ผลวิจัยคนไทย 25% ไม่เคยใส่บาตร พศ.เล็งรื้อฟื้นสวดมนต์หน้าเสาธง
ผลวิจัยมหาจุฬาฯ พบคนไทย 25% ไม่เคยตักบาตร 15% ไม่เคยสวดมนต์ พระเถระหวั่นไร้คนสืบศาสนา แนะถวายของเหมาะสม-จำเป็นแก่พระเณร สำนักพุทธศาสนาชี้คนไม่ทำบุญกับพระเพราะเสื่อมศรัทธา เตรียมฟื้นสวดมนต์หน้าเสาธง นักวิจัยเสนอฟื้นวัฒนธรรมบิณฑบาตทางเรือ สร้างความผูกพันชุมชน
จากการที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร.) เปิดเผยผลวิจัยพฤติกรรมของชาวพุทธร้อยละ 25.79 ไม่เคยทำบุญตักบาตร รวมทั้งไม่เคยสวดมนต์ร้อยละ 15.09 รวมทั้งไม่รักษาศีล 5 นั้น เมื่อวันที่ 14 ก.ค. พระวิจิตรธรรมาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กล่าวว่า รู้สึกตกใจกับผลวิจัย หากถ้ามีชาวพุทธไม่เคยทำบุญตักบาตรมากขึ้นกว่านี้ ต่อไปพระสงฆ์ สามเณร ก็คงอยู่ไม่ได้ และคงไม่มีพระสงฆ์ สามเณร มาสืบทอดพระพุทธศาสนา
ขณะเดียวกันยังห่วงการทำบุญช่วงอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาของประชาชน เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าสังฆทานขาดคุณภาพ บางครั้งเจออาหารเน่าเสีย จึงอยากเตือนว่าไม่จำเป็นจะต้องซื้อสังฆทานแบบถัง แต่ซื้อของจำเป็นใส่ถุงถวายพระก็ได้บุญเหมือนกัน หากจำเป็นก็ควรดูวันที่ผลิตให้ดี และขอร้องให้ผู้ขายเลือกสินค้าที่เหมาะสมกับพระสงฆ์และคุณภาพด้วย
พระวิจิตรธรรมาภรณ์ กล่าวต่อว่า สำหรับสิ่งที่อยู่ในสังฆทานบางครั้งเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นสำหรับพระสงฆ์ พุทธศาสนิกชนควรหาสิ่งของที่เหมาะสมและจำเป็น โดยสิ่งจำเป็นจะมีตั้งแต่น้ำยาล้างจาน สบู่ ยาสีฟัน ที่สำคัญยาสระผม หลายคนเข้าใจผิดว่าพระไม่ต้องสระผม
ด้าน ดร.อำนาจ บัวศิริ รองผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) กล่าวว่าผลวิจัยที่พบว่ามีชาวไม่เคยใส่บาตรและสวดมนต์มากขึ้น น่าจะมาจาก 2 สาเหตุ ได้แก่ 1.คนไม่ทำบุญใส่บาตร เพราะปัจจุบันมีการนำเสนอข่าวที่เสื่อมเสีย ส่งผลให้พุทธศาสนิกชนขาดศรัทธา ไม่แน่ใจว่าพระสงฆ์ที่ตนทำบุญเป็นพระจริงหรือพระปลอม ทำให้จำนวนคนทำบุญใส่บาตรน้อยลง แต่หันไปทำบุญบริจาคสถานสงเคราะห์ ผู้ประสบภัยต่างๆแทน
2.การไม่สวดมนต์ เพราะคนไม่เห็นความสำคัญของการสวดมนต์ มองว่าเป็นภาษาบาลีที่อ่านยากและไม่ประโยชน์ ที่สำคัญปัจจุบันไม่มีการปลูกฝังให้นักเรียนรักการสวดมนต์
“พศ.จะหารือกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขอความร่วมมือประสานโรงเรียนทั่วประเทศรื้อฟื้นการสวดมนต์หน้าเสาธง รวมทั้งให้แต่ละโรงเรียนส่งเสริมให้นักเรียนเห็นความสำคัญของการสวดมนต์และ เข้าใจภาษาบาลี” ดร.อำนาจ กล่าว
ด้าน นายศรันย์ สมันตรัฐ ผู้ทำวิจัยเรื่อง “บิณฑบาตเรือ:บทบาทของวัดและชุมชนในการสร้างสรรค์ภูมิทัศน์วัฒนธรรมไทย” กล่าวว่าตนได้นำผลการวิจัยต่อกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ว่าบิณฑบาตเรือใกล้สูญหาย เนื่องจากประชาชนไม่สนใจใส่บาตรทางน้ำ และยังมีการสร้างประตูน้ำกีดขวางการสัญจรทางน้ำ และการขาดการสืบทอดทักษะการพายเรือ
นายศรัณย์ ยังกล่าว่า อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างของงานวิจัย อยากให้อนุรักษ์วัฒนธรรมการบิณฑบาตเรือให้คงอยู่ เนื่องจากกิจกรรมดังกล่าวเป็นกลไกสร้างความผูกพันของคนในชุมชน อีกทั้งยังเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกต่อการจรรโลงพุทธศาสนาและการรักษาสภาพแวด ล้อมให้แก่ชุมชนด้วย เช่น การอนุรักษ์แม่น้ำลำคลอง เป็นต้น .
ที่มาภาพ : http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=amp-atom&month=06-2009&date=03&group=5&gblog=45