ไฟใต้เดือน มี.ค.เหตุรุนแรง-สูญเสียทรงตัว
ส่วนปฏิบัติการและรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน ศูนย์ปฏิบัติการร่วมทางยุทธวิธี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (ศปร.กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ได้สรุปสถิติเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และบางส่วนของ จ.สงขลา ได้แก่ อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี ตลอดเดือน มี.ค.57
พบว่ามีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นทั้งหมด 53 เหตุการณ์ (แยกแยะเหตุที่เกิดจากความขัดแย้งส่วนตัวออกไปแล้ว) แบ่งเป็นเหตุลอบยิงด้วยอาวุธปืน 35 เหตุการณ์ เหตุลอบวางระเบิด 17 เหตุการณ์ และเหตุก่อกวน 1 เหตุการณ์
เมื่อแยกพิจารณาเป็นรายจังหวัด พบว่า จ.ปัตตานี มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น 23 เหตุการณ์ จ.นราธิวาส 16 เหตุการณ์ จ.ยะลา 12 เหตุการณ์ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา 2 เหตุการณ์
ส่วนในระดับอำเภอ พบว่าอำเภอที่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นบ่อยครั้งตลอดเดือน มี.ค. ได้แก่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส จำนวน 6 ครั้ง อ.มายอ กับ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี อำเภอละ 4 ครั้ง สำหรับอำเภอที่ไม่เกิดเหตุรุนแรงเลยตลอดเดือน มี.ค. ประกอบด้วย อ.เบตง อ.ธารโต จ.ยะลา อ.แม่ลาน อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี อ.เจาะไอร้อง อ.สุคิริน อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส และ อ.จะนะ กับ อ.นาทวี จ.สงขลา
ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความไม่สงบในเดือน มี.ค. มีทั้งสิ้น 82 ราย เป็นผู้เสียชีวิต 40 ราย บาดเจ็บ 42 ราย แยกตามกลุ่มอาชีพได้ดังนี้
ทหาร บาดเจ็บ 3 นาย
ตำรวจ เสียชีวิต 3 นาย บาดเจ็บ 7 นาย
ครู เสียชีวิต 2 ราย
ประชาชนทั่วไป เสียชีวิต 30 ราย บาดเจ็บ 27 ราย
อาสาสมัครทหารพราน (อส.ทพ.) เสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บ 4 นาย
ผู้นำท้องถิ่น เสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บ 1 ราย
สำหรับสถิติความรุนแรงและความสูญเสียในเดือน มี.ค.57 ถือว่ามีทิศทางลดลงหากเทียบกับเดือน ก.พ. และ ม.ค.ที่ผ่านมา กล่าวคือ เดือน ม.ค.มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น 56 เหตุการณ์ จากนั้นเดือน ก.พ.เหตุรุนแรงก็พุ่งขึ้นไปถึง 62 เหตุการณ์ แต่เดือน มี.ค.เหตุรุนแรงลดลงเหลือ 53 เหตุการณ์ ทั้งๆ ที่มีวันสำคัญเชิงสัญลักษณ์ที่เกี่ยวโยงกับสถานการณ์ความไม่สงบหลายวัน เช่น วันที่ 13 มี.ค. เป็นวันสถาปนาขบวนการบีอาร์เอ็น วันที่ 31 มี.ค.เป็นวันครบรอบ 2 ปีเหตุการณ์คาร์บอมบ์ที่โรงแรมลีการ์เด้นส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เป็นต้น
เช่นเดียวกับความสูญเสีย เดือน มี.ค.มียอดสูญเสียรวม 82 ราย (ทั้งบาดเจ็บและเสียชีวิต) ก็มีทิศทางลดลงจากเดือน ก.พ. ที่มียอดสูญเสียรวม 105 ราย และเดือน ม.ค. 91 รายตามลำดับ แต่ก็ยังไม่ถือว่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้และทั้งนั้น ตัวเลขที่ลดลงเล็กน้อยก็ไม่ได้หมายความว่าสถานการณ์ในพื้้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะดีขึ้น เพราะแต่ละวันยังคงมีความสูญเสียเกิดขึ้น และผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดย่อมหนีไม่พ้นประชาชนตาดำๆ โดยไม่เลือกศาสนา!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ชอบคุณ : กราฟฟิกประกอบข่าว โดยทีมกราฟฟิก กรุงเทพธุรกิจ