เรื่องจริงที่ชายแดนใต้ หลังฝุ่นควันระเบิดจางที่ยะลา...
เหตุคาร์บอมบ์และโชเล่ย์บอมบ์ (ระเบิดที่บรรทุกในมอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง) กลางเมืองยะลา 2 ใน 4 จุดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 เม.ย. และอาฟเตอร์ช็อคอีก 3 ลูก ซึ่งเป็นระเบิดแบบตั้งเวลา เมื่อเช้าวันจันทร์ที่ 7 เม.ย. ทำให้สังคมไทยตื่นจากภวังค์ความขัดแย้งทางการเมือง หันไปดูสถานการณ์ที่ปลายขวานกันอย่างจริงๆ จังๆ อีกครั้ง
แต่ดูเหมือนความรุนแรงที่ทำร้ายทำลายชีวิตและทรัพย์สินแบบไม่เลือกหน้า และยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลง ได้ส่งผลกระทบร้าวลึกในจิตใจของผู้คนที่นั่น...
กว่า 10 ปีนับตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อ 4 ม.ค.2547 จนถึงวันนี้ นับได้ 11 ปีงบประมาณ รัฐทุ่มงบลงไปในพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหามากกว่า 2 แสนล้านบาท แต่เชื่อหรือไม่ว่าสามจังหวัดใต้ โดยเฉพาะยะลา ซึ่งเกิดเหตุวินาศกรรมก่อการร้ายมานับครั้งไม่ถ้วน มีรถกระเช้าดับเพลิงไม่เพียงพอสำหรับการใช้งาน
รถกระเช้าที่ดีที่สุด มีประสิทธิภาพที่สุด และใช้ในวันเกิดเหตุระเบิดกลางเมืองยะลา เป็นรถที่ยืมมาจากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จ.ประจวบคีรีขันธ์ และยังไม่ได้ส่งคืน!
หลายครั้งที่หน่วยงานในพื้นที่ผลักดันให้ส่วนกลางช่วยจัดสรรงบประมาณหรือส่งอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องไม้สำหรับช่วยชีวิตผู้คน และบรรเทาภัยสาธารณะมาให้ใช้อย่างเพียงพอ แต่ก็มักถูกผลักให้เป็นภาระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ทว่าเมื่อไปดูรายได้ของท้องถิ่น ณ วันนี้ ภาษีที่เก็บได้มีแต่ลดน้อยถอยลง เพราะเศรษฐกิจซบเซาจากความรุนแรง ย่านเศรษฐกิจกลางเมืองยะลามีการหล่อเสาปูนกั้นระหว่างขอบทางเท้ากับหน้าร้านรวงต่างๆ เพื่อป้องกันการถูกมอเตอร์ไซค์บอมบ์ และคาร์บอมบ์โจมตี...สถานการณ์มันเลวร้ายถึงขนาดนี้
เหตุระเบิดกลางเมืองเที่ยวล่าสุด จุดเกิดเหตุหนึ่งใน 4 จุดเป็นย่านร้านค้าเก่าแก่ที่เป็นอาคารไม้ อายุอานามกว่าครึ่งศตวรรษ ถูกเพลิงเผาวอดทั้งแถบ นอกจากร้านเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นข่าวทางสื่อต่างๆ แล้ว ยังมีร้านจำหน่ายเครื่องสังฆภัณฑ์เก่าแก่ ขนาด 4 คูหารวมอยู่ด้วย
ร้านนี้ชื่อร้าน "แต้ชุนกวง" เป็นธุรกิจของคนไทยเชื้อสายจีน เปิดกิจการยาวนานมาถึง 3 รุ่นแล้ว ตั้งแต่รุ่นก๋ง รุ่นพ่อแม่ และรุ่นที่ดูแลร้านอยู่ในปัจจุบัน หลังเกิดเหตุเจ้าของร้านต้องฝ่าควันไฟและความมืดเข้าไปส่องไฟฉายหาตู้เซฟของทางร้านด้วยตัวเอง
เธอถาม อนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภาที่ไปเยี่ยมเยียนถึงหน้าร้านที่มีแต่เถ้าถ่านและกองสินค้าเปียกน้ำถูกไฟเผาว่า "เราควรย้ายหนีดีไหม?" เป็นเสียงเหนื่อยล้าระคนเศร้า ทั้งที่ ส.ว.อนุศาสน์ บอกว่าเธอไม่เคยพูดประโยคนี้เลยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา นั่นแสดงว่าสถานการณ์ไฟใต้ไม่ได้ดีขึ้น
ส.ว.อนุศาสน์ ซึ่งเป็นตระกูลนักธุรกิจในพื้นที่ เล่าว่า ร้านค้าเก่าแก่ในยะลาปิดตัวเอง และย้ายออกไปจากพื้นที่ไม่น้อย อย่างเช่น "ร้านซินซิน" ร้านขายบะหมี่แสนอร่อยที่เคยรับประทานตั้งแต่รุ่นบิดา ล่าสุดเพิ่งย้ายไปเปิดร้านที่ภูเก็ตกับลูกสาว
ขณะที่ "ร้านชวนชิม" ร้านอาหารเก่าแก่อีกร้านหนึ่ง เจ้าของร้านเคยโดนสะเก็ดระเบิดเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ก็ตัดสินใจย้ายไปอยู่กรุงเทพฯ
เหตุระเบิดกลางเมืองยะลาเป็นเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ที่ทำให้ผู้คนทั่วประเทศหันมาสนใจชายแดนใต้ แต่ไม่ได้หมายความว่าช่วงก่อนหน้านี้สถานการณ์ดีขึ้น โดยเฉพาะห้วง 1 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งมีทั้งเหตุยิงครูผู้หญิงที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ฆ่าตัดคอผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหญิงที่เสียชีวิตพร้อมผู้ใหญ่บ้านกับผู้ช่วยอีก 2 ราย รวมเป็น 3 ราย และเหตุร้ายอื่นๆ อีกหลายเหตุการณ์
ส.ว.อนุศาสน์ บอกว่ามีศพเหยื่อความรุนแรงรอเผาอยู่ถึง 9 ศพ โดยเขาในฐานะเป็นนักการเมืองในพื้นที่ ไปร่วมพิธีศพทุกงานแทบไม่ทัน เพราะแต่ละงานจัดติดๆ กันตามจำนวนคนตาย
นี่คือความจริงวันนี้ที่ชายแดนใต้ หลังฝุ่นควันระเบิดจางที่ยะลา...
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : หญิงเจ้าของร้านจำหน่ายเครื่องสังฆภัณฑ์กลางเมืองยะลา บุกซากปรักหักพัง ควันไฟ และความมืด เข้าไปหาตู้เซฟของทางร้านหลังถูกระเบิดและเพลิงเผา