ปลัด ศธ.โต้ผลวิจัยมั่ว “เรียนฟรี 15 ปีไม่ดี” ชี้หากลด 9 ปีตัดโอกาสเด็กจน
ปลัด ก.ศึกษาฯโต้กรณีผู้ตรวจการแผ่นดิน เผยผลวิจัยเรียนฟรี 15 ปีไร้คุณภาพ-ไม่ฟรีจริง ระบุหากลดเหลือ 9 ปีตัดโอกาสเด็กจน 30% เรียนต่อถึง ม.6 ชี้เด็กแห่เรียนสายสามัญเพราะอาชีวะกระจุกในเมือง แนะเปิดสายอาชีพใน ร.ร.มัธยม
นายอภิชาติ จีระวุฒิ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ปลัด ศธ.) กล่าวถึงกรณีที่นายศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีแนวคิดจะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 49 โดยปรับการรับการศึกษาไม่น้อยกว่า 12 ปีที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย เปลี่ยนเป็นไม่น้อยกว่า 9 ปีแทน และยังกล่าวหาโครงการเรียนฟรีเรียนดี 15 ปีอย่างมีคุณภาพของรัฐบาลที่ได้ดำเนินการมาเป็นปีที่ 2 ว่าไม่มีคุณภาพและไม่ฟรีจริง และใช้งบประมาณเปลือง ว่าไม่ทราบว่างานวิจัยดังกล่าวการเก็บข้อมูลกระจายมากน้อยเพียงใด เพราะขณะนี้ยังไม่มีเด็กรุ่นใดที่จบการศึกษาเลย ควรรอให้ถึง 3 ปีก่อนแล้วจึงมาพิจารณา
ทั้งนี้ในส่วนของการจัดการศึกษาตามโครงการเรียนฟรีฯ 15 ปี ตนเห็นว่าควรจะมีการปรับปรุงในส่วนของค่าใช้จ่ายที่ให้แก่เด็ก เช่น ค่าหนังสือเรียนที่ควรจะเป็นไปตามสภาพของตลาด เป็นต้น
นายอภิชาติ ยังกล่าวอีกว่าปัจจุบันการจัดโครงการเรียนฟรีฯ ได้ครอบคลุมตั้งแต่อนุบาล-ม.ปลาย และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) แต่หากลดจำนวนลงเหลือ 9 ปี หรือให้เด็กเรียนฟรีถึงแค่ชั้น ม.3 เท่านั้น ก็จะทำให้เด็กจะอายุประมาณ 16-18 ปี หรือประมาณ ม.4-ม.6 ที่ยังไม่สามารถออกไปประกอบอาชีพได้มีปัญหา เนื่องจากกฎหมายแรงงานกำหนดให้ทำงานได้ตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป อีกทั้งในช่วง 3 ปีที่เหลือเด็กจะไปทำอะไร และก่อนที่จะมีโครงการเรียนฟรีฯ ก็มีข้อมูลว่า เด็กที่จบชั้น ม.3 ประมาณ 20-30% ไม่ได้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น แต่เมื่อมีโครงการดังกล่าวก็ทำให้เด็กเข้าเรียน ม.ปลายเพิ่มมากขึ้น
ปลัด ศธ.กล่าวอีกว่า จากข้อมูลก็ยังพบว่าสาเหตุที่เด็กเลือกเรียนต่อสายสามัญศึกษามากกว่าสายอาชีพ เนื่องจากสถานศึกษาสายอาชีพไม่ครอบคลุมตามชานเมือง ส่วนใหญ่มักจะอยู่ในตัวเมือง ทำให้เด็กมีปัญหาเรื่องการเดินทาง ผู้ปกครองจึงตัดสินใจส่งให้เรียนสายสามัญฯ ดังนั้นหากต้องการให้เด็กเรียนสายอาชีพเพิ่มขึ้นควรเปิดสอนสายอาชีพในโรงเรียนมัธยมศึกษา .
ที่มาภาพ : http://women.kapook.com/baby00267/