จาตุรนต์ : สิ่งที่ "ชนชั้นนำ" ทำอยู่นำพาปท.สู่ "เผด็จการ"
"...สิ่งที่ชนชั้นนำและอำมาตย์กำลังทำกันอยู่ในปัจจุบันและในอนาคตอันใกล้นี้ มีแต่จะนำพาประเทศไปสู่ระบบการปกครองที่เป็นเผด็จการมากขึ้นๆ และอาจจะเป็นระบบที่เป็นเผด็จการยิ่งกว่าที่พวกเขาคิดตั้งแต่ต้นเสียอีก..."
หมายเหตุ : เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2557 นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการรมว.ศึกษาธิการ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กชื่อ "Chaturon Chaisang" ฝากข้อคิดถึงผู้ที่ต้องการให้บ้านเมืองออกจากวิกฤต และระบุถึง 5 สาเหตุที่ทำให้ประชาชนไม่ยอมรับการจัดการของ "ชนชั้นนำ" และ "อำมาตย์"
----
ข้อคิดถึงผู้ที่ต้องการให้บ้านเมืองออกจากวิกฤต
ยิ่งมีการจัดการอย่างไม่เป็นธรรม ยิ่งจะเกิดระบบที่เลวร้ายและหายนะจะตามมา
สิ่งที่ชนชั้นนำและอำมาตย์กำลังทำให้เกิดขึ้นคือทำลายฝ่ายตรงข้ามให้ได้มากที่สุดและสร้างระบบที่มีหลักประกันว่าฝ่ายที่พวกตนพยายามทำลายอยู่นี้จะต้องไม่กลับมาเป็นรัฐบาลอีก
เมื่อใช้การชุมนุมของสุเทพกับพวกบีบให้ยุบสภาได้แล้ว ก็กำลังจัดการกับรัฐบาลและนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลโดยองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
กระบวนการจัดการนี้เป็นไปโดยไม่เป็นธรรม เลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ถึงขั้นแก้รธน.ตามอำเภอใจ
ปิดกั้นทางแก้รัฐธรรมนูญไม่ว่าทั้งฉบับหรือรายมาตรา ทำให้การแก้ปัญหาความแตกต่างทางการเมืองในเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นไปไม่ได้ รอวันฉีกรัฐธรรมนูญ
ทำให้ใครๆก็มองออกว่าองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญอยู่ตรงข้ามกับประชาชน ไม่เป็นธรรม
ระบบยุติธรรมพึ่งไม่ได้ กฎหมายไม่เป็นกฎหมาย มีแนวโน้มนำไปสู่ความรุนแรง ความสูญเสียมหาศาลและไม่มีวันจบ แต่เหตุการณ์ยังจะเลวร้ายลงไปอีกอย่างต่อเนื่อง
การจัดการกับรัฐบาลและนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลยังเดินหน้าต่อไป เพื่อให้อ่อนกำลังลงมากที่สุดและเพื่อนำไปสู่สุญญากาศทางการเมือง เพื่อจะได้ตั้งนายกฯคนนอกและรัฐบาลคนนอก
แต่ที่จะทำนี้ก็ต้องเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนเท่ากับต้องฉีกรัฐธรรมนูญนั่นเอง
หากมีนายกฯและรัฐบาลนอกรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นก็จะขาดความชอบธรรมอย่างรุนแรง นำไปสู่การต่อต้านคัดค้านจนนายกฯและรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรมนั้นไม่อาจบริหารประเทศได้
ชนชั้นนำและอำมาตย์จะต้องตัดสินใจใช้กำลังกองทัพปราบประชาชนและในที่สุดก็จะต้องตัดสินใจว่าจะทำรัฐประหารหรือไม่
หากมีการรัฐประหารเกิดขึ้นจะเกิดการต่อต้านในทันที มีความเสี่ยงสูงมากที่จะมีการต่อต้านด้วยความรุนแรงและปัญหาใหญ่ปัญหาแรกคือจะทำรัฐประหารสำเร็จหรือไม่
หากทำรัฐประหารสำเร็จในขั้นต้น ก็ยังจะพบกับการต่อต้านต่อเนื่องไม่จบง่ายๆ เมื่อรัฐประหารแล้ว ถึงอย่างไรก็ต้องคืนอำนาจให้ประชาชน ต้องให้มีรัฐธรรมนูญและให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น
ปัญหาที่ชนชั้นนำจะแก้ไม่ตกคือกระบวนการทำลายฝ่ายตรงข้ามที่ทำมาทั้งหมดมีผลสะสมทำให้ฝ่ายที่ถูกทำลายอย่างต่อเนื่องนั้นกลับจะได้รับความเห็นใจและมีโอกาสที่จะได้รับชัยชนะอยางท่วมท้นในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นหลังการรัฐประหาร
กรณีที่ทำให้ประชาชนไม่ยอมรับการจัดการของชนชั้นนำและอำมาตย์ที่ใช้องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญจัดการกับฝ่ายตรงข้ามที่สำคัญก็คือ
1.การวินิจฉัยว่าการแก้รัฐธรรมนูญของสมาชิกรัฐสภาเป็นการขัดมาตรา 68 ที่นำไปสู่การถอดถอนและดำเนินคดีอาญาต่อสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่รวมทั้งประธานวุฒิสภาและอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ในขณะที่ให้การคุ้มครองการเคลื่อนไหวของกปปส.ด้วยการวินิจฉัยว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
2.การคว่ำร่างพ.ร.บ. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านๆที่มีผลเป็นการล้มโครงการรถไฟความเร็วสูงและการพัฒนาระบบคมนาคมของประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้เกิดขึ้น
3.การขัดขวางการเลือกตั้งของกปปส. การไม่ตั้งใจจัดการเลือกตั้งของกกต.และการวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ซึ่งมีผลเท่ากับจะไม่สามารถมีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปัจจุบันได้อีกแล้ว
4.การที่ปปช.เลือกปฏิบัติต่อนายกฯแตกต่างจากที่ปฏิบัติต่อรัฐบาลปชป.อย่างชัดเจน นำไปสู่การชี้มูลนายกฯ การถอดถอนและการดำเนินคดีอาญานายกฯอย่างรวบรัดผิดปรกติและไม่เป็นธรรม
5.การทำให้ครม.รักษาการต้องพ้นไปและการตั้งนายกฯและรัฐบาลใหม่ขึ้นมาแทนที่โดยไม่ผ่านการเลือกตั้งซึ่งเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญอย่างร้ายแรงไม่ต่างจากการฉีกรัฐธรรมนูญหรือรัฐประหารโดยศาลรัฐธรรมนูญนั่นเอง
กรณีทั้ง 5 นี้จะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับการกระทำของฝ่ายชนชั้นนำและอำมาตย์และประชาชนส่วนใหญ่จะแสดงออกให้เห็นในการเลือกตั้งด้วยการไม่ยอมให้พรรคการเมืองที่เป็นลูกมือของชนชั้นนำและอำมาตย์คือพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล แต่จะเทคะแนนให้พรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับชนชั้นนำและอำมาตย์ แม้พรรคการเมืองเหล่านั้นจะถูกทำลายลงไปเพียงใดก็ตาม
ทำให้ชนชั้นนำและอำมาตย์ต้องตกอยู่ในสภาพที่ยิ่งพยายามยิ่งยาก ยิ่งทำลายฝ่ายตรงข้าม ฝ่ายตรงข้ามกลับยิ่งโต กลายเป็นความจำเป็นที่ต้องสร้างระบบที่มีหลักประกันมากยิ่งขึ้นว่าพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามนั้นจะต้องไม่ได้เป็นรัฐบาลแม้จะได้เสียงมามากจากการเลือกตั้งก็ตาม
ระบบดังกล่าวไม่ใช่ไม่เคยมีมาก่อนเช่นในสมัยประชาธิปไตยครึ่งใบก็เคยมีระบบที่นายกฯไม่ต้องมาจากส.ส. วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรประชุมร่วมกันในเรื่องสำคัญๆ โดยที่สว.มาจากการแต่งตั้งโดยหัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นต้น
หากนำระบบแบบนี้มาผสมเข้ากับรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 นี้ ก็จะได้ระบบที่เป็นเผด็จการที่หนักหนาสาหัสที่สุดยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยทีเดียว
นั่นก็หมายถึงสิ่งที่ชนชั้นนำและอำมาตย์กำลังทำกันอยู่ในปัจจุบันและในอนาคตอันใกล้นี้ มีแต่จะนำพาประเทศไปสู่ระบบการปกครองที่เป็นเผด็จการมากขึ้นๆ และอาจจะเป็นระบบที่เป็นเผด็จการยิ่งกว่าที่พวกเขาคิดตั้งแต่ต้นเสียอีก
ปัญหาที่จะตามมาก็คือระบบแบบนี้เป็นระบบการปกครองที่ล้าหลัง ไม่เป็นที่ยอมรับทั้งจากนานาประเทศและจากประชาชนไทยเอง ระบบแบบนี้จะเป็นตัวเหนี่ยวรั้งและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาของประเทศ ทำให้ประชาชนเสียโอกาสอย่างมหาศาล นอกจากนั้นระบบการปกครองแบบนี้จะทำให้สังคมไทยไม่เพียงแต่จะขัดแย้งแตกแยกกันต่อไปเท่านั้น แต่ความขัดแย้งจะยิ่งรุนแรง เกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงต่อเนื่องไม่สิ้นสุดด้วย
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก rsunews