ธรรมนิยม : สิ่งเติมเต็มสังคมไทยในช่วงวิกฤติ อีกหนึ่งทางเลือกปฏิรูปประเทศ
ณ งานวัดลอยฟ้า ญาณสังวร 101 ครั้งที่ 2 จิตตนคร ที่จัดขึ้นในสยามพารากอน แหล่งช้อปปิ้งหรูใจกลางกรุงเทพมหานคร โดยมีธรรมเสวนาที่น่าสนใจคือเรื่อง “ประเทศไทยถึงเวลาธรรมนิยมแล้วหรือยัง?” โดยผู้ร่วมเสวนาคือ ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตรองกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ,นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช ผู้อำนวยการหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ,กุณฑ์ สุจริตกุล ผู้ริเริ่มโครงการ ‘ทำมะ’และแอพลิเคชั่น ‘ทำมะ’ และกฤตยา ศรีสรรพกิจ จากเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
โดยในเริ่มแรกทั้งสี่ท่านได้ให้ความหมายของคำว่า ธรรมนิยมคือ ธรรมเนียม เป็นเรื่องธรรมชาติและการพัฒนาชีวิตและสังคมให้สอดคล้องกับธรรมชาติ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงพุทธธรรมเสมอไป แต่หมายถึง ธรรมสากล ที่ทุกศาสนาสั่งสอนไว้คล้ายๆกันนั่นคือการซื่อสัตย์และเข้าใจภาวะจิตใจของตนเอง
ทั้งนี้ในการเสวนานั้นได้เสนอการนำเอาหลัก ธรรมนิยม มาใส่ในหัวข้อใหญ่ 3 หัวข้อซึ่งจะสามารถนำไปใช้เพื่อนำทางประเทศสู่ทางออกได้ดังนี้
ธรรมะกับการศึกษา
"หมอบัญชา" ได้กล่าวถึงระบบการศึกษาไทยในปัจจุบันเป็นสิ่งที่ทำร้ายพระพุทธศาสนามาก เนื่องจากหลักสูตรที่เน้นการสอนภาษาบาลี การท่องวันสำคัญ แล้วสอบ ซึ่งไม่ได้ตอบโจทย์หลักที่ทำให้ศาสนาพุทธดำรงอยู่มาได้สองพันกว่าปีว่า ธรรมะคืออะไรและสามารถนำไปใช้ได้อย่างไร
"กุณฑ์" ได้เสริมถึงการศึกษาไทยโดยเทียบกับในต่างประเทศว่า การศึกษาเรื่องธรรมะในต่างประเทศนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยเน้นเป็นสองด้านคือด้านจิตตปัญญา คือการนำหลักธรรมะไปผนวกกับวิชาอื่นๆทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจได้ ไม่ใช่การนำวิชาศาสนาแยกออกมาอย่างโดดเดี่ยวและเหมือนว่า ศาสนาเป็นเรื่องที่ควรอยู่บนหิ้งอย่างเดียว และอีกด้านหนึ่งคือด้านจริยธรรมสากลที่โลกตะวันตกโหยหาในยุคทุนนิยมนี้
“ผมว่า ฝรั่งซึ่งอยู่ในโลกของประชาธิปไตย โลกที่พัฒนาสุดๆทางทุนนิยมเขาเริ่มมองกลับมา เพราะเขาตั้งคำถามนอกจากการศึกษาของเขาเองซึ่งทำให้เกิดปัญหาหลายๆอย่างในโลกขึ้นมา โดยเฉพาะเรื่องของประชาธิปไตยซึ่งบ้านเรายังวนเวียนอยู่กับประชาธิปไตยในรูปแบบของการเลือกตั้งอยู่ ซึ่งนั่นไม่ใช่สาระ เขาตั้งคำถามกับประชาธิปไตยแล้วว่า เป็นปัญหาใหญ่ของโลก ฉะนั้นประเด็นหลักคือจะทำยังไงให้ธรรมนิยมเป็นหนึ่งในตัวผลักดันให้สังคมมันดีขึ้นอย่างจริงๆจังๆ”ผู้ริเริ่มโครงการ ‘ทำมะ’ กล่าว
ส่วนกฤตยาก็ได้ให้ความเห็นที่ต่างกันว่า สังคมไทยนั้นมีความสนใจในธรรมะมากขึ้นและมีการสอนพุทธศาสนาแบบใหม่ในบาง โรงเรียนที่ได้ทำให้ผู้เรียนสามารถประยุกต์ใช้หลักธรรมะได้เมื่อมีทุกข์ ไม่ใช่ท่องจำแต่วันสำคัญเหมือนในหลักสูตรปกติ
ธรรมะกับเศรษฐกิจ
ด้านดร.วิรไท ผู้คลุกคลีกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ แสดงทัศนะเกี่ยวกับการศึกษาของไทยนั้น สะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยเน้นเรียนเพื่อทำมาหากินเสียเป็นส่วนใหญ่และให้ความสำคัญกับจิตใจน้อยลง
โดยเฉพาะการใช้ธรรมะของผู้ประกอบธุรกิจไทยกับต่างชาตินั้นแตกต่างกันอย่างยิ่ง กล่าวคือผู้ประกอบธุรกิจของไทยนั้นมองในระยะสั้นๆ การทำเพื่อชุมชนของธุรกิจไทยมีเพียงแค่การทำ CSR (Corporate Social Responsibility)โดยหักกำไรเพื่อบริจาคบางส่วนเท่านั้นก็ถือเป็นการใช้ธรรมะในการบริหารธุรกิจแล้ว
ขณะที่ของต่างประเทศจะมีวิสัยทัศน์ที่ไกลกว่านั้น...
ดร.วิรไท ยกตัวอย่างบริษัทรองเท้ายี่ห้อดังของต่างชาติที่ปัจจุบันไม่ใช้น้ำในการย้อมสารโพลีเอสเทอร์และยอมลงทุนพัฒนาระบบย้อมโพลีเอสเทอร์แบบใหม่ขึ้น เนื่องจากการย้อมโพลีเอสเทอร์ด้วยน้ำจะทำให้เกิดมลพิษทางน้ำขึ้น ถือเป็นการทำธุรกิจโดยเบียดเบียนสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติให้น้อยที่สุด นั่นคือ “ทุนนิยมที่ตรงธรรม (Moral Capitalism)” ซึ่งถือเป็นธรรมะอีกประการหนึ่งที่ผู้ประกอบการไทยควรมีเพื่อให้เกิดความยั่งยืนทั้งตัวธุรกิจเองและเพื่อสังคมโดยรวม
“เขามองว่าการทำธุรกิจส่งผลเสียต่อสังคมอย่างไร เขาจะปรับวิธีในการทำธุรกิจอย่างไรให้เกิดปัญหากับสังคมน้อยที่สุด และทำให้สังคมอยู่ต่อไปได้ ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ แนวคิดแบบนี้ไม่ค่อยพบในธุรกิจไทย เพราะเราจะมองแต่ระยะสั้นๆ ใกล้ตัวทำอย่างไรให้ได้กำไรมากที่สุด ผู้ถือหุ้นไทยก็อยากได้เงินปันผลเร็วๆ ในช่วงสั้นๆ ไม่ค่อยส่งเสริมการลงทุนในระยะยาว ในเมืองไทยจึงขาดการมองในระยะยาวเพราะเราอยู่ในโลกที่ผู้บริหารประเทศมองใกล้มากคือเลือกตั้งครั้งหน้าทำยังไงถึงจะชนะเลยทำให้เกิดนโยบายประชานิยม” ดร.วิรไทกล่าวถึงการทำธุรกิจโดยใช้หลักธรรมะของต่างชาติโดยมีการเหน็บการเมืองในตอนท้าย
ธรรมะกับสังคมและการเมือง
อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นปัญหาของสังคมไทยคือการคอรัปชั่น ดร.วิรไท กล่าวถึงประเด็นนี้ด้วยว่า
“หากโลกหรือประเทศไทยพัฒนาไปแบบนี้โดยที่ธรรมะไม่มีบทบาทสำคัญ นึกไม่ออกเหมือนกันว่ามันจะเลวร้ายไปกว่านี้แค่ไหน ถ้าหากเรายังอยู่ในระบบที่เราไม่คิดถึงเรื่องธรรมะให้เข้ามามีบทบาทในชีวิตและสังคม
ปัญหาที่เราเห็นอยู่เช่นความคิดเห็นในเรื่องคอรัปชั่นเมื่อสามสี่ปีก่อนบอกว่าคอรัปชั่นไม่ผิด ถ้าคนที่คอรัปชั่นทำงานบ้างและฉันได้ประโยชน์บ้าง ถ้าทุกคนคิดแบบนี้และแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ อัตราการคอรัปชั่นก็เพิ่มมากขึ้น ธรรมะไม่ใช่ยาแก้ได้ทุกโรค แต่ธรรมะน่าจะเป็นหลักสำคัญที่กำหนดทิศทางที่ในการใช้ชีวิตในการพัฒนาสังคมไปให้ตรงธรรม”
โดยนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ ทิ้งท้ายถึงการเมืองไทยปัจจุบันนี้เริ่มเป็นไปตามหลักธรรมนิยมบ้างแล้ว โดยเริ่มจากการไม่นิ่งดูดายต่อการคอรัปชั่นมากขึ้น
“เราต้องการการบริหารประเทศที่โปร่งใสมากขึ้น มีการเปิดเผยข้อมูล สามารถที่จะร้องเรียน กำกับดูแลในเรื่องของการคอรัปชั่นได้และเราก็ต้องปฏิเสธผู้บริหารประเทศที่คอรัปชั่นไม่ว่าจะในระดับไหนก็ตาม นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการปฏิรูปที่เราโหยหา เป็นการปฏิรูปที่ตรงตามหลักธรรมนิยมและสามารถยกระดับการพัฒนาของประเทศได้”
ช่วงท้าย หมอบัญชา กล่าวเสริมถึงพระนิพนธ์เรื่องจิตตนครของสมเด็จพระญาณสังวรฯ ที่บอกว่า นครนี้มีปฏิวัติรัฐประหารกันตลอดเวลา รบกันตลอดเวลา เร็วนี้ประเทศไทยเองมีการประกาศระดมพลหลายกองทัพ ฉะนั้นประเทศไทยต้องปฏิรูป รวมถึงต้องค้นหาคำตอบของคำถาม อะไรคือคำตอบของบ้านเมืองในตอนนี้ แล้วธรรมะพอจะมีโอกาสเข้าไปมีส่วนในการปฏิรูปได้หรือเปล่า ควบคู่กันไปด้วย
จะเห็นได้ว่า หลักธรรมนิยมเป็นสิ่งที่จำเป็นในการพัฒนาประเทศไม่ต่างอะไรจากการพัฒนาด้านวัตถุนิยมที่เราเน้นอย่างจริงจัง อีกทั้งยังเป็นสิ่งเติมเต็มในส่วนที่เราขาดหายไปมากที่สุดในตอนนี้คือ “จิตใจ” หากทุกคนในสังคมทั้งชาวบ้าน ข้าราชการ พ่อค้าแม่ขาย ผู้ชุมนุมไปจนถึงระดับผู้บริหารและนักการเมืองมี “จิตใจที่เป็นธรรม” และมี “วิสัยทัศน์ที่กว้างไกล” ไม่มองใกล้เพื่อ “คอรัปชั่น” วิกฤติในปัจจุบันน่าจะคลี่คลายลงได้ไม่ยาก ขึ้นอยู่ว่าจะยอมเป็นคนมีจิตใจหรือเปล่าหรือจะเป็นคนไร้จิตใจต่อไป