรือนเพียงร้อยละ 52 แต่ปัจจุบันปรับเพิ่มสูงถึงร้อยละ 82 โดยยังไม่รวมภาวะหนี้นอกระบบ ซึ่งการขับเคลื่อนนโยบายการใช้จ่ายภาคครัวเรือนจึงเริ่มมีปัญหา
เครื่องยนต์ที่ 3 การส่งออกสินค้าของไทยเริ่มชะลอตัว โดยที่ผ่านมาส่วนใหญ่ไทยจะส่งออกสินค้าไปยังจีน แต่ภายหลังประเทศดังกล่าวเกิดวิกฤตฟองสบู่ เวลานี้ทำให้จากเดิมจีนเป็นศูนย์กลางผลิตชิ้นส่วนส่งออกต้องเปลี่ยนแนวคิดมาผลิตเพื่อขายในประเทศและเอเชียในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งสินค้ามีรสนิยมแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เช่น เฟอร์นิเจอร์ ของกิน ของใช้ ทำให้เกิดขบวนลงทุนการผลิตอุตสาหกรรมในจีนเปลี่ยนไป และส่งผลให้การส่งออกของเราชะลอตัวลงด้วย
เครื่องยนต์ที่ 4 ปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจจะเริ่มก่อให้เกิดผลกระทบต่ออัตราการจ้างงาน รวมถึงต้องระมัดระวังเรื่องการบริหารจากภาวะฟองสบู่ที่มีอยู่ โดยทำอย่างไรให้ฟองสบู่โตและแฟบลงอย่างมีระเบียบเรียบร้อย
ด้านดร.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์มีการลงทุนในต่างประเทศอัตราเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยในปี 2556 มีอัตราการลงทุนมากที่สุด ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีโอกาสมาก เพราะในอนาคตจะมีการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ซึ่งจะส่งผลให้การค้าขายสะดวกขึ้น เพียงแต่ไทยจะต้องแก้ไขปัญหาต่าง ๆ และใช้โอกาสนี้ให้เกิดประโยชน์
“ความท้าทายของไทยมีอยู่ไม่น้อย ฉะนั้นหากประเทศมีแต่ความไม่แน่นอน อาจจะไม่สามารถทำให้ความท้าทายเปลี่ยนเป็นโอกาสได้ เพราะประเทศอื่น ๆ ไม่ได้นิ่งเฉย ฉะนั้นการแข่งขันจึงมีมากขึ้นทุกปี”
สำหรับผลกระทบวิกฤติการเมืองต่อเศรษฐกิจไทยนั้น ดร.กิริฎา ระบุว่า ในระยะสั้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบมากสุด ซึ่งเฉพาะปีนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงติดลบร้อยละ 8 แต่สุดท้ายเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นก็สามารถฟื้นตัวได้เร็ว รวมถึงจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนด้วย ยกเว้นการบริโภคภาคครัวเรือนที่ไม่ได้รับผลกระทบมากนักเมื่อเทียบกับเหตุการณ์อุทกภัยที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลมักให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศระยะยาวน้อยเกินไป เช่น การศึกษา การสาธารณสุข ตลอดจนถึงการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูงที่สุดในอาเซียน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสานและเหนือ
ขณะที่ดร.ธวัชชัย ยงกิตติคุณ เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ไทยจะมีรัฐบาลใหม่หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ปัจจุบันความหวังที่จะมีเครื่องจักรกลมาเร่งขับเคลื่อนการใช้จ่ายในประเทศไม่มีเหลือแล้ว นอกจากการให้รัฐบาลและภาคเอกชนร่วมมือกันกระตุ้นการส่งออก แต่ต้องทำงานหนัก
“ถ้าเรายังไม่มีรัฐบาลภายในกลางปีจะทำให้เศรษฐกิจค่อนข้างสาหัส เพราะไม่สามารถจัดตั้งงบประมาณ ปี 2558 ยิ่งงบลงทุนไม่ต้องพูดถึง มีแต่งบประจำ ดังนั้นต้องพยายามหาข้อยุติเพื่อให้มีรัฐบาลเร็วที่สุด โดยต้องสามารถทำงานได้ ประชาชนยอมรับ และปฏิรูปประเทศจริง ๆ” เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าว .
ภาพประกอบ:สำนักข่าวเอซี