ปลัดยธ.ชี้เอาผิดคนทุจริตไม่ได้ เหตุกม.ไทยไม่เข็มแข็ง-กลไกไม่เต็มใจ
กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ชี้กระบวนการยุติธรรมยังจัดการพวกคอร์รัปชันไม่ได้เหตุกฎหมายไม่เข้มแข็ง ระบบกลไกไม่เต็มใจ เมื่อดำเนินคดีไม่มีเหยื่อที่ชัดเจน เพราะต่างฝ่ายต่างยินยอม เผยวิธีแก้ประชาชนต้องแสดงเจตจำนงลุกขึ้นมาผลักดันด้วย
ในการจัดอันดับจากองค์กรโปร่งใสระดับนานาชาติประเทศไทยมีคะแนนเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นเลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ และทุกครั้งที่มีคดีเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันที่มีผู้เกี่ยวข้องในระดับนักการเมือง หรือข้าราชการระดับสูง คดีเหล่านี้บางครั้งนอกจากจะเงียบหายไปหรือบางทีคนที่ถูกพิพากษาว่ากระทำผิดกลับยังไม่ได้รับการลงโทษ
สำนักข่าวอิศราสัมภาษณ์ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ถึงประเด็นดังกล่าวว่า เพราะเหตุใดกระบวนการยุติธรรมจึงไม่สามารถจัดการพวกคอร์รัปชั่นได้ ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่ตัวกฎหมายหรือผู้ใช้กฎหมาย
ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ กล่าวว่า ความจริงแล้วระบบกระบวนการยุติธรรมนั้นประกอบด้วยหลายหน่วยงานหรืออาจกล่าวได้ว่า ทั้งในส่วนของตัวกฎหมายเองก็มีปัญหา ตัวองค์กรที่ใช้กฎหมาย หรือแม้แต่พยานหลักฐานจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ความกล้าหาญในการที่จะดำเนินคดี ทั้งนี้ความยากของการจัดการปัญหาคอร์รัปชันในระบบกระบวนการยุติธรรม คือ พอดำเนินคดีไม่มีเหยื่อที่ชัดเจนเนื่องจากคนให้ก็เต็มใจให้ส่วนคนรับก็พอใจที่จะรับ ฉะนั้นจึงเป็นการยากที่เราจะมองเห็นอีกทั้งพอถึงขั้นดำเนินคดีคนที่รู้เห็นบางทีไม่กล้าที่จะออกมาให้ข้อมูล เนื่องจากพยานเหล่านั้นไม่ได้รับการคุ้มครองที่ดี
“ที่สำคัญคือคดีทุจริตส่วนใหญ่เป็นคนมีอำนาจ กลไกของระบบเราก็ไม่เต็มที่ไม่เต็มใจ ตัวกฎหมายไม่เข้มแข็ง ดังนั้นหากจะต้องแก้ไขกระบวนการยุติธรรมให้สามารถจัดการกลุ่มคนเหล่านี้ได้ เราไม่อาจจะแก้แค่เรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น”
ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงการปฏิรูปในระบบนี้จะต้องเกิดขึ้นอย่างแรกเลยคือเราต้องแก้ที่ตัวรัฐบาลให้เขาใช้อำนาจอย่างโปร่งใสมากขึ้น โดยจะต้องให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลภาครัฐได้ง่าย สามารถที่จะตรวจสอบได้ตั้งแต่ต้นว่าเกิดปัญหาได้อย่างไร แล้วจะต้องแก้ไขอย่างไร เมื่อประชาชนทราบข้อมูลก็ต้องกล้าที่จะแสดงออกกล้าที่จะออกมาบอกข้อมูลที่พบเห็น ที่สำคัญจะต้องมีกฎหมายคุ้มครองบุคคลที่เปิดเผยหรือให้ข้อมูลในเรื่องทุจริตให้เขาได้รับความปลอดภัย ปรับปรุงระบบกลไกการทำงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพราะหากระบบกลไกเป็นในรูปแบบกรรมการที่ผ่านมาคือทำงานล่าช้ามาก ดังนั้นระบบเดิมอาจไม่มีประสิทธิภาพต้องปรับปรุง ดังนั้นปัญหานี้จะต้องแก้หลายอย่างพร้อมกัน
“สำคัญเจตจำนงจะเกิดไม่ได้เลยถ้าประชาชนไม่เห็นด้วยหรือไม่ต้องการให้เกิดขึ้น ดังนั้นขณะนี้เป็นโอกาสอันดีที่เราจะผลักดันให้เกิดขึ้น และต้องแก้ไขอย่างเป็นระบบ ไม่มองเฉพาะเรื่องกระบวนการยุติธรรมและไม่มองว่าเป็นเรื่องเฉพาะนักกฎหมาย ดังนั้นเมื่อประชาชนเกิดการตื่นตัวหลายฝ่ายก็ต้องมาร่วมกันคิดร่วมกันทำและสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของทุกคน”