ส.โลกร้อนฟ้องศาลปกครองกลางยกเลิกสัมปทานรถเมล์สาย 8
ส.โลกร้อนฟ้องศาลปกครองกลางยกเลิกสัมปทานรถเมล์สาย 8 หลังขับเร็วจนเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง พร้อมถอนใบอนุญาตขับขี่ 'พขร-พกส' ห้ามขับรถสาธารณะตลอดชีวิต
วันที่ 3 เมษายน 2557 นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กับพวกรวม 23 คน ยื่นฟ้อง ผอ.องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ, คณะกรรมการบริหารกิจการขนส่งมวลชนกรุงเทพ, อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม, คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ต่อศาลปกครองกลาง
โดยคำฟ้องระบุว่า ผู้ถูกฟ้องคดีได้ละเลยการปฏิบัติหน้าที่หรือล่าช้าปล่อยให้รถเมล์ของ ขสมก. และรถเอกชนร่วมบริการต่าง ๆ ก่อความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินมาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ รวมถึงกรณีรถร่วมบริการเอกชน สาย 8 (แฮปปี้แลนด์-สะพานพุทธ) ซึ่งได้รับสัมปทานจาก ขสมก. ได้ประมาทเลินเล่อจนนำไปสู่อุบัติเหตุบนท้องถนนหลายครั้ง แต่ผู้ถูกฟ้องคดีกลับยังละเลย เพิกเฉยการใช้มาตรการที่เข้มงวด ปล่อยให้ผู้ประกอบการหรือผู้รับสัมปทานประกอบกิจการเดินรถโดยสารร่วมบริการสายดังกล่าวต่อไปได้
แม้ล่าสุดจะเกิดเหตุการณ์ขึ้นอีกครั้ง โดยเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2557 เวลา 20.30 น. บริเวณ ถ.ลาดพร้าว ปากซอยลาดพร้าว 64 รถเมล์สาย 8 สีชมพู ทะเบียน 13-7382 กรุงเทพฯ ชนทับรถจักรยานยนต์จนมีผู้เสียชีวิตเป็นนักเรียนชาย อายุ 13 ปี
ซึ่งยังไม่รวมพฤติการณ์ที่ฝ่าฝืนอื่น ๆ ของรถเมล์ที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขประกอบการหรือสัมปทาน เช่น การด่า ไล่ผู้โดยสารลงจากรถ หรือขับรถด้วยความเร็วเพื่อแย่งผู้โดยสาร อย่างไรก็ตาม รถเมล์สายดังกล่าวได้รับสัมปทานทั้งสิ้น 3 บริษัท คือ บริษัท ทรัพย์ 888 จำกัด บริษัท กลุ่ม 39 เดินรถ จำกัด และบริษัท ไทยบัสขนส่ง จำกัด
ดังนั้น จึงฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลาง 3 ข้อ ดังนี้
1.ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดให้ผู้ถูกฟ้องคดีเพิกถอนใบอนุญาตหรือใบประกอบการ หรือสัมปทานการเดินรถของรถเอกชนร่วมบริการของ ขสมก.สาย 8 ที่ฝ่าฝืนกฎหมายหรือฝ่าฝืนเงื่อนไขท้ายใบอนุญาตหรือท้ายสัมปทานเสียทั้งหมด
2.ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดให้ผู้ถูกฟ้องคดีกำหนดมาตรการในการติดตาม ตรวจสอบ ลงโทษ และเพิกถอนใบอนุญาต และหรือสัมปทาน รถขนส่งมวลชนของ ขสมก. และรถเอกชนร่วมบริการทั้งหมดทุกประเภทที่มีพฤติการณ์ฝ่าฝืนกฎหมาย ฝ่าฝืนการประกอบการ หรือสัมปทาน โดยเฉพาะมาตรการด้านความปลอดภัย และมาตรการด้านการตรวจสอบมลพิษ-ควันดำ ไม่ให้เกิดไปกว่าที่กฎหมายกำหนดอย่างเป็นรูปธรรม โดยการติดตามตรวจสอบทุก ๆ 3 เดือน/ครั้ง ตลอดอายุการได้รับใบประกอบการ และหรือสัมปทาน
3.ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดหรือกำหนดมาตรการอย่างหนึ่งอย่างใดให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งหรือกำหนดมาตรการเพิกถอนใบอนุญาตผู้ขับขี่รถโดยสาร (พขร.) พนักงานเก็บค่าโดยสาร (พกส.) ที่ฝ่าฝืนกฎหมายเด็ดขาด กับผู้ที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุสร้างความเดือดร้อนและเสียหายต่อผู้สัญจรบนท้องถนน และหรือผู้โดยสารโดยทันที และห้ามขับขี่รถสาธารณะอีกตลอดชีวิต และห้ามนำรถที่ประสบอุบัติเหตุดังกล่าวมาวิ่งบริการผู้โดยสารบนท้องถนนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลโดยเด็ดขาด .
ภาพประกอบ:เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ
-
file download