ระบบราชการ ‘ดร.บัณฑูร’ ชี้เป็นฟันเฟืองสำคัญทำปฏิรูปไทยสะดุด
‘ดร.บัณฑูร’ ชี้สร้างโรดแมพอนาคตประเทศ 10 ปี ปฏิรูปการเมือง-คอร์รัปชั่น-กระจายอำนาจ-ยุติธรรม-ราชการ ‘ไพโรจน์’ แนะเปลี่ยนอำนาจสู่ชุมชนจัดการตนเอง ระบุทางที่ดีลงประชามติสร้างกลไก-เลือกหัวข้อการปฏิรูป เชื่อเป็นกระบวนการสันติวิธี
วันที่ 2 เมษายน 2557 ขบวนองค์กรชุมชน และประชาสังคม ภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑล และตะวันออก จัดเสวนา ‘เดินหน้าปฏิรูปทันที ด้วยพลังภาคีและชุมชน’ ณ ห้องประชุม จิระ บุญมาก อาคารสยามบรมราชกุมารี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผอ.สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การขับเคลื่อนแนวคิดการปฏิรูปประเทศในโอกาสที่เกิดสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองมีความสำคัญที่จะทำให้ประสบผลสำเร็จ ซึ่งประเด็นที่มีการเรียกร้องนั้นล้วนเกิดจากรากฐานที่บ่มเพาะขึ้นจากความขัดแย้ง จนกระทั่งปะทุเป็นความรุนแรง ฉะนั้นหากไม่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ท้ายที่สุด ความขัดแย้งนั้นก็จะกลับมาวนเวียนอีกครั้ง
ส่วนจะล่าช้าเกินไปหรือไม่เมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบันที่มีคนเสียชีวิตจากการเมือง ดร.บัณฑูร กล่าวว่า แม้สถานการณ์จะหยุดนิ่งหรือไม่หยุดนิ่ง การปฏิรูปจะต้องเกิดขึ้น มิเช่นนั้นประเทศจะจมลึกมากกว่านี้ ซึ่งสิ่งที่เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปดำเนินการนั้นจะต้องทำแผนขับเคลื่อนอนาคตของประเทศ 10 ปี เพราะที่ผ่านมาเรามักแยกประเด็นการปฏิรูปเป็นส่วน ๆ ทำให้ไม่เห็นภาพอนาคตร่วมกัน
“บ้านจะมีหน้าตาอย่างไร ตอนนี้เราเห็นแค่หน้าต่าง ประตู บันได แต่ยังไม่เห็นภาพบ้านที่ประกอบร่วมกัน ฉะนั้นจึงต้องสร้างกลไกการปฏิรูป เพื่อช่วยกันออกแบบ โดยมีเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปริเริ่มรับอาสา แต่จุดสำคัญ คือ คนไทยทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการสร้างบ้านหลังนี้”
เปลี่ยนทฤษฎีจากราวตากผ้าเป็นร้านซักผ้า
ผอ.สถาบันธรรมรัฐฯ กล่าวต่อว่า ท้ายที่สุด จะต้องมีหัวข้อการปฏิรูป ซึ่งในอดีตเรามีราวตากผ้าที่มักนำโจทย์การปฏิรูปมาแขวนไว้ จนค่อย ๆ หนักและเอนเอียง ไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปไหนได้ ฉะนั้นจะต้องเลือกหัวข้อให้ดี โดยหลักมีทั้งหมด 5 เรื่อง คือ 1.ปฏิรูปการเมือง 2.การคอร์รัปชั่น 3.การกระจายอำนาจ 4.กระบวนการยุติธรรม และ 5.ระบบราชการ
ทั้งนี้ ใน 4 หัวข้อแรกได้มีการนำเสนอจนเกิดภาพที่ชัดเจนแล้ว แต่ปรากฏว่าไม่สามารถเดินหน้าได้ เพราะระบบราชการไม่เอาด้วย ฉะนั้นจึงต้องพัฒนาระบบราชการให้ก้าวหน้าก่อน เพราะกลไกราชการจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้การปฏิรูปเดินหน้าได้
“เราต้องปฏิรูปความคิดของตนเอง และเปลี่ยนทฤษฎีจากราวตากผ้าเป็นร้านซักผ้า ใครมีความพร้อมสามารถนำผ้าไปซักได้เลย ส่วนกลไกกลางนั้นเป็นเพียงผู้สนับสนุนความรู้ การสื่อสารสาธารณะ และกระบวนการมีส่วนร่วม” นายบัณฑูร กล่าว
เสนอเปิดลงประชามติ กลไกสู่การปฏิรูป
ด้านนายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน คือ การเปลี่ยนความคิดของตนเอง สามารถทำได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้เกิดสถานการณ์ใด พร้อมยกระดับจากการเป็นส่วนร่วมสู่การเป็นเจ้าของร่วมในการปฏิรูประเทศ นอกจากนี้จะต้องทำเจตจำนงร่วมและตัดสินใจร่วมกัน
สำหรับการปฏิรูปจัดการทรัพยากรและการกระจายอำนาจนั้น นายไพโรจน์ กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะการจัดการทรัพยากรที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น ดิน น้ำ ป่า ล้วนมีอำนาจการตัดสินใจผูกขาดจากส่วนกลางที่โน้มเอียงเข้าข้างผลประโยชน์บางกลุ่ม โดยเฉพาะผู้มีอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจ ดังนั้นจะต้องให้เกิดการปฏิรูปโครงสร้างการตัดสินใจใหม่ จึงทำให้เกิดความเป็นธรรมในการเข้าถึงเรื่องดังกล่าว
กรรมการคปก. กล่าวอีกว่า แต่เดิมไทยมีการออกแบบและวางรากฐานไว้แล้วในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 แต่กลับไม่มีการขับเคลื่อนจากภาครัฐ ปล่อยให้ภาคประชาชนขับเคลื่อนฝ่ายเดียว
“จุดประสงค์ของการปฏิรูป คือ เพื่อเปลี่ยนแปลงการใช้อำนาจจากส่วนกลางเป็นภาคองค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และภาคประชาสังคม หรือภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในทุกเรื่อง แต่การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องมีเจตจำนงร่วมกัน” กรรมการ คปก. กล่าว และว่า การปฏิรูปครั้งนี้ไม่ใช่การปฏิรูปการเมืองอย่างเดียวเหมือนเมื่อปี 2540 แต่เป็นการปฏิรูปประเทศ จึงต้องอาศัยกลไกอันประกอบด้วยทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วม หากมีการกีดกันฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งการปฏิรูปไม่มีทางประสบความสำเร็จ
พร้อมกันนี้ นายไพโรจน์ เสนอให้มีการเปิดลงประชามติใน 2 รูปแบบ คือ 1.การสร้างกลไกที่นำไปสู่การปฏิรูป และ 2.หัวข้อการปฏิรูป ซึ่งถือเป็นกระบวนการสันติวิธี ด้วยเราคืนอำนาจการตัดสินใจให้ประชาชนแล้ว ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับกลุ่มคนบางฝ่าย ที่พยายามจะสถาปนาอำนาจตนเองขึ้นมา
ทำให้การปฏิรูปประเทศมีหลักประกัน
ขณะที่ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ นิด้า กล่าวว่า การปฏิรูปประเทศถือเป็นเรื่องใหญ่และกว้างมากที่ไม่มีหลักประกันหรือถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งปัจจัยนำไปสู่ความสำเร็จนั้น จะต้องมีองค์กรและกระบวนการปฏิรูป ซึ่งครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเด็นการเมืองเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงระบบการบริหาร ระบบการจัดการทรัพยากรด้วย
ดังนั้นจำเป็นต้องทำให้การปฏิรูปประเทศมีหลักประกัน โดยการบัญญัติหลักการใหญ่ไว้ในรัฐธรรมนูญว่าองค์กรจะมีรูปแบบหรือประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดการเบี้ยวในตัวบุคคลหรือกระบวนการ เพราะการปฏิรูปภายใต้พระราชกฤษฎีกา ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี หรือมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เท่านั้น ไม่สามารถเป็นไปได้ .