‘บรรเจิด’ ชี้ท้องถิ่นกำลังเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ จี้เร่งเดินเครื่องแนวคิดกระจายอำนาจ
‘คมสัน โพธิคง’ ชี้ปัญหาสังคมไทยกำลังเป็น ‘ลิงเล่นแห’ แก้ปัญหาทีละจุด แนะหากไม่ตัดใจรื้อระบบเก่าทิ้งก็จะเกิดการเล่นแหเรื่อย ๆ เชื่อการเมืองท้องถิ่นอิสระถ่วงดุลระดับชาติได้ ‘ดร.บรรเจิด’ เผยกระจายอำนาจไม่ต้องห่วงปมคอร์รัปชั่น เพราะรูรั่วมักอยู่กึ่งระหว่างส่วนกลางกับภูมิภาค
เร็ว ๆ นี้ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) จัดประชุมวิชาการ พัฒนบริหารศาสตร์ในบริบทอาเซียน เนื่องในโอกาสครบรอบปีที่ 48 แห่งการสถาปนาสถาบัน โดยมีการนำเสนอบทความวิชาการ ‘การกระจายอำนาจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยในอนาคต’ ณ อาคารสยามบรมราชกุมารี
ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ นิด้า กล่าวว่า ปัญหาของไทยที่กำลังวิกฤตในขณะนี้เกิดจากปัญหาการผูกขาดอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ทั้งในระดับโครงสร้างสถาบันการเมืองและการบริหาร ทำให้ทุกครั้งที่เกิดปัญหาถนนทุกสายจึงมุ่งหน้าสู่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งถึงแม้จะมีการปฏิรูปการเมืองจนมีรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และ 2550 แต่การเผด็จการรัฐสภายังคงมีอยู่ ทำให้ประชาชนในส่วนภูมิภาคเริ่มคิดว่าการปฏิรูปโครงสร้างการเมืองเพียงอย่างเดียวไม่ช่วยแก้ไขปัญหาคนในพื้นที่ ฉะนั้นจึงนำมาสู่แนวคิดให้ชุมชนเป็นฐานหลักในการแก้ไขปัญหาภายใต้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจังหวัดปกครองตนเอง พ.ศ. ...
โดยมีหลักการสำคัญ กำหนดให้การบริหารเป็นราชการส่วนท้องถิ่น ไม่มีส่วนภูมิภาค ประกอบด้วยโครงสร้าง 3 ส่วน ได้แก่ 1.สภาจังหวัดปกครองตนเอง 2.ผู้ว่าการจังหวัดปกครองตนเอง และ 3.สภาพลเมืองจังหวัดปกครองตนเอง
นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่บริหารงานทั่วไป ยกเว้น 4 เรื่อง คือ การป้องกันประเทศ การคลังของรัฐและระบบเงินตรา การยุติธรรม และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ส่วนรายได้ถือเป็นหัวใจสำคัญของการเป็นจังหวัดปกครองตนเอง จะต้องให้มีการจำแนกระบบจัดเก็บภาษีใหม่ เมื่อเก็บแล้วไว้เป็นรายได้ของจังหวัด 70% และนำส่งส่วนกลาง 30%
คณบดีคณะนิติศาสตร์ กล่าวถึงข้อกังวลการปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีการทุจริตคอร์รัปชั่นมากนั้น ความจริงแล้วประเด็นนี้มักเกิดขึ้นจากรอยต่อระหว่างการจัดส่งงบประมาณจากส่วนกลางมายังท้องถิ่น รูรั่วจะอยู่ตรงกลางเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบที่มาจากการเสนอชื่อของสภาพลเมืองทำหน้าที่ดังกล่าว
“จังหวัดปกครองตนเอง เป็นแนวคิดเพื่อกระจายอำนาจลงสู่พื้นที่ เพราะเรื่องท้องถิ่นของไทยกำลังเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ โดยเฉพาะงบประมาณที่จัดสรรเพียง 23% เท่านั้น จึงไม่เพียงพอ ด้วยอำนาจส่วนใหญ่ของงบประมาณนั้นอยู่ที่ส่วนกลาง ส่งผลให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น แต่หากมีการกระจายอำนาจ นอกจากให้เกิดการติดตามตรวจสอบ ยังทำให้เกิดการกระจายงบประมาณอีกด้วย” ศ.ดร.บรรเจิด กล่าว
ด้านอ.คมสัน โพธิคง นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า ท้องถิ่นถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหาการรวมศูนย์อำนาจผูกขาดของระบบทุนในปัจจุบัน โดยปัญหาจริง ๆ ของไทยขณะนี้ คือ คนไทยกำลังเป็น ‘ลิงเล่นแห’ ที่ถูกเกี่ยวโยงเป็นแหเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องท้องถิ่น การบริหารราชการส่วนกลาง การเมือง กระบวนการยุติธรรม เศรษฐกิจ สังคม ทำให้แก้ปัญหาไม่ทัน
"คล้ายกับการเหวี่ยงแหออกจากจุดหนึ่งก็จะไปอีกจุดหนึ่ง ด้วยเราแก้ปัญหากันเป็นจุด ๆ ซึ่งเรามีปัญหาเรื่องการกระจายอำนาจก็แก้เฉพาะการกระจายอำนาจ แต่เรื่องอื่นไม่ได้แก้ ทำให้กลไกองคาพยพเข้ามาแทรกแซงเรื่องเหล่านี้ จนเป็นปัญหาที่สำคัญขึ้นมา"
นักวิชาการ มสธ. กล่าวต่อว่า เช่นเดียวกับทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ชาวบ้านจะมีความหวังกับนักการเมืองระดับชาติว่าจะนำงบประมาณอะไรมาให้ โดยหารู้ไม่ว่า แท้จริงแล้วท้องถิ่นมีงบประมาณ แต่มักถูกนักการเมืองเก็บไว้ใช้ที่ส่วนกลาง เพราะการเมืองระดับชาติพยายามทำให้ท้องถิ่นอ่อนแอลง ด้วยกระบวนรวมศูนย์อำนาจ และสร้างปัญหาให้ท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่าองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) นั้นมีความล้มเหลวเชิงประสิทธิภาพ ซึ่งการมีอปท. รูปแบบใดอาจไม่ใช่สาระสำคัญ เท่ากับทำอย่างไรให้เกิดการกระจายอำนาจที่แท้จริง โดยที่ส่วนกลางจะสงวนตัวเองอยู่ในขอบเขตราชการส่วนกลาง การเมืองระดับชาติจะสงวนตัวเองอยู่ในการเมืองระดับชาติ ไม่ลงมามั่ว ปะปน และแปดเปื้อนกับท้องถิ่นให้วุ่นวายเหมือนในปัจจุบัน
อ.คมสัน กล่าวถึงระบบราชการบริหารแผ่นดินไทยมีปัญหามากกว่านี้ เพราะว่าส่วนกลางดันทะลึ่งไปอยู่ส่วนภูมิภาคด้วย และสามารถดำเนินงานในท้องถิ่นได้ นี่คือความมั่วซั่วของระบบราชการไทยที่มองตัวตนในการบริหารองค์กรตนเองมากกว่าที่จะบริการไปสู่ประชาชนให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด
“บริบทของปัญหาโจทย์ คือ ไทยกำลังเป็นลิงเล่นแห แก้ปัญหาจุดไหนก็จะโดนจุดหนึ่ง ถ้าไม่ตัดใจตัดแห รื้อระบบเก่าทิ้ง แล้วทำระบบใหม่ ก็จะเกิดการเล่นแหแบบนี้ไปเรื่อย ๆ และก็จะมีคำถามต่างๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา” นายคมสัน กล่าว และว่าทำอย่างไรให้ท้องถิ่นเป็นอิสระจากราชการส่วนกลางในการบริหารและตัดสินใจดูแลทุกข์สุขของประชาชนในท้องถิ่น เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของนักวิชาการและนักกฎหมายที่ต้องสร้างรูปแบบทั้งหมดมาร้อยเป็นแหใหม่
“ความจริงการเมืองระดับท้องถิ่นเป็นคู่ต่อสู้สำคัญของการเมืองระดับชาติและจะเป็นตัวถ่วงดุลที่สำคัญในองค์กรฝ่ายบริหารที่จะถ่วงดุลการมีอำนาจครอบงำอย่างเด็ดขาดและเป็นเผด็จการของรัฐบาลส่วนกลาง แต่ท้องถิ่นต้องมีความเป็นอิสระของตนเองอย่างแท้จริงก่อน จึงจะทำให้การถ่วงดุลการเป็นองค์กรฝ่ายบริหารมีประสิทธิภาพ และอปท.ก็จะมีประสิทธิภาพในตนเองเกี่ยวกับการดำเนินงานด้วย” อ.คมสัน ทิ้งท้าย .