จากชายแดนใต้ ทนายสมชาย ถึงอัลรูไวลี่... อุทาหรณ์คดี "อุ้มฆ่า-อุ้มหาย"
คำพิพากษาของศาลในคดีอุ้มฆ่า นายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี่ นักธุรกิจเจ้าของบริษัทจัดหาแรงงานชาวซาอุดิอาระเบีย ที่ให้ยกฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 พร้อมพวกรวม 5 คน ที่ตกเป็นจำเลยนั้น เหตุผลโดยรวมที่ศาลใช้ในการพิพากษา คือ "พยานหลักฐานยังไม่อาจรับฟังได้อย่างมั่นคงเพียงพอ" โดยเฉพาะกับข้อกล่าวหาที่มีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิตเช่นนี้
ประเด็นสำคัญที่ทำให้ศาลมองว่า "พยานหลักฐานยังไม่มั่นคง" คือ
O ปากคำพยานส่วนใหญ่เป็นพยานบอกเล่า ตั้งแต่ พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ อดีตผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ ไปจนถึงแม่บ้านโรงแรมฉิมพลี และโจทก์ไม่ได้มีการนำสืบประเด็นตามอ้างให้สิ้นกระแสความ
O "แหวน" ที่อ้างว่าเป็นของนายอัลรูไวลี่ และพนักงานสอบสวนดีเอสไอมองว่าเป็นวัตถุพยานสำคัญนั้น ปรากฏว่าไม่มีความชัดเจนเรื่อง "ที่มา" อีกทั้งญาติของนายอัลรูไวลี่ก็ไม่ยืนยันว่าเป็นแหวนของผู้ตายหรือไม่ ฯลฯ ถึงขนาดที่ศาลมองว่าอาจเป็นการสร้างพยานหลักฐานขึ้นใหม่ด้วยซ้ำ
จากผลแห่งคดี ด้านหนึ่งย่อมมองได้ว่าเป็น "จุดอ่อน" จากการทำงานของพนักงานสอบสวนดีเอสไอเอง ขณะเดียวกันก็เป็นการให้ความเป็นธรรมแก่ พล.ต.ท.สมคิด และพวก แม้จะเป็นคดีที่มีแรงกดดันทางการเมืองสูงมากก็ตาม
แต่ในอีกด้านหนึ่งก็อาจพิจารณาได้เหมือนกันในแง่ของ "ฐานความผิด" ในเรื่อง "การบังคับบุคคลให้สูญหาย" หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า "อุ้มฆ่า-อุ้มหาย" ซึ่งบ้านเรายังไม่มี
เมื่อเกิดกรณี "คนหาย" โดยไม่เจอศพ แม้จะได้ตัวผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัย หากไม่ยื่นฟ้องต่อศาลในข้อหา "หน่วงเหนี่ยวกักขัง" ซึ่งมีอัตราโทษไม่มากแล้ว ก็ต้องฟ้องข้อหา "ฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน" ไปเลย ซึ่งความผิดฐาน "เจตนาฆ่า" โทษสูงสุดถึงประหารชีวิต พยานหลักฐานจึงต้องหนักแน่นมั่นคงตามหลักนิติธรรม
ปัญหาคือ "คดีอุ้ม" แทบทุกคดีตั้งแต่ในอดีตหลายสิบปีที่ผ่านมา ผู้ถูกกล่าวหามักเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือมีความเกี่ยวโยงกับเจ้าหน้าที่รัฐ จึงเป็นเรื่องยากที่ญาติผู้เสียหายจะหาพยานหลักฐานมายืนยันการกระทำความผิดได้ ประกอบกับผู้มีหน้าที่ทำคดีก็เป็นเจ้าหน้าที่รัฐด้วยกันอีก จึงอาจถูกกดดันจากผู้บังคับบัญชาในระดับนโยบาย หรือฝ่ายการเมืองที่รู้เห็น จนทำให้ผลแห่งคดีเบี่ยงเบนไป
บางทีพยานหลักฐานก็พอมี แต่กลับทำให้ไม่มีเสียอย่างนั้น ตัวอย่างที่เห็นๆ กันก็เช่น คดีอุ้ม ทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม เมื่อปี 2547 คดีการหายตัวไปของ นายทนง โพธิอ่าน ผู้นำแรงงานคนสำคัญ เมื่อปี 2534 หรือคดีอุ้ม นายกมล เหล่าโสภาพรรณ นักรณรงค์ต่อต้านการทุจริต จ.ขอนแก่น เมื่อปี 2551 เป็นต้น
ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย โดยรัฐบาลไทยได้ลงนามเข้าร่วมเป็นภาคีตามอนุสัญญาฯ เมื่อ 9 ม.ค.2555 แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน เพราะยังไม่ได้อนุวัตรกฎหมายภายในให้เป็นไปตามอนุสัญญาฯ
ประเด็นหลักๆ ที่ต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา หรือยกร่างกฎหมายใหม่เกี่ยวกับความผิดฐาน "อุ้มฆ่า-อุ้มหาย" ก็คือ
- คดีประเภทนี้ต้องไม่มีอายุความ โดยตามอนุสัญญาฯระบุว่า อายุความจะเริ่มนับต่อเมื่อรู้ชะตากรรมของเหยื่อ
- ต้องมีคณะกรรมการอิสระเพื่อติดตามและตรวจสอบทันทีที่มีกรณีบังคับบุคคลให้สูญหาย ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้นเหมือนกรณีปกติ
- นิยามของ "เหยื่อ" ต้องครอบคลุมทั้งตัวบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหาย ญาติ และพยาน เพื่อเพิ่มกลไกการให้ความคุ้มครอง และเปิดให้ญาติยื่นฟ้องคดีแทนได้
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้กรณี "อุ้มหาย" เกิดขึ้นได้ง่ายๆ โดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอ้างเพียงว่าไม่รู้ไม่เห็น แม้จะเรียกตัวบุคคลที่สูญหายมาสอบสวนจริง ก็ปล่อยกลับบ้านไปแล้ว จึงไม่ต้องรับผิดชอบอะไร เหมือนกับที่เคยเกิดหลายๆ กรณีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา...
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : (จากซ้ายไปขวา) นายทนง โพธิอ่าน, นายสมชาย นีละไพจิตร และ นายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี
ขอบคุณ : ภาพของแต่ละบุคคลได้จากอินเทอร์เน็ต