ดร.อรรถสิทธิ์ : ปอกเปลือกสภาสูง "เกมอำนาจ การตรวจสอบ และผลประโยชน์"
"...ในความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นวุฒิสภาเปรียบได้กับ “สมรภูมิรบของสองขั้วอำนาจ” ที่ต่อสู้ผ่าน ส.ว. ที่ถือได้ว่าเป็น “ร่างทรง” ของทั้งสองขั้ว ซึ่งผิดไปจากเจตนารมณ์ของการมีวุฒิสภาที่ต้อง“ปลอดการเมือง” เพื่อประสิทธิภาพการตรวจสอบ ถอดถอน..."
หมายเหตุ : เป็นบทวิเคราะห์เบื้องลึกเบื้องหลังเกี่ยวกับประเด็นอำนาจ การตรวจสอบ และผลประโยชน์ของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทั้งฝ่ายสรรหา และเลือกตั้ง โดยดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว หัวหน้าศูนย์วิจัยข้อมูลการเมืองไทย เผยแพร่บนเว็บไซต์มูลนิธิตาสว่าง www.info.or.th เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2557
----
ปอกเปลือกสภาสูง : เกมอำนาจ การตรวจสอบ และผลประโยชน์
เลือกตั้ง 30 มีนาคม 2557: อาการ “เบื่อการเมือง”
ผลการเลือกตั้ง ส.ว. ใน 77 จังหวัดได้สะท้อนสภาวะทางการเมืองของประเทศได้อย่างชัดเจน นั่นคือ ประชาชนมาถึงจุดของการ “เบื่อการเมือง” เห็นได้จากสถิติของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งที่มีเพียงร้อยละ 42.78 ที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ของการเลือกตั้งในประเทศไทย ยิ่งกว่านั้น ยังต่ำกว่าการการออกไปใช้สิทธิของการเลือกตั้ง ส.ส. ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งการเลือกตั้ง ส.ว. ในครั้งนี้ไม่ได้มีบรรยากาศที่ไม่มีใครออกมาคัดค้านหรือขัดขวาง ที่สำคัญตัวเลขบัตรเสียที่ร้อยละ 5.20 และ คะแนนของผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนนยังสูงถึงร้อยละ 11.96 เป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญของการอาการเบื่อการเมือง การออกไปใช้สิทธิที่น้อยก็ยังส่งผลถึงคะแนนของว่าที่ ส.ว. แต่ละคนที่ได้รับมาอีกด้วย เมื่อนำเอาคะแนนที่ได้มาเทียบเป็นสัดส่วนกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็จะพบว่า ปัญหาของความเป็น “ผู้แทน” ของ ส.ว. ที่มีต่อประชาชน หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งคือ “ความชอบธรรม” ของการเป็นตัวแทนนั้นได้เกิดขึ้นมาแล้ว จากสถิติการเลือกตั้งทั้งหมด 77 จังหวัด พบว่า ทุกจังหวัด ว่าที่ ส.ว. ที่ได้รับเลือก ได้รับเลือกด้วยคะแนนเสียงที่ต่ำกว่าร้อยละ 31 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด
โดยจังหวัดที่มีสัดส่วนสูงที่สุด คือ จังหวัดอุดรธานี คิดเป็นร้อยละ 30.15 รองลงมา คือ จังหวัดปราจีนบุรี คิดเป็นร้อยละ 28.89 และ จังหวัดสระแก้ว คิดเป็นร้อยละ 26.36 และ จังหวัดที่มีสัดส่วนน้อยที่สุดคือ จังหวัดนนทบุรี คิดเป็นร้อยละ 6.37 รองลงมาคือ จังหวัดภูเก็ต คิดเป็นร้อยละ 6.55 และ จังหวัดปทุมธานี คิดเป็นร้อยละ 8.11
โฉมหน้าสภาสูง
ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นว่า ความคาดหวังของการออกแบบวุฒิสภาที่ต้อง “เป็นกลางและปลอดการเมืองนั้น” เป็นความคาดหวังที่ไม่ได้เกิดขึ้นตามที่คาดไว้ และที่สำคัญ ความพยายามในการลดภาวะ “สภาผัวเมีย” ระหว่าง ส.ว. และ ส.ส. ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ที่ได้กำหนดให้ที่มาของวุฒิสมาชิกเป็น 2 แบบ คือ จากการเลือกตั้ง และ จากการสรรหา และยังกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ไม่อนุญาตให้ผู้สมัครที่เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่ง ส.ส. ลงรับเลือกตั้งได้ จึงล้มเหลวอีกครั้งหนึ่ง
เพราะว่าที่ ส.ว. เลือกตั้งจำนวน 18 คน หรือ คิดเป็นร้อยละ 23.38 มีพื้นเพภูมิหลัง ความสัมพันธ์ที่จัดได้ว่าเป็น “ครอบครัวการเมือง” แต่หากดูให้ละเอียดแล้วจะเห็นว่า ว่าที่ ส.ว. เกือบๆ 50 คน จัดได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “เครือข่ายทางการเมือง” ในจังหวัด ดังนั้น สภาวะที่จะเกิดขึ้นในการต่อสู้กันในเกมอำนาจของวุฒิสภา และ การต่อสู้ต่อรองกับสภาผู้แทนฯ ซึ่งในอดีตที่เปรียบได้กับสภาผัวเมียก็จะเปลี่ยนไปในสภาวะและรูปแบบใหม่ที่เครือข่ายไม่อาจเห็นได้ด้วยตาเปล่า
บทบาทในความขัดแย้ง
ในความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นวุฒิสภาเปรียบได้กับ “สมรภูมิรบของสองขั้วอำนาจ” ที่ต่อสู้ผ่าน ส.ว. ที่ถือได้ว่าเป็น “ร่างทรง” ของทั้งสองขั้ว ซึ่งผิดไปจากเจตนารมณ์ของการมีวุฒิสภาที่ต้อง“ปลอดการเมือง” เพื่อประสิทธิภาพการตรวจสอบ ถอดถอน
ยิ่งภารกิจที่สำคัญของ ส.ว. ที่ต้องทำในช่วงของการเปิดสมัยประชุมสภาใหม่นี้ นั่นคือการดำเนินการพิจารณาถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช ออกจากตำแหน่งประธานวุฒิสภา และ อาจจะรวมถึง การดำเนินการถอดถอน รักษาการนายก นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากกรณีโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว จึงเปรียบวุฒิสภาชุดนี้เทียบได้กับ “สภาปรีโอลิมปิค” ที่การต่อสู้ของขั้วอำนาจที่ไม่อาจทำได้ในสภาผู้แทนฯ โดยผู้เล่นชุดใหญ่ จึงทำให้ ส.ว. ที่ต้องลงมาต่อสู้กันในเกมการเมืองแทน ส.ส. ในฐานะผู้เล่นชุด ปรีโอลิมปิค
ซึ่งแนวโน้มของการต่อสู้ผ่านการลงมติในร่างกฎหมายและเรื่องพิจารณาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในการทำงานในอนาคตของ ส.ว. ชุดปัจจุบัน สามารถเทียบดูได้จากสถิติของการพฤติกรรมการลงคะแนนของวุฒิสมาชิกชุดที่ผ่านมา ซึ่งพบว่า การลงมติในเรื่องกฎหมายทั่วไปๆ (เฉพาะวาระที่ 3) การลงมติของ ส.ว. ในวาระที่ 3 ทั้ง 2 ประเภท นั้นมีทิศทางที่ไปทางเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ (ลงคะแนนไปในทางเดียวกันถึงร้อยละ 91.85 และมีการลงมติที่ขัดกันอย่างชัดเจน อยู่ร้อยละ 8.15) ซึ่งการลงมติที่ไปในทางที่ขัดกันนั้น โดยส่วนมากจะเป็นร่าง พ.ร.บ. ที่เกี่ยวกับการเงิน (ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ) และการปกครองท้องถิ่น เสียเป็นส่วนใหญ่ (ที่ ส.ว. เลือกตั้งเห็นด้วย ส.ว. สรรหา ไม่เห็นด้วย)
และ หากย้อนกลับไปดูสถิติการพิจารณาการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งของวุฒิสภาที่ผ่านมานับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีผลบังคับใช้จำนวน 3 ครั้ง ปรากฏว่ายังไม่เคยมีนักการเมืองรายใดถูกวุฒิสภาถอดถอนออกจากตำแหน่งแม้แต่รายเดียว ซึ่งแม้จะไม่สามารถแยกแยะออกได้ว่า ส.ว. คนไหนลงมติอย่างไร แต่ก็สามารถเดาทิศทางได้ว่า การลงมติคงเป็นการลงมติที่มีทิศทางที่ขัดแย้งกันของ ส.ว. ทั้งสองประเภท
ด้วยสภาพโครงสร้างของ ส.ว. ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันที่วุฒิสมาชิกแต่ละคนต่างถูกมองว่าอยู่ใน “เครือข่าย” ทางการเมือง หรือ มีแนวโน้มเอียงจากความเป็นกลาง กับภารกิจในการพิจารณาถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้น บุคคลที่อยู่ในข่ายทั้งสอง คือ นายนิคม ไวยรัชพานิช และ รักษาการนายก นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีแนวโน้มสูงที่จะไม่ได้ถูกลงมติให้ถูกถอดถอน เพราะเครือข่ายของขั้วอำนาจหนึ่งดูเหมือนจะเป็นต่ออยู่มาก
ส.ว. กับอนาคตการเมืองไทย
ด้วยอาการเบื่อการเมืองของคนไทย (จากสถิติการออกไปใช้สิทธิ และสัดส่วนของคะแนนที่ได้รับ) และ ผลการทำงานของ ส.ว. ชุดที่ผ่านมา ที่การทำหน้าที่ในการติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลและฝ่ายบริหารนั้นไม่ได้แสดงความแตกต่างระหว่าง ส.ว. ทั้ง 2 ประเภท และที่สำคัญ การต่อสู้ในเกมการเมืองและการต่อรองของ ส.ว. นั้นมักจะอยู่ในเรื่องของ การแต่งตั้ง ถอดถอน ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่เป็นการลงคะแนนลับและไม่เปิดเผยผลการลงมติรายบุคคล แต่ประชาชนก็เดาได้ว่าเป็นเรื่องของการต่อสู้ในเกมทางการเมืองอย่างชัดเจน ปัจจัยเหล่านี้ จะก่อให้เกิดวิกฤติศรัทธาในการทำงานของวุฒิสภาได้ในอนาคต และการตั้งคำถามกับการดำรงอยู่ของวุฒิสภาได้
และยิ่งไปกว่านั้นการที่ ส.ว. และ ว่าที่ ส.ว. หลายๆ คนในชุดปัจจุบัน มีที่มาที่ไปที่ประชาชนมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของขั้วการเมืองเมืองใดการเมืองหนึ่ง และส่วนหนึ่งยังมีที่มาที่ไม่ต่างกับ ส.ส. แล้วนั้น เป็นจุดสำคัญที่ประชาชนหลายๆ คนอาจจะอยู่ในสภาวะเบื่อการเมือง
แต่การที่ประเทศในขณะนี้ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร การต่อสู้ทางการเมืองในระบบทั้งหมดก็จะอยู่ในวุฒิสภา ประชาชนควรต้องจับตามองการทำงานของนักการเมืองเหล่านี้ เพื่อที่จะไม่ปล่อยให้คนเพียงไม่กี่คนนำพาประเทศไปในทางใดทางหนึ่ง และที่สำคัญผลงานและพฤติกรรมของ ส.ว. ที่เกิดขึ้นจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความจำเป็นของการมีวุฒิสภาในบริบททางการเมืองไทยในขณะนี้
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก มูลนิธิตาสว่าง