มองไปข้างหน้า "ปฏิรูป" กระบวนการยุติธรรมไทย
“กระบวนการยุติธรรมมีปัญหาและสร้างปัญหามาก เกิดจากการเรียนการสอนของทางสถาบันด้วย เราสอนให้จำทางปฏิบัติ แต่ไม่สอนให้คิด ”
29 มีนาคม 2557 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดประชุมวิชาการรำลึก ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ครั้งที่ 19 ภายใต้หัวข้อ "การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทย" โดยมีศาสตราจารย์พิเศษสิทธิโชค ศรีเจริญ ประธานกรรมการกองทุนศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ณ ห้องจิ๊ด เศรษฐบุตร (LT.1) มธ. ท่าพระจันทร์
พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ กล่าวถึงการปฏิรูปตำรวจว่า ถึงขณะนี้ก็ยังมองไม่เห็น จะเกิดการปฏิรูปได้ พร้อมกับยังไม่แน่ใจด้วยว่า ต้องพยายามจนแก่ตายหรือไม่จึงจะเกิดกระบวนการปฏิรูประบบยุติธรรม โดยเฉพาะเรื่องของตำรวจ
จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ในฐานะคนผลักดันเรื่องการปฏิรูปตำรวจ พบว่า คนที่มีความรู้ความต้องการมากที่สุดคือ ประชาชน ดังนั้นในการปฏิรูปจึงจำเป็นต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม
ส่วนสิ่งที่พบว่าเป็นปัญหาของตำรวจ พล.ต.อ.วสิษฐ ระบุว่า คือ
1.รูปแบบการบริหารที่รวมศูนย์อำนาจไว้ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
2.ระบบโครงสร้างที่เทอะทะซึ่งสาเหตุมาจากการรับงานมาเป็นของตัวเองมากเกินไป เช่น การตรวจคนเข้าเมือง
3.ลักษณะการจัดองค์กรของตำรวจทำแบบเดียวกับทหาร ทั้งๆ ที่ระบบงานไม่เหมือนกัน
"เมืองไทยเป็นเมืองบ้ายศ ไม่มียศก็ทำงานไม่ได้ ทั้งๆ ที่งานไม่ได้มากมายตามยศ แทนที่จะแบ่งตามชั้นตามความรับผิดชอบ"
อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ กล่าวอีกว่า ขณะที่ในชั้นสอบสวนจำนวนเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ รวมทั้งภาระหน้าที่งานไม่ดึงดูดให้คนอยากมาทำเพราะว่าจำเจ ต้องใช้สมาธิ รวมถึงจะต้องมีความรู้ทางด้านกฎหมายที่ลึกซึ้ง มิฉะนั้นอาจทำหน้าที่บกพร่อง เช่น การลงโทษคนที่ไม่ผิดหรือปล่อยคนผิดให้ลอยนวล งานตำรวจถูกแทรกแซงจากผู้มีอำนาจ เหตุเพราะตำรวจมีอำนาจในการสืบสวนกุมขังจึงกลายเป็นคนกลัวและเอาใจตำรวจ ส่วนบุคคลภายนอกที่ต้องการให้ตัวเองมีอิทธิพลก็เข้าไปครอบงำด้วยวิธีการต่างๆ การเมืองไปยุ่งกับตำรวจตลอดเวลา และการเมืองแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจ
“เราจึงมักได้ยินประโยค "มีวันนี้เพราะพี่ให้" พอให้แล้วมีอำนาจเหนือตำรวจคนอื่น" พล.ต.อ.วสิษฐ กล่าว และว่า การที่ตำรวจใช้หลักนิติศาสตร์อยู่เหนือประชาชนมุ่งไปในเรื่องของอำนาจจากตำแหน่งหน้าที่ของตนเองมากกว่าที่จะมุ่งใช้หลักการนิติศาสตร์แก้ไขปัญหา
ทั้งนี้ พล.ต.อ.วสิษฐ ยืนยันว่า ในการปฏิรูปตำรวจนั้นอย่างไรก็ตามยังจำเป็นต้องมีสำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่ แม้จะให้มีการกระจายอำนาจลงไปสู่ท้องถิ่นก็ตาม เพราะหากให้ตำรวจท้องถิ่นสามารถจัดการซื้อทุกอย่างได้หมดมีโอกาสที่จะสิ้นเปลืองงบประมาณของชาติ เพราะตำรวจมีทุกจังหวัดหากตำรวจทุกจังหวัดมีอะไรเป็นของตัวเองทั้งหมด เช่น ห้องแล็บมีทุกจังหวัดเป็นสิ่งที่เกินความจำเป็นเกินไป หรือเครื่องแบบคนละสีคนแบบ
ดังนั้นหากมีการกระจายอำนาจของตำรวจแล้ว อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ เห็นว่า ต้องมีการพิจารณาอย่างจริงจัง ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการแก้ไขอย่างเต็มที่ ไม่ใช่ปฏิรูปตำรวจแต่ให้ตำรวจมาแก้กฎหมายเองแล้วใช้เอง เราต้องให้ประชาชนเพราะเขารู้ปัญหาดีที่สุด
เมืองไทยออกหมายจับเกลื่อนมาก
ด้านดร.คณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวถึงการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมต้องเริ่มด้วยความต้องการของมนุษย์ โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ความต้องการภายนอกและความต้องการภายใน ซึ่งภายนอกคือความอยู่ดีกินดี ภายในคือจิตใจความเป็นธรรม หากยังขาดความเป็นธรรมชีวิตจะชีช้ำ สถาบันการศึกษาคือลูกหนี้ชั้นต้น การระงับความขัดแย้งไม่ใช่การใช้ความรู้สึกแต่ต้องใช้วิชาการ
ดร.คณิต กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งเรียนรู้การศึกษาต้องมีความเป็นสากล การศึกษาคือเพื่อมนุษย์และสังคมมนุษย์ ภาระกิจหลักคือ การเรียนการสอน งานวิจัย บริการสังคม และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ภารกิจสำคัญของวงการการศึกษาคือการดูแลบริการสังคมโดยการนำองค์ความรู้ไปบริการ
"แต่ขณะนี้มหาวิทยาลัยไม่ได้ทำ หรือทำก็ไม่ชัดเจน ที่ผ่านมาขอชื่นชมสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า ที่เป็นมหาวิทยาลัยแรกๆ ออกมาวิพากษ์ "จำนำข้าว" คนด่ากันทั้งบ้านทั้งเมือง แต่ตอนนี้ก็เห็นชัดว่า โครงการไม่ดีจริงๆ คือทุกมหาวิทยาลัยต้องเป็นอย่างนี้
การปกครองประเทศเราต้องใช้นิติศาสตร์เพื่อความต้องการภายนอกและภายใน อยู่ดีกินดีใช้หลักเศรษฐศาสตร์ มีสุขใช้แพทย์ศาสตร์ การปกครองประเทศต้องมีกฎกติกา”
ดร.คณิต กล่าวอีกว่า กระบวนการยุติธรรมเป็น "หัวใจ" และเป็นเครื่องมือในการสร้างความเป็นธรรม ความขัดแย้งในสังคมเกิดจากความไม่เป็นธรรม ความไม่เป็นธรรมเกิดจากกฎหมายที่ไม่ดีจึงต้องแก้ไขกฎหมายและปฏิรูปกฎหมาย ที่เรายังปฏิบัติกันไม่ถูก ซึ่งหากคนไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมอยู่ไม่ได้ สังคมไม่สงบแน่ กระบวนการยุติธรรมจึงเป็นเรื่องใหญ่ทั้งในทางแพ่ง อาญา แรงงาน รัฐธรรมนูญ คือต่อไปกระบวนการยุติธรรมต้องรวดเร็วและเป็นธรรม
“กระบวนการยุติธรรมมีปัญหาและสร้างปัญหามากเกิดจากการเรียนการสอนของทางสถาบันด้วย เราสอนให้จำทางปฏิบัติ แต่ไม่สอนให้คิด ยิ่งกว่านั้น คือ ไม่สอนให้คิดอย่างเป็นลำดับ เช่น การออกหมายจับต้องดูว่าเขากระทำการเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ คือต้องมีพยานหลักฐานเพียงพอ ไม่ใช่รู้สึกว่า เขาทำผิดแล้วไปออกหมายจับ บ้านเรานี่ออกหมายจับเกลื่อนมาก”
ปธ.คปก.กล่าวด้วยว่า ความสำคัญของกระบวนการยุติธรรม คือเรื่องความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของบุคคลและประชาชน เสริมสร้างการพัฒนาประเทศในทุกด้าน และต้องมีประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย
พร้อมยกตัวอย่างคดีที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมที่ญี่ปุ่น คดีนายทานากะ อดีตนายกญี่ปุ่นฆ่าตัวตาย คนญี่ปุ่นหน้าบาง ขณะที่ไทยไม่ใช่ ถ้ากฎหมายมีประสิทธิภาพในเมืองไทยก็คงอยู่ไม่ได้หรอก
"ขนาดยิงกันในผับต่อหน้าแต่ก็ยังยกฟ้อง กระบวนการยุติธรรมเป็นสายพานที่เราต้องลดปริมาณคดีสู่ระบบสายพาน การตรวจสอบความจริงในอาญาตรวจสอบสองชั้นต้องมีความเป็นเอกภาพเป็นภาวะวิสัย"ดร.คณิต กล่าว และเห็นว่า กฎหมายเราทันสมัยไม่แพ้ประเทศใดในโลก แต่การปฏิบัติ "เพี้ยน" และทำให้เกิดความเสียหาย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องวางระบบกันใหม่
คิดใหม่ปฏิรูปการบริหารกระบวนการยุติธรรม
ขณะที่รศ.ณรงค์ ใจหาญ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวว่า ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เห็นได้ว่า เรามีพัฒนาการที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง
- เรื่องคน พูดกันมาหลายสิบปี คนที่ปฏิบัติหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม จุดที่สำคัญคือกฎหมายแก้ระดับหนึ่งแล้ว ในการแก้กฎหมายก็ดูจากมาตรฐานสากลทั้งยุโรปและอเมริกา พัฒนาประสิทธิภาพในการดำเนินคดี แต่ที่ไปไม่ถึง "คนที่ปฏิบัติหน้าที่" ทำอย่างไรให้เข้าใจระบบและบทบาทหน้าที่ มีจิตสำนึก
- คุณภาพการคัดกรองทางอัยการมีเกณฑ์มาตรฐานให้ชัดเจน การคัดกรองของพนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่ในการจับ ควรเพิ่มกระบวนการอบรมให้มากขึ้น รวมถึงค่าตอบแทนที่ทำหน้าที่เหล่านี้ได้น้อยกว่าในตำแหน่งอื่น ทั้งๆที่เป็นหน้าที่ที่มีความเสี่ยง ซึ่งทางรัฐต้องแก้ไขปัญหาค่าตอบแทนหรือมีเครื่องมือเครื่องใช้ทางเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพนักงานสอบสวนเพิ่มขึ้นด้วย
“สิ่งที่สำคัญต้องให้มีระบบการตรวจสอบที่ได้ผล ควบคุมการออกหมายจับ ให้อัยการเข้ามามีส่วนร่วมในการสอบสวนคดี เข้าไปในแง่ของการวางรูปคดีไม่ใช่เข้าไปนั่งเฉยๆ ระบบของบ้านเราส่วนหนึ่งต่างคนต่างแยกส่วนในการทำงาน เมื่อไหร่ก็ตามที่มีข้อตกลงและข้อเสนอกฎหมายให้องค์กรมาทำงานร่วมกัน มักจะมีข้อโต้แย้งและทำให้การผลักดันในบ้างเรื่องไม่ประสบความสำเร็จ”
คณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ. เสนอว่า การปฏิรูปกระบวนยุติธรรมนั้น
1.เสริมความรู้เพิ่มประสิทธิภาพให้บุคคลากร ด้วยองค์ความรู้ใหม่ๆ ทางด้านอาชญากรรม
2.นำเทคนิคใหม่ๆ ของการสืบสวนมาใช้ให้ได้พยานหลักฐานมาโดยไม่ต้องบังคับ มีกระบวนการพิสูจน์ความผิดได้ดีขึ้น รัฐบาลต้องลงทุนให้กับพนักงานและให้ความรู้เกี่ยวในการใช้เทคนิคในการสืบสวน
3.มีวิธีคิดใหม่ของการบริหารกระบวนการยุติธรรม ไม่ให้เป็นภาระศาล อัยการพิจารณาคดีโดยไม่ต้องนำทุกคดีขึ้นสู่ศาล คัดเลือกเฉพาะคดีสำคัญจริงๆ ขึ้นสู่ศาล
4.ทางมหาวิทยาลัยมีความรู้ทางวิชาการแต่ไม่มีความรู้ทางปฏิบัติต้องช่วยแชร์ข้อมูล การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
5.การฝึกอบรมจะทำให้ผู้ปฏิบัติงานและนักศึกษาเห็นปัญหาในกระบวนการยุติธรรมมากยิ่งขึ้น
6.บทบาทของมหาวิทยาลัย การพัฒนาแนวความคิดนวัตกรรมใหม่ของเรา ถ้าอยากจะแก้อะไรจะเป็นคนเสนอหรือแก้กฎหมาย ปฏิรูปกฎหมายต้องมีงานวิจัยศึกษาก่อน ซึ่งงานวิจัยจะทำให้เป็นแนวทางในสู่การปฏิรูปที่เป็นระบบ
ปฏิรูปศาลยุติธรรม
ส่วนดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ช่วงที่มีรัฐธรรมนูญปี 2540 ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น การแก้รัฐธรรมนูญจึงมีบทบัญญัติทางข้อมูลเชิงแนวคิดที่เตรียมไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการออกหมายจับ สิทธิการมีทนาย การคุ้มครองสิทธิพื้นฐานของผู้ต้องหา สิทธิของผู้เสียหาย
แต่การปฏิรูปในช่วงปี 2540 คณะกรรมการชุดใหญ่ไม่ได้กระตือรือร้นกับเรื่องนี้เท่าไหร่ ตอนนั้นพวกเขาต้องการปฏิรูปการเมือง การปฎิรูปกระบวนการความยุติธรรมเขายอมให้ทำ แต่ไม่มีใครเห็นความสำคัญ
“ถ้าจะมองไปข้างหน้า ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมจะต้องทำกว้างและลงลึกมากขึ้นในเรื่องจิตสำนึก แม้ว่าเราจะปรับกฎหมายให้ดีที่สุด แต่ถ้าจิตสำนึกของคนยังไม่ตามไปด้วยก็ยากที่จะปฏิรูปสำเร็จ”
ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวอีกว่า การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ต้องปั้นขึ้นไปสู่การปฏิรูปศาลยุติธรรม ที่มาของกฎหมายต้องเป็นที่ยอมรับ องค์กรต้องมีความเที่ยงธรรม ตรวจสอบได้ตามอำนาจอธิปไตย
"ถ้าระบอบยุติธรรมไม่ยุติธรรมแล้วสังคมก็ไม่มีวันสงบ"
ดร.กิตติพงษ์ กล่าวย้ำว่า ขณะนี้มีความพยายามที่จะปฏิรูปประเทศ ซึ่งประเด็นก็เริ่มตกผลึกในเรื่องของการได้มาซึ่งอำนาจของนักการเมืองและการตรวจสอบการใช้อำนาจด้วยระบบพรรคการเมือง การตรวจสอบการใช้อำนาจแนวตรงที่มีวิธีการหลายแนวทาง ในเรื่องคอร์รัปชันควรลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มความเป็นธรรม ส่วนประเด็นที่กำลังดังขึ้นมาและชัดขึ้น คือเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ฉะนั้นจะต้องใช้โอกาสนี้ผลักดันการปฏิรูปให้เกิดขึ้น เพราะระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งต้องอาศัยหลักนิติธรรม
สุดท้าย นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวถึงปัญหาในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมนั้นต้องปฏิรูปให้มีความโปร่งใสและยุติธรรมมากขึ้น
ประการแรก ปัญหาเรื่องของของความโปร่งใส เกิดความเคลือบแคลงในตัวเจ้าหน้าที่ พยานบุคคล และหลักฐาน
ประการที่สองการถูกแทรกแซงในการทำงานทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ ตัวพยานบุคคล หรือแม้กระทั่งหลักฐานที่ถูกพิสูจน์ก็ถูกแทรกแซงได้
ประการที่สาม ปัญหาการเลือกปฏิบัติ
ประการที่สี่ การขาดการตรวจสอบต้องดูว่า ระบบการตรวจสอบในกระบวนการยุติธรรมนั้นมี ประสิทธิภาพมากเพียงใด การใช้ดุลพินิจของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ต้องตรวจสอบมากน้อยแค่ไหน
ประการที่ห้า เรื่องค่าใช้จ่ายในการทำคดี
ประการที่หก ปัญหาการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในทางมิชอบหลายอย่าง เช่น เครื่องมือทางการเมือง เครื่องมือทางการกลั่นแกล้งทางเศรษฐกิจ หรือพยายามหาช่องทางใช้กฎหมายในทางที่มิชอบ
ประการที่เจ็ด การวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรม ในกรณีที่กล่าวหาว่าศาลไม่มีมาตรฐาน เป็นเรื่องที่ไม่ควรจะเถียง แต่ควรกลับมาประเมินตัวเองว่า ความจริงเป็นอย่างไร ถ้าไม่จริงต้องชี้แจงให้ประชาชนทราบ
ประการที่แปด ระยะเวลาในการดำเนินคดี ในอดีตมีคนเคยกล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้าคือความไม่ยุติธรรม แต่ในปัจจุบันกระบวนการที่รวดเร็วจนเกินไปก็เป็นที่เคลือบแคลงได้เหมือนกัน ซึ่งเรื่องของระยะเวลานั้นจึงไม่สำคัญเท่ากับความเหมาะสม
ประการที่เก้า การถูกข่มขู่คุกคาม แม้กระทั่งผู้พิพากษาหรือตำรวจก็โดนข่มขู่คุกคาม
ประการที่สิบ ปัญหาเรื่องที่มาของคน เพราะเกิดความเคลือบแคลงสงสัยต่อบุคลากรสอบสวน และกระบวนการคัดกรองบุคลากรที่ทำหน้าที่ต้นทางของความยุติธรรม ซึ่งคนที่จะมาทำงานตรงจุดนี้ต้องประกอบด้วยหลักคุณธรรม และมีประสิทธิภาพในการทำงาน
เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวถึงกระบวนการยุติธรรมในเชิงนโยบายที่ไม่เป็นธรรม อีกประการหนึ่ง คือ การแทรกแซงดุลพินิจของศาลยุติธรรม สังเกตได้จากการละเมิดลิขสิทธิ์ของค่ายผลิตภาพยนตร์ที่ในประเทศไทยมีการวางจำหน่ายอยู่ตามท้องตลาดทั่วไปอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย โดยมีโทษปรับตั้งแต่ 2 - 4 แสนบาท แต่หากไม่มีเงินจะต้องต้องโทษโดยถูกปรับวันละ 200 บาทจนกว่าจะครบค่าปรับ
อย่างไรก็ตาม หากถามคนทั่วโลกขายซีดีละเมิดลิขสิทธิ์หนึ่งแผ่น แต่ปรับ 2 แสนบาท ยุติธรรมหรือไม่ คนทั่วโลกน่าจะตอบไปในทางเดียวกันว่า ไม่ยุติธรรมอย่างแน่นอน จึงอยากให้หาทางแก้ไขกฎหมายให้มีความยุติธรรมมากขึ้น ในที่นี่หมายถึงตัดสินตามความผิดที่ต้องสมดุล ยุติธรรมในส่วนของระบบการไต่สวนต้องการให้ชัดเจนว่าต้องทำอย่างไร
“ทุกวันนี้ทนายความ อัยการ ศาล มั่วไปหมด ถ้าถามว่าประเทศไทยใช้ระบบใด เรียกได้ว่าระบบมั่ว อันนี้ต้องมาตกลงกันให้ชัดเจนว่า จะใช้ระบบใดกันแน่ ซึ่งในเรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับรูปคดีกฎหมายเหมือนกัน”