“นพ.ภักดี สืบนุการณ์” หมอชนบทดีเด่น’53 สอนน้องใหม่เข้าถึงความทุกข์ชาวบ้าน
หมอ รพ.สมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย จ.เลย คว้ารางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท ปี 2553 เผยทำงาน 24 ปีเพราะทีมงานและชาวบ้านให้กำลังใจ แนะหมอใหม่เรียนรู้ชนบท 2-3 ปีเพื่อเข้าถึงความทุกข์คนขาดโอกาสทางการแพทย์ เชื่อคนไทยยินดีจ่าย 30 บาทรักษาโรค
วันที่ 13 ก.ค.54 ที่โรงพยาบาลศิริราช ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวประกาศผลและมอบรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท ประจำปี 2553 โดยในปีนี้ได้คัดเลือกให้ “นพ.ภักดี สืบนุการณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย จังหวัดเลย” เป็นผู้ผู้ได้รับรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท
ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กล่าววว่า รางวัลนี้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2516 เพื่อเป็นกำลังใจแก่แพทย์ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในชนบท และมีส่วนสำคัญในการพัฒนาบริการทางการแพทย์และส่งเสริมสุขภาพในพื้นที่ให้เจริญก้าวหน้า เป็นแบบอย่างที่ดีแก่เพื่อร่วมวิชาชีพและนักศึกษา โดยเฉพาะบัณฑิตที่ต้องออกไปทำงานในชนบท ให้มีทัศนคติที่ดีและมองเห็นคุณค่าการทำประโยชน์สูงสุดให้แก่ชุมชนและสังคมในชนบท
โดยแพทย์ที่ได้รับรางวัลนี้จะได้รับเกียรติ์ปาฐกถาอุดม โปษะกฤษณะ เพื่อเป็นเกียรติและอนุสรณ์แด่ ศ.เกียรติคุณ นพ.อุดม อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและ รมว.สาธารณสุข และยังได้รับโล่เกียรติยศและเงินรางวัลจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 1 แสนบาท บริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) 5 หมื่นบาท และ บริษัทเทอรูโม จำกัด 2 หมื่นบาท
รศ.นพ.อนุพันธ์ ตันติวงศ์ ประธานคณะกรรมการคัดเลือกแพทย์ดีเด่นในชนบท ประจำปี 2553 กล่าวว่าได้พิจารณาผลงานทั้งด้านการบริการการแพทย์และสาธารณสุข มนุษย์สัมพันธ์ ความเสียสละ ความสนใจใฝ่รู้ ความเป็นผู้นำที่ดีและการริเริ่มสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ซึ่งต้องมีระยะเวลาในการทำงานทางการแพทย์ในชนบทต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยในปี 2553 นี้ ได้มีการเสนอรายชื่อ 17 คน
“นพ.ภักดีเป็นแพทย์ผู้เสียสละ มีอุดมการณ์มุ่งมั่น ทุ่มเท อุตสาหะ ดูแลเอาใจใส่ประชาชนในพื้นที่ชนบทห่างไกลและกันดาร และยังเป็นผู้อาสาทำงานในพื้นที่สีชมพูมีการสู้รบอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 20 ปี ถือเป็นแบบอย่างของแพทย์ทั่วไป ที่สามารถให้การดูแลรักษาผู้ป่วยแบบแพทย์เฉพาะทาง อำนวยประโยชน์บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนได้อย่างครอบคลุมภายใต้ทรัพยากรที่จำกัด นอกจากนี้ยังเป็นผู้ที่เข้าถึงชีวิตและจิตใจชาวบ้านและผู้ร่วมงาน จึงเป็นที่รักและเกิดเป็นพลังในการพัฒนางานด้านสุขภาพของชุมชนอย่างยั่งยืน” รศ.นพ.อนุพันธ์ กล่าว
ด้าน นพ.ภักดี กล่าวว่า รางวัลที่ได้รับ ทำให้มีแรงบันดาลใจในการทำงานมากขึ้น รู้สึกรีบอยากกลับไปทำงานต่อ อย่างไรก็ตามเห็นว่ารางวัลนี้น่าที่จะมอบให้กับแพทย์รุ่นน้องเพื่อที่จะได้มีกำลังใจในการทำงานในชนบทต่อเนื่อง เนื่องจากตนทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลด่านซ้ายมานาน 24 ปี อีกไม่กี่ปีจะเกษียณ ทั้งนี้รู้สึกว่าตัวเองเป็นผลผลิตกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องทำงานตอบแทนกระทรวง นอกจากนี้ขอขอบคุณคุณแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่สอนให้ได้เป็นแพทย์ ขอบคุณทีมงานที่ช่วยกันทำงาน รวมถึงชาวบ้านด่านซ้ายที่ให้ตนได้ทำงานด้วย หลายครั้งยอมรับว่าให้บริการผิดพลาดโดยไม่ตั้งใจ ชาวบ้านก็ไม่ว่าอะไรและยังศรัทธาให้รักษาต่อ โดยต้องอธิบายพูดคุยให้เข้าใจ ทำให้ทำงานได้ต่อเนื่องถึงวันนี้ นอกจากนี้ขอบคุณครอบครัว เพราะตนเป็นคน จ.นนทบุรี ครอบครัวยอมให้มาเป็นหมอที่ด่านซ้าย
“ตอนเรียนจบใหม่ ไม่ได้ตั้งใจไปอยู่โรงพยาบาลภูเรือ จ.เลย เหมือนคนอื่นๆ คือไม่อยากอยู่พื้นที่ห่างไกลและไม่ชอบ แต่ที่มาอยู่เพราะจับฉลากใช้ทุนมา แต่หลังจากมาเห็นชาวบ้านและทำงานในพื้นที่ก็รู้สึกชอบ จึงได้ทำงานที่นี่มาอย่างต่อเนื่อง”
หมอชนบทดีเด่นปีนี้ ยังกล่าวว่า แพทย์รุ่นใหม่ๆที่จบมาส่วนใหญ่มาจากครอบครัวชนชั้นกลางและมีโอกาสมากกว่า แต่ก็อยากให้ลองมาทำงานในพื้นที่ชนบทเพียงแค่ 2-3 ปี ในช่วงใช้ทุนก็พอ เพื่อที่จะได้เรียนรู้ความเหลื่อมล้ำ ได้รู้จักความรู้สึกของคนที่ขาดโอกาสว่าเขารู้สึกอย่างไร เพื่อที่จะได้กลับมาทำงานและเกิดความเข้าใจกันมากขึ้น
นอกจากนี้ นพ.ภักดี ยังได้ตอบข้อซักถามกรณีว่าที่รัฐบาลชุดใหม่จะมีการดึงนโยบาย 30 บาทกลับมาใช้ โดยให้ประชาชนร่วมจ่ายในการรักษาพยาบาลว่า คนไทยโชคดีมากที่มีระบบรักษาพยาบาลให้กับประชาชน ไม่ว่าจะใช้ชื่ออะไรก็ตาม เพราะเป็นระบบที่ทำให้คนไม่ต้องล้มละลายจากการรักษาพยาบาล แม้ว่าจะเป็นคนที่มีเงินมากก็ตาม แต่ขณะนี้เราคงต้องมาทบทวนว่าในระบบรักษานี้ ใครบ้างที่ควรมีส่วนร่วมจ่าย เพราะตอนนี้ต้นทุนการรักษาพยาบาลพุ่งขึ้นจากปี 2546 กว่าเท่าตัว และประเทศไทยก็ไม่ได้ขุดทองได้เอง ทั้งนี้เชื่อว่าคนไทยทุกคนเองคงยินดีที่จะร่วมจ่ายเพื่อให้ระบบรักษาพยาบาลเดินไปได้ด้วยดี .
ที่มาภาพ : http://www.news.kku.ac.th/kkunews/content/view/8795/1/