“เพื่อไทย” ไล่บี้ กกต. รับผิดชอบจัดเลือกตั้ง 2 ก.พ. เหลว-คืนเงิน 3.8 พันล.
"จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ" หน.พรรคเพื่อไทย ร่อนหนังสือถึง สตง. จี้ให้ตรวจสอบ กกต.ใช้จ่ายเงินงบประมาณการจัดเลือกตั้ง 2 ก.พ. ระบุชัดละเลยปฏิบัติหน้าที่ทำพื้นที่จัดเลือกตั้ง 28 เขตมีปัญหา ศาลฯ ตัดสินโมฆะ ลั่นหากพบทำงานบกพร่องเป็นต้นเหตุให้เกิดความเสียหาย ต้องร่วมกันรับผิดชอบคืนเงิน 3,800 ล้าน ให้ก.คลัง
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2557 ที่ผ่านมา นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ขอให้ตรวจสอบและเรียกเงินแผ่นดิน จำนวน 3,800 ล้านบาท คืนจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการจัดการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมา หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ด้วยมติ 6 ต่อ 3 ชี้ขาดให้การเลือกตั้งดังกล่าว มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยมีสาเหตุจากการที่ 28 เขตเลือกตั้งไร้ผู้สมัครและเหตุที่การเลือกตั้งไม่ใช่วันเดียวทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา108 วรรคสอง
ทั้งนี้ ในหนังสือพรรคเพื่อไทยระบุสาระสำคัญว่า เมื่อ กกต. มีหน้าที่ต้องควบคุมและจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ในวันที่ 2 ก.พ. โดยต้องดำเนินการทุกขั้นตอนของการเลือกตั้งให้สำเร็จเป็นไปตามวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์กฎหมายด้วยการพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ขั้นตอนต่างๆ ดำเนินการไปได้ด้วยความเรียบร้อย โดยเฉพาะขั้นตอนการสมัครรับการเลือกตั้งอันถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่ กกต. จะต้องดำเนินการรับสมัครรับเลือกตั้งให้ได้
ขณะที่กฎหมายกำหนดอำนาจให้ กกต. มีหน้าที่ดูแลจัดการการเลือกตั้งให้ลุล่วง ห้ามมิให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวเข้าไปภายในบริเวณการจัดเลือกตั้ง หากมีปัญหา กกต.สามารถใช้ดุลพินิจจัดหาสถานที่เลือกตั้งใหม่ มีอำนาจขอความร่วมมือจากรัฐบาลตำรวจ ทหาร ข้าราชการพลเรือน เพื่อความร่วมมือในการจัดเลือกตั้ง แต่ กกต.กลับละเลยต่อการปฎิบัติหน้าที่ ปล่อยให้การขัดขวางการสมัครตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้าย และมิได้มีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อให้การสมัครรับการเลือกตั้งดำเนินการไปทุกเขตเลือกตั้ง
และจาก“คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า “ส่วนการที่จะดำเนินการจัดการเลือกตั้งสำหรับ 28 เขต หลังวันที่ 2 ก.พ. 2557 นั้น ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะจะมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นการเลือกตั้งวันเดียวกันตามรัฐธรรมนูญเป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งชี้ว่า กกต. ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย จัดการเลือกตั้งให้เสร็จในวันเดียว แต่กกต. ได้ละเลยการปฏิบัติหน้าและพยายามที่จะปฏิเสธการทำหน้าที่ จนส่งผลทำให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ.ต้องสูญเปลา ทำให้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณจัดการเลือกตั้งไปจำนวนมาก โดยไม่เกิดประโยชน์อันใดแก่ทางราชการแม้ต่อน้อย ทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐอย่างร้ายแรง
พรรคเพื่อไทยขอให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการ สตง. ได้ดำเนินการตรวจสอบการใช้จ่ายในการเลือกตั้ง วันที่ 2 ก.พ. ว่าเป็นไปตามหลักวินัยการคลังและงบประมาณ โดยถูกต้องสุจริต และเกิดประสิทธิต่อภารกิจของกกต.หรือไม่
หากเห็นว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการใช้งบประมาณดังกล่าว เป็นผลมาจากความบกพร่องหรือการละเลยการปกฎิบัติหน้าที่ของกกต. ก็ขอให้ กกต.ต้องรับผิดชอบร่วมกันคืนเงินจำนวน 3,800 ล้านบาท ให้กับกระทรวงการคลังเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านอื่นต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2557 นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว สมชัย ศรีสุทธิยากร ตอบ 3 คำถามที่หลายคนสงสัย หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมาเป็นโมฆะ
โดยระบุว่า
"มีคำถามมากมายถึงผม หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เลือกตั้ง 2 ก.พ. เป็นโมฆะ
1. การเลือกตั้งครั้งใหม่จะเกิดอย่างไรและเกิดเมื่อใดนั้น กกต. ต้องรอหนังสือวินิจฉัยที่เป็นทา งการจากศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งคาดว่าน่าจะมาถึง กกต. ในวันจันทร์ และจัดให้มีการประชุม กกต. เพื่อดำเนินการตามมติศาล ซึ่งน่าจะมี 2 แนวทาง คือ แนวทางแรก กกต. ประชุมกับรัฐบาล เพื่อทูลเกล้าฯ ขอพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งใหม่ใน 60 วัน หรือแนวทางที่สอง กกต. เชิญหัวหน้าพรรคการเมืองมาปรึกษา เพื่อวันเลือกตั้งใหม่ที่เหมาะสม ในกรณีนี้ อาจไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบ 60 วัน
2. ใครรับผิดชอบค่าเสียหาย 3,800 ล้านบาทในการเลือกตั้งที่เสียไป ซึ่งการเลือกตั้งที่เสียไปของวันที่ 2 กุมภาพันธ์ มาจากสาเหตุของการจัดการเลือกตั้งที่ถูกขัดขวางทำให้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งในวันเดียว ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก ไม่ได้เกิดจากการตัดสินใจของ กกต. และ กกต. ได้ระบุถึงปัญหาดังกล่าวให้รัฐบาลทราบก่อนที่ 2 ก.พ. แล้วว่า หากเดินหน้าต่อจะสุ่มเสี่ยงกับถูกฟ้องเป็นโมฆะ โดยรัฐบาลได้ยืนยันให้เดินหน้าเลือกตั้งต่อ ดังนั้นรัฐบาลต้องรับผิดชอบ นอกจากนี้ เหตุดังกล่าวยังแตกต่างจากการเลือกตั้งที่เป็นโมฆะในปี 2549 ซึ่งเกิดจากการมติของ กกต. ให้หันคูหาออก จนเป็นเหตุให้การเลือกตั้งไม่เป็นความลับ ซึ่ง กกต. ชุดดังกล่าวต้องรับผิดชอบ
และ 3. การเลือกใหม่จะสำเร็จหรือไม่ จะมีการขัดขวางจนเป็นโมฆะอีกหรือไม่ ทั้งนี้ หากพรรคการเมืองทุกพรรคได้ปรึกษากัน และเห็นการเลือกตั้งใหม่เป็นทางออกของประเทศ กระบวนการขัดขวางจากฝ่ายต่าง ๆ น่าจะลดลง อย่างไรก็ตามประสบการณ์จากการเห็นปัญหาอุปสรรคการที่ผ่านมา จะเป็นบทเรียนให้ กกต.ปรับปรุงการจัดการให้ประสบความสำเร็จได้ดีขึ้น"