ปฏิรูป 'คอร์รัปชัน' เมืองไทย ยากเหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา ?
“คอร์รัปชันเป็นอาชญากรรมไร้เจ้าทุกข์ ได้ผลประโยชน์ร่วมกัน ส่วนคนเสียประโยชน์คือคนจ่ายภาษีและเป็นกลุ่มที่ไม่มีอำนาจไม่มีพลัง สังคมส่วนใหญ่บอกคนไม่โกงคือคนโง่ การขับเคลื่อนเรื่องนี้เป็นเรื่องยากมากเหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา”
“ปฏิรูปการป้องกันปราบปรามคอร์รัปชัน...อย่างเห็นผลและยั่งยืน” คือ หัวข้อที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จัดขึ้น เพื่อร่วมหาแนวทางการปฎิรูปประเทศ โดยภายในงานมีการ 'เจาะลึก' การแก้ปัญหาคอร์รัปชัน รวมถึงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งจากสถาบันวิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และองค์กรนานาชาติ
สำหรับแนวทางต่อต้านคอร์รัปชันสากล มิสเอลโลดี้ เบธ ที่ปรึกษาด้านการต่อต้านคอร์รัปชันของภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค Regional Anti-Corruption Advisor for Asia Pacific (UNDP) เห็นว่า ปัจจุบันปัญหาคอร์รัปชันเป็นความท้าทาย ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ซึ่งในการพัฒนาอนุสัญญาว่าด้วยการทุจริตถือเป็นเครื่องมือในระดับโลกที่จะช่วยเพิ่มความร่วมมือในระดับสากลในการทวงคืนทรัพย์สินที่ถูกทุจริต การส่งเสริมคุณธรรมของภาครัฐ สถานภาพในการให้สัตยาบรรณตามอนุสัญญา
องค์ประกอบสำคัญมาตรการหลายต่อหลายปีจะมุ่งเน้นในการลงโทษทางอาญาที่จะต้องถือว่าเป็นความผิดทางอาญา เช่น การให้สินบนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ การฟอกเงิน การร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งคดีเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า พยานควรได้รับการคุ้มครองในการให้เบาะแสด้วย
มิสเอลโลดี้ เบธ กล่าวด้วยว่า การเริ่มต้นของการแก้ปัญหาคอร์รัปชันต้องเริ่มจากการไม่ยอมรับในเรื่องคอร์รัปชันให้ได้ก่อน โดยที่จะต้องทำให้แน่ใจว่ามีการร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการทุจริตไม่ใช่เรื่องของประเทศใดประเทศหนึ่ง เพราะการยักยอกในต่างประเทศมีเกิดขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นเป็นเรื่องที่ทุกประเทศต้องคิดร่วมกันว่าจะติดตามทวงคืนอย่างไร
" UNDP จะให้แนวทางว่าจะจัดการอย่างไร เป็นเหมือนพิมพ์เขียวที่จะนำมาใช้ อย่างไรก็ตามปัญหาการทุจริตไม่ใช่ปัญหาที่จะแก้ไขได้ง่ายๆ ดังนั้นตามหลักนิติรัฐทุกสถาบัน ทุกหน่วยงาน และประชาชนทุกคนต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน ทั้งในแง่การเคารพกฎหมาย การประกาศบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน"
มิสเอลโลดี้ เบธ กล่าวถึงความยากลำบากในการแก้ไขปัญหานี้คือความเป็นอิสระในการต่อต้าน หน่วยงานไม่มีทรัพยากรอย่างเพียงพอ เจ้าหน้าที่ไม่มีผู้เชี่ยวชาญทั้งในเรื่องการสอบสวน การดำเนินคดี เราไม่สามารถพึ่งพาหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งในการแก้ปัญหาทุจริตได้ "จิ้งจกเล็กจะไปต่อสู้กับจระเข้" ดูท่าจะลำบาก ดังนั้นการเริ่มขับเคลื่อนในการต่อต้านเรื่องทุจริตนั้นควรเริ่มตั้งแต่เนิ่นๆ ในกลุ่มเยาวชน
พร้อมเสนอแนะให้ประเทศไทยมีการรณรงค์เรื่องระบบคุณธรรมให้ลงลึกมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประเมินความเสี่ยงการทุจริตในโครงการต่าง ยกตัวอย่าง การสร้างสนามบิน ทางหลวงต่างๆ มีการรับสิบนบนหรือไม่ ซึ่งสถิติในไทย พบว่า มีการรับสินบนในโครงการเหล่านี้ถึง 30% และอาจจะมีการบังคับข่มขู่ด้วย
แก้คอร์รัปชัน เริ่มต้นจากในบ้าน ความนึกคิด
ด้านนักธุรกิจที่ร่วมขับเคลื่อนเรื่องคอร์รัปชัน นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร กรรมการองค์การต่อต้านคอร์รัปชันฯ เริ่มต้นถาม ใครต้องทำหน้าที่ในการจัดการกับเรื่องทุจริต ? ซึ่งในมุมมองทุกคนต้องเริ่มต้นจากในบ้าน ความนึกคิดของเราเอง ในเรื่องความคิดที่ถูกต้อง
ส่วนทำไมเราต้องเริ่มตั้งแต่เด็กนั้น เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น นางกอบกาญจน์ ได้ยกตัวอย่างกรณีเรื่องกองทุนกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา (กยศ.) ณ วันนี้ทุนหมดแล้วไม่มีการคืนทุน สาเหตุเพราะไม่คืนเยอะกว่าจำนวนคนที่คืน ทำให้สถานะกองทุนในวันนี้ติดลบ ส่งผลให้ไม่ได้รับทุนการเรียนหนังสือต่อ
"จากการพูดคุยกับกยศ.พบว่าจะมีคนที่ได้รับและจ่ายคืนเป็นปกติส่วนหนึ่ง จ่ายบ้างไม่จ่ายบ้างส่วนหนึ่งโดยให้เหตุผลว่า ขอผ่อนรถก่อน ผ่อนมือถือ ผ่อนบ้าน และสิ่งที่น่าตกใจมากที่สุดคือมีคนคิดว่า เงินกู้ กยศ.เป็นเงินที่มาจากการจ่ายภาษี เป็นเงินที่ตนเองต้องได้ และไม่คิดที่จะจ่ายคืน"
ดังนั้น องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ควรทำงานร่วมกับสถานศึกษา สร้างหลักสูตรผู้นำเยาวชนมีเวทีในมหาวิทยาลัย เพื่อปลูกฝังเยาวชนให้มีความเข้มแข็งทางจิตใจ สร้างมหาวิทยาลัยสีขาวเพื่อจะได้สานต่อ ส่งต่อความคิดที่ถูกต้อง รวมถึงการรับสมัครเข้าทำงาน ก็ไม่ควรดูเฉพาะทรานสคริป อาจจะต้องมีพาสปอร์ตการทำความดี ให้มูลค่าคนดีมากกว่าความเก่ง เพื่อให้นักศึกษามองเห็นว่าในความมืดมิดยังมีคนดีอยู่ มีผู้ใหญ่ที่ทำดีอยู่
"นี่เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่จะชี้ว่า อะไรคือขาวอะไรคือดำ และควบคุมความต้องการทางดำให้มาทางขาวมากขึ้น"
ขณะที่ดร.กนกกาญจน์ อนุแก่นทราย ผู้อำนวยการศูนย์สาธารณประโยชน์และประชาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) อธิบายหลักการสำคัญที่เกี่ยวกับความโปร่งใส ต้อง 'เปิดเผย' เป็นหลัก 'ปกปิด' เป็นข้อยกเว้น เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงข้อมูล ซึ่งจะช่วยลดโอกาสทางการทุจริตคอรัปชั่น ช่วยให้ประชาชนมีข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง มีทางเลือก
ทั้งนี้การจากศึกษา พบว่า การเปิดเผยเป็นสิ่งสำคัญ เช่น การดำเนินงานนโยบายของรัฐบาล การจัดซื้อจัดจ้าง ข้อมูลด้านงบประมาณ และขบวนการจัดทำงบประมาณ รวมถึงข้อมูลการใช้ดุลยพินิจในงานที่มีอำนาจตามกฎหมายในการควบคุมกำกับดูแล และอนุมัติโครงการต่างๆ ผู้นำ ต้องเป็นตัวอย่างในเรื่องของความโปร่งใส เปิดเผยอย่างเต็มที่ไม่มีข้อจำกัด ซึ่งหากมีข้อจำกัดก็ต้องเป็นข้อจำกัดที่น้อยที่สุดเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร
ส่วนดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เห็นว่า ที่ผ่านมาฝ่ายการเมืองไม่เอาใจใส่ไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหาเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน ตัวอย่างเช่น โครงการจำนำข้าว "เห็นชัดๆ วันนี้แล้วว่า มีการปล่อยให้มีการระบายข้าวแบบลับๆ คอร์รัปชันเป็นอาชญากรรมไร้เจ้าทุกข์ ได้ผลประโยชน์ร่วมกัน ส่วนคนเสียประโยชน์คือคนจ่ายภาษีและเป็นกลุ่มที่ไม่มีอำนาจไม่มีพลัง"
อีกทั้ง สังคมส่วนใหญ่บอกคนไม่โกงคือคนโง่ การขับเคลื่อนเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องยากมากเหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา
"เรามักกล่าวขวัญว่าสิงคโปร์แก้ปัญหานี้ได้ แล้ววันนี้เรามองดูตัวเองหรือไม่ว่าประเทศไทยทำได้ในวันนี้หรือไม่"
พร้อมกันนี้ ดร.นิพนธ์ ได้ยกตัวอย่าง พรรคไทยรักไทยที่ถูกลงโทษมาแล้ว 2 ครั้ง จนส่งผลให้เกิดการยุบพรรค และมาตั้งพรรคใหม่นั้น "ที่จับได้เพราะเป็นเรื่องฟลุก เพราะผู้ใกล้ชิดยอมให้ข้อมูลยอมเปิดปาก ซึ่งไม่ได้เกิดจากหลักฐานข้อมูลข่าวสารของข้าราชการเลย ถ้าไม่มีพยานพูดก็จับไม่ได้ ดังนั้นข้อมูลข่าวสารจึงเป็นหัวใจในการแก้ปัญหาเรื่องการทุจริต"
“3 เดือนที่ผ่านมาผมนั่งประมาณการทุจริตเฉพาะระบายข้าวคือไม่ทำอย่างอื่นเลย แต่ต้องฉีกทิ้งข้อมูล เพราะว่าข้อมูลไม่นิ่งไม่รู้จำนวนการระบายที่แท้จริง แต่รู้ว่าโครงการจำนำข้าวมีทุกจริตทุกขั้นตอน เป็นอาชญากรรมไร้เจ้าทุกข์ มีการจ่ายใต้โต๊ะ มีการจดทะเบียนเกินจริงเพื่อคะแนนเสียง”
นักวิชาการ TDRI กล่าวถึงโครงการจำนำข้าวด้วยว่า เป็นโครงการที่เสียหายหนักมาก "ต้องเลิกทำอย่างเดียว" ขนาดคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้ว่าการเจรจาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ทุจริตจริงยังมีการแอบขายแบบลับๆอยู่ เป็นเรื่องที่เหลือเชื่อ และถือว่ากล้ามาก สร้างความเสียหายที่ร้ายแรง ทั้งปัญหาแข่งขันราคาในตลาดข้าวโลก ดังนั้นจะแก้ปัญหาวันนี้ต้องให้คดีทุจริตไม่ควรมีอายุความ แก้กฎหมายข้อมูลข่าวสาร ลดอำนาจการปิดบังทางการเมือง และต้องเริ่มด้วยงานที่เป็นบวก
"ส.ส.ที่ตรวจสอบรัฐบาลเป็นเจ้าของโรงสี มีส่วนได้ส่วนเสียกับตัวโครงการจำนำข้าว ฉะนั้นจะหาความจริงใจจากนักการเมืองในแก้ปัญหาทุจริตจึงหวังได้ยาก ขณะที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ก็ไม่ใช่อัศวินม้าขาว ดังนั้นองค์กรเอกชนต้องร่วมมือกับหน่วยงานราชการ เพราะเชื่อว่าข้าราชการยังมีคนดีมากกว่าคนเลว หาทางปรึกษาหารือสร้างฉันทามติ และดำเนินตามนโยบาย หรือการตรวจสอบ"
ที่มาภาพ:http://www.anticorruption.in.th