ทาส (ไม่) ขายศักดิ์ศรี
เห็นได้ชัดเจนว่าปัจจุบันช่อง 3 มีนโยบายผลิตละครโทรทัศน์ที่สื่อถึงประวัติศาสตร์ชาติไทย ล่าสุด ละครเรื่อง ‘ลูกทาส’ ผลิตโดย บริษัท ทีวีซีน แอนด์ พิคเจอร์ จำกัด ของผู้จัดละครมือฉมัง ‘ปิ่น ณัฏฐนันท์ ฉวีวงษ์’ จนเรียกกระแสความนิยมให้มากพอสมควร แม้จะไม่ฮิตติดลมบนเหมือนสามีตีตราที่เพิ่งปิดฉากไปก็ตาม แต่ด้วยตัวพระนาง ‘เคน ภูภูมิ-เบลล่า ราณี’ ก็ต้องขอบอกว่ากลมกล่อม ประกอบกับฉากงานศิลป์ที่จัดตกแต่งขึ้น แม้จะดูหลอกตาไปบ้าง หากแต่กลับเป็นความตั้งใจของผู้จัดที่ต้องการสื่อสารออกมาเช่นนั้น
‘ลูกทาส’ ถูกร้อยเรียงขึ้นจากปลายปากกาของสุวัฒน์ วรดิลก หรือ ‘รพีพร’ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2534 (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) นับเป็นนักเขียนคนสำคัญของวงการอักษรไทย มีผลงานมากมาย อาทิ เรื่องสั้น นวนิยาย บทละครวิทยุ บทละครโทรทัศน์ บทละครเวที ที่สำคัญยังมีดีกรีเป็นถึงนักข่าวนักหนังสือพิมพ์อีกด้วย ซึ่งสมัยนั้นได้เริ่มต้นทำงานที่หนังสือพิมพ์เอกราช ของ ‘อิศรา อมันตกุล’
โดย ‘ลูกทาส’ นั้น ถือเป็นนวนิยายเรื่องที่ 2 ในชีวิตของรพีพร หลังจากประสบความสำเร็จจาก ‘ภูตพิศวาส’ ในนามปากกาเดียวกัน นำเสนอแก่นแท้ตีแผ่ชีวิต ‘แก้ว’ ทาสชายในเรือนพระยาไชยากรที่พยายามต่อสู้ดิ้นรนเพื่อหลุดพ้นจากความเป็นทาส ในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) มีพระบรมราชโองการประกาศเลิกทาสขึ้น เมื่อ 1 เมษายน 2448 จนท้ายที่สุด ได้กลายเป็นไท พร้อมทำงานหาเลี้ยงชีพยกระดับฐานะ เพื่อหวังได้ครองเรือนกับคุณน้ำทิพย์ ลบล้างชนชั้นทางสังคมออกไปเสียที
นับเป็นไหวพริบของผู้จัดและสถานีโทรทัศน์ที่เลือกฉาย ‘ลูกทาส’ ในช่วงมีนาคม-เมษายน เพราะถือเป็นการร่วมย้อนรำลึกถึงพระมหากษัตริย์ไทยที่ทรงพระปรีชาสามารถและมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้ แต่ดูเหมือนคนไทยจะไม่ใคร่จะสนใจมากนัก เนื่องด้วยวันเดียวกันกับการประกาศเลิกทาส ในธรรมเนียมฝรั่งมังค่าถือเป็นวันโกหกของโลก (april fool's day) ซึ่งเรามักให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเหล่าดารานักแสดงหรือสื่อมวลชนทั้งหลายที่แทบจะไม่เห็นการนำเสนอเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในอดีตสู่สาธารณะมากนักอย่างที่ควรจะเป็นเลย
อีกหนึ่งไหวพริบก็ด้วยสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายจนยากจะหาจุดจบลงได้ ภาพการเป็นทาสที่ถูกเฆี่ยนตี ทรมาน ทรกรรม ซึ่งปรากฏในละครเรื่องนี้ และมีอยู่จริงในอดีตของสังคมไทย ได้กลับคืนมาอีกครั้งในรูปแบบใหม่ของยุคปัจจุบันอย่างเห็นได้ชัด
นั่นคือ ‘ทาสเงินตรา’ โดยคนเราจะยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งความสุข ความสบาย และใช้จ่ายของที่หรูหรา นำมาสู่เกียรติยศและความน่าเชื่อถือในสังคม จนมิรู้เลยว่าการได้มาของเงินตราเหล่านั้นล้วนคือบาป กระทั่งเสาะแสวงหากระทำสิ่งที่ผิดตัวบทกฎหมาย เช่น ค้าประเวณี ค้ายาเสพย์ติด เพื่อสนองความอยาก กิเลศตัณหา
แต่ที่คิดว่าร้ายแรงกว่านั้นคงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการแย่งชิงอำนาจทางการเมือง โดยใช้เงินตราหว่านล้อมซื้อสิทธิขายเสียง ซื้อคนเข้าไปนั่งบริหารประเทศ เพื่อหวังเข้าไปกอบโกยผลประโยชน์อย่างไม่กลัวนรกจะโหมไหม้ และที่น่าเศร้าใจก็ด้วยคนในสังคมไทยยอมให้ซื้อสิทธิขายเสียง หรือมีเหตุการณ์เฉกเช่นนี้ขึ้นด้วย สะท้อนตัวตนที่ยอมตกเป็นทาสกลาย ๆ เพียงเเต่ไม่ต้องถอดเสื้อถูกเฆี่ยนตีก็เท่านั้น เพื่อหวังสิ่งตอบแทนอย่างไร้ศักดิ์ศรี ยอมก้มหัวให้ทั้งที่ไม่จำเป็น ผิดกับในอดีตที่ทาสต่างร้องหาซึ่งอิสรภาพ แม้จะขายแรง แต่ลึก ๆ ก็ไม่เคยคิดขายศักดิ์ศรี
แล้วจะมีความหมายอะไรกับการประกาศเลิกทาสกว่า 100 ปีที่ผ่านมา
หรือคุณคิดว่าไม่จริง ?
ภาพประกอบ:เว็บไซต์ไทยรัฐ
twitter:@jibjoyisranews
E mail : [email protected]