ป.ป.ช.ฟัน 4 นายพลตำรวจ 2 เอกชนทุจริตจัดซื้อ“ไทเกอร์”1.1 พันล้าน
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.เชือด 4 นายพลตำรวจ 2 เอกชน ทุจริตจัดซื้อมอเตอร์ไซค์ไทเกอร์ สตช. 19,147 คัน 1,144.5 ล้าน ผู้บังคับการ พลาธิการ โดนหนัก 2 เอกชนผิด กม.ฮั้ว
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2557 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีมติดำเนินคดีอาญาและวินัยร้ายแรง พลตํารวจตรี สัจจะ คชหิรัญ ในฐานะผู้บังคับการพลาธิการและสรรพาวุธ กระทําความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทําความผิดต่อ ตําแหน่งหน้าที่ราชการและกระทําความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อ หน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ในการดําเนินการโครงการจัดซื้อรถจักรยานยนต์สายตรวจขนาด 200 ซีซี พร้อมอุปกรณ์ทดแทนจํานวน 19,147 คัน วงเงิน 1,144,550,600 บาท พลตํารวจโท ประชิน วารี พลตํารวจตรี สมพงษ์ น้าเจริญ พลตํารวจตรี อิทธิพล พิริยะภิญโญ คณะกรรมการประกวดราคา กระทําผิดวินัยอย่างร้ายแรง นางสาวรักชนก แจ๊ะซ้าย หรือนางสาวสุพิชญา สองมณี กรรมการผู้จัดการบริษัท คาร์แทรคกิ้ง จํากัด กระทำความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 และ นายปิติ มโนมัยพิบูลย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทเกอร์มอเตอร์ จํากัด กระทำความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 และความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา
รายละเอียดมีดังนี้
กรณีกล่าวหาพลตํารวจตรีสัจจะ คชหิรัญ ผู้บังคับการพลาธิการและสรรพวุธและสํานักงานตํารวจแห่งชาติ ว่ากระทําความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการและกระทําความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ในการดําเนินการโครงการจัดซื้อรถจักรยานยนต์สายตรวจขนาด 200 ซีซี พร้อมอุปกรณ์ทดแทนจํานวน 19,147 คัน วงเงิน 1,144,550,600 บาท
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคําสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน ปรากฏข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า ในการดําเนินการจัดซื้อรถจักรยานยนต์สายตรวจขนาด 200 ซีซี พร้อมอุปกรณ์ทดแทนดังกล่าว มีผู้ซื้อซองเสนอราคา ๖ ราย แต่ยื่นซองเสนอราคาเพียง ๓ ราย มีเพียงบริษัท คาร์แทรคกิ้งฯ ซึ่งเสนอรถจักรยานยนต์ ยี่ห้อ ไทเกอร์ รุ่น Boxer ๒๐๐ เพียงรายเดียว แต่คณะกรรมการประกวดราคาไม่เสนอให้ยกเลิกการประกวดราคากลับเสนอซื้อรถจักรยานยนต์ตามโครงการโดยไม่อ้างเหตุผลความจําเป็นที่จะต้องซื้อ
นอกจากนี้คุณสมบัติของผู้เสนอราคารายการที่สําคัญคือ ต้องมีตัวแทนจําหน่าย ซึ่งให้บริการซ่อมครบทุกจังหวัด กรณีนายปิติ มโนมัยพิบูลย์เป็นผู้รับรองว่าบริษัท ไทเกอร์ฯ มีครบทุกจังหวัด ให้บริษัท คาร์แทรคกิ้งฯ โดยนางรักชนก แจ๊ะซ้าย กรรมการผู้จัดการบริษัท คาร์แทรคกิ้งฯ เสนอต่อสํานักงานตํารวจแห่งชาติ ซึ่งจากการตรวจสอบแล้วไม่เป็นความจริง เนื่องจากไม่ได้มีตัวแทนจําหน่าย ซึ่งให้บริการครบทุกจังหวัดแต่อย่างใด
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุม ครั้งที่ 556-24/2557 เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2557 พิจารณาแล้วเห็นว่า โครงการจัดซื้อรถจักรยานยนต์ซึ่งเริ่มการกําหนดคุณลักษณะจากขนาด 150 ซีซี มาเป็นขนาดไม่เกิน 200 ซีซี การกําหนดร่างขอบเขตงานในเรื่องของโรงงานผู้ผลิตต้องได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และงบประมาณที่ได้รับทําให้พิจารณาได้ว่ามีเพียงรถจักรยานยนต์ยี่ห้อ ไทเกอร์ รุ่น Boxer 200 ที่สามารถเข้าเสนอราคาได้ อย่างถูกต้องเพียงรายเดียว และยังไม่เสนอเพื่อให้มีการยกเลิกการประกวดราคาหรือ ไม่แสดงเหตุผลความจําเป็นใด เพื่อที่จะดําเนินการต่อ และที่สําคัญอีกประการคือไม่ได้ตรวจสอบเงื่อนไขที่สําคัญของการประกวดราคา ที่บริษัท คาร์แทรคกิ้ง จํากัด ที่ไม่มีศูนย์ซ่อมและตัวแทนจําหน่ายดังกล่าว ทําให้เชื่อได้ว่ามีบริษัท คาร์แทรคกิ้ง จํากัดเพียงรายเดียว ทําให้ทางราชการเสียหาย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตํารวจที่ใช้รถจักรยานยนต์ ไทเกอร์ ในการปฏิบัติหน้าที่ไม่สามารถนํารถจักรยานยนต์ ไปซ่อมบํารุงตามสัญญาได้ และพบว่ามีปัญหาหลายอย่าง เช่น อัตราเร่งไม่สามารถทําความเร็วได้เท่ากับรถยี่ห้ออื่นๆ ในท้องตลาด
ดังนั้น กระบวนการในการจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้ จึงไม่ชอบด้วยระเบียบและกฎหมาย การกระทําของผู้เกี่ยวข้องจึงมีมูลความผิด ดังนี้
๑. พลตํารวจตรี สัจจะ คชหิรัญ ในฐานะผู้บังคับการพลาธิการและสรรพาวุธ และกรรมการประกวดราคา ซึ่งทราบรายละเอียดมาทุกขั้นตอน และเป็นเจ้าหน้าที่รับผิดชอบในการจัดหาครั้งนี้ ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบระมัดระวังผลประโยชน์ของทางราชการให้สูงเป็นพิเศษ แต่กระทําการโดยมีเจตนาให้รถจักรยานยนต์ยี่ห้อ ไทเกอร์ รุ่น BOXER 200 ได้เข้าทําสัญญากับสํานักงานตํารวจแห่งชาติ อีกทั้งในฐานะที่เป็นผู้บังคับการพลาธิการและสรรพาวุธ ในฐานะที่เป็นหัวหน้าพัสดุ ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระเบียบพัสดุ แต่กลับไม่นําเสนอข้อเท็จจริงในการประกวดราคาในกรณีที่มีผู้มีสิทธิเสนอราคาเพียงรายเดียว รวมทั้งเหตุผลและความจําเป็นที่จะต้องดําเนินการประกวดราคาต่อไป เพื่อประกอบการพิจารณาของผู้บังคับบัญชาในการอนุมัติจัดซื้อ การกระทําดังกล่าวจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ฐานเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐผู้ใดกระทําความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกระทําการใด ๆ
โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออํานวยแก่ผู้เข้าทําการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทําสัญญากับหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 และฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และเป็นความผิดวินัย ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ ตามพระราชบัญญัติตํารวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 79 (๑)
๒. การกระทําของพลตํารวจโท ประชิน วารี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 พลตํารวจตรี สมพงษ์ น้าเจริญ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 พลตํารวจตรี อิทธิพล พิริยะภิญโญ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 นั้น ไม่ได้รู้เห็นการดําเนินการมาตั้งแต่ต้น แต่อยู่ในฐานะคณะกรรมการประกวดราคา โดยการที่ต้องตรวจสอบศูนย์ซ่อมรถจักรยานยนต์ไทเกอร์ดังกล่าวตามที่เสนอมาว่ามีอยู่จริงหรือไม่ แต่กลับไม่มีการตรวจสอบแม้กระทั่งการสุ่มตัวอย่างแต่อย่างใด คณะกรรมการประกวดราคากลับไม่ดําเนินการให้เหตุผลที่ไม่ยกเลิกการประกวดราคาในครั้งนี้ไว้อย่างชัดเจนเพื่อประกอบการพิจารณาของผู้บังคับบัญชาที่มีอํานาจในการอนุมัติจัดซื้อ จัดจ้าง การกระทําดังกล่าวเป็นความผิดวินัยฐานการรักษาวินัยในเรื่องไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยชอบด้วยกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรีโดยไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ ฐานประมาทเลินเล่อ
ในหน้าที่ราชการ ตามพระราชบัญญัติตํารวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา ๗๘ (1) (๙) และการกระทําผิดดังกล่าวเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง การกระทําดังกล่าวจึงเป็นการกระทําผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา 79 (6) ส่วนพลตํารวจเอก ยงยุทธ เทพจํานง นั้น ในฐานะกรรมการประกวดราคา เป็นข้าราชการบํานาญ จึงไม่มีความผิดทางวินัย
3.การกระทําของนางสาวรักชนก แจ๊ะซ้าย หรือนางสาวสุพิชญา สองมณี กรรมการผู้จัดการบริษัท คาร์แทรคกิ้ง จํากัด ที่ได้ยื่นเสนอราคาต่อสํานักงานตํารวจแห่งชาติ โดยเสนอเอกสารหนังสือรับรองการเป็นตัวแทนจําหน่ายให้บริการซ่อมบํารุงตามมาตรฐานว่ามีตัวแทนจําหน่ายให้บริการซ่อมบํารุงครบทั้ง 76 จังหวัด เพื่อมีเจตนาให้คณะกรรมการประกวดราคาพิจารณาให้บริษัท คาร์แทรคกิ้ง จํากัด เป็นผู้มีสิทธิเสนอราคาต่อสํานักงานตํารวจแห่งชาติ การกระทําดังกล่าวถือว่านางสาวรักชนกฯ ได้กระทําการอันเป็นความผิดฐานร่วมกันในการเสนอราคา โดยเอาเปรียบแก่หน่วยงานของรัฐ อันมิใช่เป็นในทางประกอบธุรกิจปกติ ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542
4. นายปิติ มโนมัยพิบูลย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทเกอร์มอเตอร์ จํากัด ได้แจ้งรายชื่อที่ตั้งของตัวแทนจําหน่ายรถจักรยานยนต์ซึ่งให้บริการซ่อมบํารุงตามมาตรฐานของบริษัทผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ของบริษัท ไทเกอร์ มอเตอร์ จํากัด ครบทุกจังหวัดซึ่งไม่เป็นความจริง จึงมีมูลความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทําความผิดของนางรักชนก แจ๊ะซ้าย อันมีมูลเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ มาตรา 4 ประกอบมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
(อ่านประกอบ: เช่ารถตำรวจ 1.1 หมื่นล้านโยงคดี“ไทเกอร์”1,144 ล้าน -“ลูกจ้าง”หุ้นใหญ่)