เปรียบการเมืองเป็นรถไฟ 'ดร.โกร่ง' ชี้อย่าไปตื่นเต้น อีก 30 ปีก็เกิดใหม่
‘ดร.วีรพงษ์ รามางกูร’ ชี้เปิดเออีซีระบบภาษีจะทำหน้าที่เพียงหารายได้ให้รัฐบาล เปรียบสถานการณ์การเมืองเป็นรถไฟถึงสถานีก็จอด อย่าไปตื่นเต้น อีก 30 ปีก็เกิดใหม่ ตัดพ้อรู้สึกเสียดายลงทุน 2 ล้านล้านบ. ถูกพับ คาดหวังจะกลับคืนมาใหม่ ปัดตอบปมจำนำข้าวเสี่ยงทำรัฐบาลล้มครืน
วันที่ 1 เมษายน 2557 สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) จัดประชุมวิชาการเรื่อง ‘พัฒนบริหารศาสตร์ในบริบทอาเซียน’ เนื่องในโอกาสครบรอบปีที่ 48 แห่งการสถาปนาสถาบัน ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา
โดยดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ ‘พัฒนบริหารศาสตร์ในบริบทอาเซียน’ ใจความตอนหนึ่งว่า ในโลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปหมดแล้วจากโลกเมื่อ 20-30 ปีก่อน ไม่ว่าเราจะเข้าเป็นสมาชิกของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือไม่ หลังจากสงครามเย็นยุติลง กลายเป็นโลกของโลกาภิวัตน์ โลกซึ่งไร้พรมแดนมากขึ้น สำหรับการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ และเงินทุน ซึ่งต่อไปอาจจะรวมถึงการเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีฝีมือและไม่มีฝีมือ ซึ่งต่างกับโลกสมัยก่อนที่มีพรมแดนแน่นอน และการเคลื่อนย้ายสินค้าบริการ เงินทุน เทคโนโลยีต่าง ๆ มีขอบเขตจำกัด มีสิ่งกีดขวาง มีกฎระเบียบต่าง ๆ เฉพาะของแต่ละประเทศ ซึ่งสถาปนาขึ้นมาเป็นรัฐชาติเมื่อประมาณ 200-300 ปีมานี้เอง
ประกอบกับขณะนี้ความไร้พรมแดนมีมากขึ้น เพราะมีโลกไซเบอร์เกิดขึ้นมาอีก ดังนั้นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจและสังคม สังคมที่นี้เรามักเอาเฉพาะใหญ่ ๆ คือ ระบบการศึกษาและสาธารณสุข ส่วนระบบเศรษฐกิจมีหลายเรื่อง เมื่อก่อนเราพูดถึงเป้าหมายในการวางนโยบายเศรษฐกิจ หรือจุดมุ่งหมายของนโยบายเศรษฐกิจ ไม่ว่าเศรษฐกิจทุนนิยม กึ่งทุนนิยม หรือคอมมิวนิสต์ ย่อมไม่พ้นเป้าหมาย 3 ประการ คือ
1.ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจขยายตัวไปข้างหน้าหรือเจริญไปข้างหน้าเรื่อย ๆ
2.ทำอย่างไรให้ระบบเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ คือ ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน ไม่ใช่ขึ้น ๆ ลง ๆ เป็นวัฏจักร และขณะเดียวกันเงินต้องไม่เฟ้อ อัตราเงินเฟ้อต้องไม่เกินที่กำหนด
3.ต้องกระจายผลประโยชน์จากการขยายตัวและพัฒนาให้ทั่วถึง นั่นคือคนในสังคมควรได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเท่าเทียมกัน ไม่เกิดช่องว่างเรื่องรายได้มากจนเกินไป
ประธาน กยอ. กล่าวต่อว่า สมัยก่อนจุดมุ่งหมายการวางนโยบายเศรษฐกิจมี 3 เรื่องนี้ สุดแท้แต่จะเน้นเรื่องไหน หากเป็นระบบทุนนิยมก็เน้นเรื่องการขยายตัวของเศรษฐกิจ หากเป็นระบบสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ก็เน้นเรื่องการกระจายรายได้ ความเท่าเทียมกันบุคคลในสังคม ถ้าระบบสังคมนิยมอ่อน ๆ ก็อยู่กลาง ๆ ของสองขั้วเป้าหมาย
แต่บัดนี้โลกเปลี่ยนไปหมดเป็นโลกาภิวัตน์ ไร้พรมแดน โลกาภิวัตน์เป็นเหตุให้เกิดความจำเป็นต้องรวมกลุ่มกัน เพื่อความสามารถในการแข่งขันกับกลุ่มอื่น ดังนั้นเออีซีจึงเกิดขึ้นมา เพราะต้องการให้เกิดความเข้มแข็งที่จะแข่งขันกับจีนและยุโรป เพื่อประโยชน์ให้ตลาดใหญ่ขึ้น อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ลงทุนมาก จะได้สามารถเกิดขึ้นได้
"เมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ก็มีตลาดใหญ่เพียงพอที่คุ้มค่าในการลงทุนวิจัยให้ได้ซึ่งวิทยาการใหม่ ๆ ในการผลิต เพราะตลาดเล็ก ๆ ไม่คุ้มค่าในการทุ่มลงทุนงานวิจัยที่จะทำให้เกิดวิทยาการผลิตใหม่ ๆ"
ดังนั้นไทยเป็นประเทศที่ต้องเป็นสมาชิกประชาคมโลก ย่อมหนีไม่พ้นที่ต้องปรับความคิด ปรับวิธีการทำงานใหม่ ทำอย่างไรถึงจะสามารถแข่งขันได้ กลายเป็นหัวใจของนโยบายเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก สามารถแข่งขันได้ในประชาคมของตัวเอง และสามารถแข่งขันได้ในเวทีการค้าและการลงทุนของโลก
ดร.วีรพงษ์ ระบุว่า ภาษีเป็นเรื่องที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งคนมักไม่เข้าใจว่าเมื่อเราเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกาภิวัฒน์แล้ว ‘การจัดเก็บภาษี’ จะเหลือหน้าที่เพียงอย่างเดียว คือ การหารายได้ให้รัฐบาลเพื่อการพัฒนา
ส่วนเป้าหมายทางเศรษฐกิจด้านอื่นนั้น ต้องมุ่งเน้นในด้านรายจ่ายของรัฐบาล เรื่องสวัสดิการ การศึกษา ศิลปะ วัฒนธรรม สาธารณสุข กีฬา เพื่อลดช่องว่างของฐานะความเป็นอยู่หรือคุณภาพชีวิตให้แคบลง
“ช่องว่างระหว่างรายได้และทรัพย์สินไม่ใช่เป้าหมายเศรษฐกิจในโลกโลกาภิวัตน์อีกต่อไป เพราะหากทำจะเป็นตัวถ่วงในเรื่องความสามารถการแข่งขัน ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งสังคมไทยไม่ค่อยตระหนักในเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อมวลชน”
เมื่อถามถึงสถานการณ์การเมืองอาจฉุดการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ประธาน กยอ. ระบุว่า การเมืองก็เป็นการเมือง เหมือนรถไฟพอถึงสถานีก็จอด เมื่อจอดแล้วถึงเวลาก็ไป เป็นเรื่องธรรมดา อย่าไปตื่นเต้น และคาดการณ์อะไรไม่ได้ เพราะการเมืองไม่เหมือนเศรษฐกิจ ที่มีกลไกตลาดสามารถทำให้พยากรณ์ได้ แต่การเมืองพยากรณ์ไม่ได้ ขึ้นอยู่กับความคิดของคนไม่เกิน 10 คน ฉะนั้นอย่าไปพยากรณ์ คิดซะว่าเป็นของปกติที่ต้องเกิดขึ้น แล้วอีก 30 ปีก็เกิดขึ้นใหม่
อย่างไรก็ตาม อาจจะมีผลกระทบฉุดเศรษฐกิจให้ตกต่ำบ้าง แต่พูดไปก็ไม่มีประโยชน์ ทั้งนี้ เมื่อใดที่รถไฟเคลื่อนออกจากสถานี ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจก็จะกลับมา แต่ส่วนตัวคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจรอบนี้อาจเติบโตเพียง 0% หรือติดลบก็ได้ ขึ้นอยู่กับการเมืองที่ไม่สามารถพยากรณ์ได้ แต่ยืนยันว่าประเทศจะไม่มีรัฐบาลบริหารไม่ได้
เมื่อถามถึงโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ดร.วีรพงษ์ กล่าวว่า น่าเสียดายและหวังว่าจะกลับคืนมาใหม่ ในทิศทางเดิม ซึ่งผมคิดไว้ให้หมดแล้ว แต่ขออย่าเล่นการเมืองให้มากก็ใช้ได้
ส่วนก่อนหน้านี้ที่เคยระบุว่ารัฐบาลจะล้มเพราะโครงการรับจำนำข้าว 1.5 หมื่นบาท/ตัน นั้น ประธาน กยอ. กล่าวว่า "จำไม่ได้ พูดเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ จะไม่พูดเรื่องจำนำข้าวอีกแล้ว"
ภาพประกอบ:เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ