คำวินิจฉัย“ศาลรธน.”รับคำร้องชี้ขาดสถานะ “ยิ่งลักษณ์” ย้าย “ถวิล” (ฉบับเต็ม)
"กรณีนี้จึงอยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะรับไว้พิจารณาวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และให้นายกรัฐมนตรีชี้แจงข้อกล่าวหาภายในสิบห้าวันนับแต่วันรับสำเนาคำร้อง"
เรื่อง ประธานวุฒิสภาส่งความเห็นของสมาชิกวุฒิสภา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรค 1 (7) ประกอบมาตรา 268 หรือไม่
คำร้องนี้นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกวุฒิสภา และคณะรวม 28 คน ได้ยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวหรือไม่ เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษา ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2557 ระหว่างนายถวิล เปลี่ยนศรี ผู้ร้องคดีกับนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ว่า การโอนผู้ฟ้องคดีจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ มาแต่งตั้งดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ ตามคำประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 30 กันยายน 2554 เป็นการดำเนินการโดยมิได้คำนึงถึงวัตถุประสงค์ของกฎหมายและมิได้อยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ทั้งยังไม่มีเหตุผลรองรับที่มีอยู่จริงและอธิบายได้
จึงถือได้ว่าเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบอันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีคำพิพากษาให้เพิกถอนประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าว มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ประกาศดังกล่าวมีผลบังคับคือ วันที่ 30 กันยายน 2554 โดยมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง (8) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ว่าผู้ถูกร้องคดีที่ 1 ควรที่จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายเพื่อให้ผู้ฟ้องคดีได้กลับเข้าสู่ตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ทั้งนี้ภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่มีคำพิพากษา
ผู้ร้องเห็นว่า ปัจจัยสำคัญในการโอนนายถวิล เปลี่ยนศรี พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เชื่อได้ว่าเป็นตามประสงค์ที่จะให้ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่พลตำรวจเอก วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ดำรงอยู่ในขณะนั้นว่างลง เพื่อแต่งตั้งให้บุคคลอื่นดำรงตำแหน่งดังกล่าวแทน โดยปรากฏพฤติการณ์ที่มิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน แต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ตนเองและเครือญาติตลอดจนพรรคเพื่อไทยที่ผู้ถูกร้องสังกัดอยู่
จึงเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นนายกรัฐมนตรีเข้าไปแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ในการแต่งตั้งหรือโอนข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมือง และเป็นการให้ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมืองพ้นจากตำแหน่ง โดยมิใช่การกระทำตามอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภา และมิได้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ อันเป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (2) และ (3) อย่างขัดแย้ง มีผลทำให้การเป็นนายกรัฐมนตรีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7)
ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว กรณีตามคำร้องเป็นการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ประกอบมาตรา 182 วรรคสาม ที่บัญญัติให้สมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อต่อประธานแห่งสภา ที่ตนเป็นสมาชิกว่าสมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งแห่งสภานั้นสิ้นสุดลง และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้องส่งคำร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพผู้นั้นสิ้นสุดลงหรือไม่ โดยให้นำบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 และมาตรา 92 มาใช้บังคับกับการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีว่ามีการกระทำอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) หรือไม่
และเมื่อคำร้องนี้มีสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภาและประธานวุฒิสภาได้ส่งคำร้องศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย กรณีนี้จึงอยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะรับไว้พิจารณาวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และให้นายกรัฐมนตรีชี้แจงข้อกล่าวหาภายในสิบห้าวันนับแต่วันรับสำเนาคำร้อง